รายงาน หน้า 2 : นักวิชาการส่อง ปม‘อนค.’กู้‘ธนาธร’

หมายเหตุ นักวิชาการ-อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ความเห็นกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ให้พรรค อนค.กู้เงินจำนวน 191 ล้านบาท ที่คดีอยู่ในชั้นการไต่สวนของ กกต.ว่าจะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ต้องดูกฎหมายว่าเปิดช่องทางให้พรรคการเมืองกู้หรือเปล่า ถ้าไม่เปิด แล้วการกู้เงินเป็นเรื่องที่ผิดถึงขั้นต้องยุบพรรคหรือไม่ สมมุติว่าผิดจริง ส่วนตัวก็ยังเห็นว่าไม่ถึงขั้นยุบพรรค กรณีมาตรา 87 ไม่มีคำว่าเงินกู้เลย จึงคิดว่าไม่เกี่ยว ดูแล้วไม่เข้า เป็นเรื่องของเงินที่ใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เป็นเรื่องของการนำเงินไปใช้จ่ายในกิจกรรมทางการเมือง เช่น หาเสียง และการใช้จ่ายภายในพรรค

Advertisement

การยุบพรรคเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ คิดว่าการกู้เงิน ไม่น่าจะถึงขั้นให้พรรคการเมืองถูกยุบได้ เพราะดูเจตนารมณ์ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับนี้ ไม่ต้องการให้มีคนเข้าไปครอบงำพรรคการเมือง เพราะฉะนั้นส่วนตัวมองว่าการกู้ยืมเงินยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้บุคคลเป็นผู้ครอบงำพรรคการเมืองได้ ต้องไม่ลืมว่าพรรคการเมืองไม่ได้ดำเนินไปด้วยเงินของคนคนเดียว เราควรดูเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งง่ายมาก แค่ไม่ต้องการให้ใครเป็นผู้ครอบงำพรรคการเมือง

การนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือทำลายล้างกัน คิดว่าจะเป็นเรื่องที่ไม่จบไม่สิ้น เหมือนกรณีเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ สุดท้ายผลทางกฎหมายจะตามมาค่อนข้างเยอะ จะย้อนไปถึงการตัดสินคดีของนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ที่ขัดขืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ ถ้าหากวันนี้ บก.ลายจุด เอาคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญไปยืนยันกับศาลฎีกา ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ แล้วใครจะรับผิดชอบ

ศรีสุวรรณ จรรยา
เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

Advertisement

ผมเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. ขอให้ตรวจสัญญากู้ยืมเงินระหว่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191 ล้านบาท เนื่องจากก่อนหน้านี้นายธนาธรเคยกล่าวบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยว่าให้พรรคอนาคตใหม่ยืมเงิน 110 ล้านบาท ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า พรรคได้ทำสัญญากู้ยืมเงินกับนายธนาธร จำนวน 250 ล้านบาท

ต่อมาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยบัญชีการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินของนายธนาธร ปรากฏว่านายธนาธรแจ้งว่าได้ให้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงิน 2 ครั้ง โดยครั้งแรกวันที่ 2 มกราคม 2562 จำนวน 161.2 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และครั้งที่ 2 จำนวน 30 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี โดยสัญญาเงินกู้ทั้ง 2 ฉบับมีนายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรคอนาคตใหม่ เป็นผู้รับสัญญา และมีนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคเป็นพยาน

เอกสารกู้ยืมเงินจึงขัดแย้งกับคำบรรยายของนายธนาธร และคำให้สัมภาษณ์ของ น.ส.พรรณิการ์ เพราะนายธนาธรให้พรรคอนาคตใหม่กู้เพียง 191 ล้านบาท ผมจึงต้องนำหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมให้ กกต.พิจารณาก่อนส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 ไม่มีข้อความใดระบุให้พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้ รวมทั้งการที่นายธนาธร ระบุในสัญญาเงินกู้ให้พรรคอนาคตใหม่ชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยแบ่งเป็น 3 งวด ปีแรก 80 ล้านบาท ปีที่สอง 40 ล้านบาท และปีที่สาม 41.2 ล้านบาทนั้น อาจขัดกับมาตรา 87 ที่กำหนดให้พรรคนำเงิน และทรัพย์สินของพรรคไปใช้เกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคและสมาชิก หรือค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมืองเท่านั้นไม่สามารถไปชำระเงินกู้ได้ และเมื่อครบ 3 ปี พรรคไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ก็เข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัวต้องล้มละลายและสิ้นสภาพพรรคการเมือง

