จับตา ต่อรอง คมเขี้ยว ประชาธิปัตย์ เกษตร พาณิชย์

หากดูจากคะแนนตลอด 2 วันแห่งการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็พอจะชี้ถึงแนวโน้มและทิศทางของรัฐบาลในอนาคตได้ค่อนข้างชัดมากยิ่งขึ้น

ชัดว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แน่นอน

เพราะจากพื้นฐานที่พรรคพลังประชารัฐมี 115 ผนวกเข้ากับ 11 ส.ส.จาก 11 พรรคเล็กอันได้มาจาก “อภินิหารของกฎหมาย” เท่ากับ 126

เมื่อรวมกับ 250 ส.ว.ก็เท่ากับ 376

Advertisement

นั่นก็หมายความว่า บทสรุปที่ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ DESIGN มาเพื่อพวกเรา” กำลังจะปรากฏเป็นจริง

เท่ากับเป็นการล็อกตัว “นายกรัฐมนตรี” เอาไว้แล้ว

กลยุทธ์ของพรรคการเมืองอย่างน้อยที่สุดก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะต้องดึงเวลาการเจรจาต่อรองการเข้าร่วมให้ยาวนานที่สุด

Advertisement

เพราะยิ่งไปเร็ว อำนาจในการต่อรองยิ่งน้อยลง

หากพิจารณาแต่ละพรรคการเมืองอย่างเปรียบเทียบ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลังท้องถิ่นไท พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย

อยู่ในสภาพเหมือน “หมูในอวย”

พรรคชาติพัฒนา พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พยายาม “ยื้อ” ซื้อเวลา แต่ในที่สุดก็พร้อมเดินเข้าไป

มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่ยังมากด้วยกระบวนท่า

เห็นได้จากพรรคประชาธิปัตย์เอากระบวนการเลือกประธานสภา รองประธานสภา กับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีมาอยู่ด้วยกัน

อานิสงส์นี้ตกให้กับพรรคภูมิใจไทยด้วย

เห็นได้จาก คสช.และพรรคพลังประชารัฐยอมคายกระทรวงคมนาคม ยอมคายกระทรวงพาณิชย์ และอาจยอมคายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทุกอย่างต้องปิดจ๊อบก่อนเลือก “นายกรัฐมนตรี”

ที่มีข่าว “หลุด” จากภายในพรรคพลังประชารัฐว่า อาจต้องยื้อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จนถึงที่สุดเนื่องจากนี่คือกล่องดวงใจของ “กลุ่มสามมิตร”

ความหมายก็คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ยังไม่ยอม

การยอมถอยของ นายสุชาติ ตันเจริญ ให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ เพราะไพ่ที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอมาคือ นายชวน หลีกภัย

แต่การสูญเสียกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นี่สาหัส

จากการต่อรองอย่างต่อเนื่องพรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่จิ้มไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากแต่ยังจะพ่วงเอากระทรวงพาณิชย์

บนพื้นฐานการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร

มีความเป็นไปได้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ กระทรวงพาณิชย์ อาจเป็นปราการด่านสุดท้ายระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์

คำถามอยู่ที่ว่าฝ่ายใดจะ “เขี้ยว” มากกว่ากัน

หากไม่ได้คำตอบอย่างแน่ชัดพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่แสดงท่าทีอะไรมากกว่านี้ เพราะรู้อยู่ว่าหากไปยกมือให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อใด นั่นหมายถึงอำนาจต่อรองหมดไปเมื่อนั้น

เพราะท่าทีของพรรคพลังประชารัฐไม่อ้อมค้อม

นั่นก็คือ คำตอบสุดท้ายไม่เพียงแต่จะอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น หากยังอยู่ที่การรับรองของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อีกด้วย

หากไปไกลขนาดนั้นพรรคประชาธิปัตย์จะมี “อำนาจ” อะไรในมือ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image