ดังนั้นหาก กกต.พบว่าการกระทำของนายธนาธร และพรรคอนาคตใหม่ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ขอให้เอาผิดกับนายธนาธร และกรรมการบริหารพรรค ตามมาตรา 66 วรรคสองประกอบมาตรา 125 มีโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค 5 ปี และให้เงินทรัพย์สินส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท ตกเป็นของกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง

อมร วาณิชวิวัฒน์
อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

ตามเจตนารมณ์ของการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองคือ เราไม่ต้องการให้นายทุนครอบงำพรรคการเมือง ดังนั้นต้องดูว่าการที่พรรคอนาคตใหม่กู้เงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จะถูกนำมาลงในบัญชี หรือไม่ลงบัญชีนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ที่สำคัญจะต้องดูว่าหัวหน้าพรรค ได้ใช้อำนาจครอบงำกรรมการนั้นทำไม่ได้

ขอยกตัวอย่างกรณีสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่มีเสียงเดียวก็สามารถยับยั้งมติได้ เพราะถ้าใช้เงินมากก็มีอำนาจมาก เพราะมีตัวอย่างที่อเมริกาที่สามารถล้มมติได้ ดังนั้นเช่นเดียวกับกรณีนี้ว่าการที่หัวหน้าพรรค ให้พรรคยืมเงินนั้น จะถือเป็นบุญคุณหรือไม่ ไม่อาจทราบได้ จึงเป็นหน้าที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะต้องวินิจฉัยเรื่องนี้ให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

ส่วนที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าถ้ากฎหมายไม่เขียนไว้แล้วเป็นผลร้ายก็ต้องยกประโยชน์ให้จำเลยนั้น เป็นมุมมองทางกฎหมาย ผู้ที่จะวินิจฉัยเรื่องนี้คือ กกต. ว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดหรือไม่ ถ้าเข้าข่ายความผิด มีโทษอย่างไร ก็ต้องว่าไปตามโทษที่กำหนด กกต.ก็จะต้องส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน แต่ถ้าไม่เข้าข่ายก็ไม่ถือว่าเป็นความผิด

ทั้งนี้ กรธ.กำลังจะเผยแพร่เจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญทุกมาตรา เพราะเจตนารมณ์ได้ทำไปพร้อมกับการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะมีบันทึกการประชุม เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าการร่างกฎหมายในแต่ละมาตรานั้น กรธ.มีเจตนาอย่างไร ขณะนี้ทำเสร็จทั้งหมดแล้ว แต่อยู่ระหว่างแก้ไขข้อบกพร่องให้เรียบร้อย ก่อนจะเผยแพร่

สุรศักดิ์ จันทา
คณบดีวิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มรภ.ศรีสะเกษ

ไม่แน่ใจว่ารายละเอียดในการยืมเงินกู้ของพรรค แต่เจตนารมณ์ของการยุบพรรคไม่ควรนำเรื่องความไม่ชอบ มาหาเหตุยุบ ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกำจัด ส่วนตัวมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ดูแล้วไม่งาม ถามว่าถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ ก็ต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่ากระบวนการหรือวิธีการยืมเงินของพรรคเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

กรณีที่กฎหมายไม่ระบุเรื่องการกู้เงิน ก็ต้องย้อนกลับไปที่เดิมว่าเขามีเจตนาอะไร หากเป็นการหาเหตุ เรื่องก็คงไม่จบ ถ้ามองในมุมปกติธรรมดา พรรคจะมีงบประมาณในการทำกิจกรรมได้อย่างไรหากไม่หาแหล่งที่มาของเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินบริจาคหรือเงินกู้ต่างๆ การหาเงินเป็นเรื่องปกติขององค์กรต่างๆ

ประเด็นคือ สำแดงกระบวนการของการกู้ผิดถูกตรงไหนเท่านั้นเอง ทั้งนี้ ต้องไปดูว่าการกู้อยู่ในกรอบของกฎหมายหรือไม่ ดอกเบี้ยอะไรต่างๆ ที่คืนกลับไปนั้นเป็นอย่างไร วิธีการชดใช้เป็นอย่างไร

พัฒนะ เรือนใจดี
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ประเด็นอยู่ที่ว่ากฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าพรรคการเมืองจะไปกู้เงินจากบุคคลธรรมดาได้หรือไม่ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมื่อไปดูในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 87 จะพบว่าสิ่งที่เรียกว่ารายรับไม่รวมเงินกู้ ดังนั้น หากรายรับรวมเงินกู้ก็พอจะอนุโลมได้ว่าการกู้เงินถือเป็นรายรับ เหมือนกับกฎหมายพรรคการเมืองปี 2550 แต่ฉบับปัจจุบันไม่ได้เขียนไว้ จึงต้องตีความว่าการไม่เขียนนั้นสามารถทำได้หรือไม่

ก็ต้องดูว่ากฎหมายพรรคการเมืองตั้งตามกฎหมายอะไร คำตอบคือต้องจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายพรรคการเมือง เมื่อเป็นกฎหมายแบบนี้ถือว่าพรรคการเมืองเป็นองค์กรมหาชน ดังนั้น องค์กรมหาชนจะกู้เงินในลักษณะดังกล่าวจำเป็นต้องมีการประชุมพรรค มีมติยินยอม จึงจะสามารถทำได้ ในส่วนนี้ต้องเป็นส่วนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าไปตรวจสอบมติที่ประชุม หรือเรื่องการตกลงกันในที่ประชุมพรรค เช่น กู้จำนวนเท่าไหร่ กู้ไปเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เมื่อมีมติตรงนี้ถึงจะดำเนินการกู้ได้

ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ พูดว่า เมื่อไม่มีกฎหมายก็ย่อมทำได้ แบบนี้คงไม่ถูกต้องนัก เพราะเราต้องมองว่าเป็นองค์กรทางการเมือง เป็นนิติบุคคลในกฎหมายมหาชน ดังนั้น จึงต้องอาศัยว่าตั้งตามกฎหมายอะไร

ที่ผ่านมา พรรคการเมืองมีการกู้เงินมาอย่างเนืองๆ ตั้งแต่กฎหมายพรรคการเมืองปี 2517 ปี 2524 ปี 2541 กระทั่งปี 2550 ซึ่งการกู้เงินเป็นเรื่องปกติ และไม่มีประเด็น อีกทั้งกฎหมายพรรคการเมืองไม่ได้ห้าม เงินกู้ก็ถือเป็นรายรับ ดังนั้น จึงเป็นการอนุมานเอาเองของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กับนายปิยบุตรว่าสามารถทำได้ เพราะในอดีตก็กู้กันมาเยอะแล้ว เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม อีกทั้งยังไม่มีการตรวจสอบ แม้กระทั่งเรื่องการบริจาคก็เพิ่งมาเข้มงวดกันภายหลัง

ถ้าหลุดจากตรงนี้ไปได้ว่าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ ก็จบหมด กกต.ตอบไปว่าเขาประชุมกันแล้วเห็นว่าในมติที่ประชุมของพรรคการเมืองดำเนินการถูกต้อง มีการประชุมกันถูกต้อง มีหนังสือสัญญากู้ยืมเงินถูกต้อง รวมทั้งไม่ได้มีกฎหมายห้ามไว้ กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่าทำได้
ก็สามารถทำได้

เพียงแต่ว่าถ้า กกต.บอกว่าการกู้เงินไม่สามารถทำได้ ก็จำเป็นต้องหาเหตุผลทางกฎหมายมาประกอบ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่หน้าที่ของพรรคอนาคตใหม่ในการหาข้อกฎหมายมาสนับสนุนว่าทำได้หรือไม่ได้ นั่นเป็นหน้าที่ของ กกต.

หาก กกต.ระบุว่าการกู้เงินไม่สามารถทำได้ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะมาตราอะไร แล้วต้องไปดูต่อว่ามาตรานั้นเกี่ยวข้องกับการยุบพรรคหรือไม่ ซึ่งพิจารณาใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 แล้วพบว่า การที่พรรคการเมืองไปกู้เงินไม่มีโทษถึงขั้นยุบพรรค ซึ่งโทษของการยุบพรรคคือการยอมให้บุคคลอื่นมาครอบงำพรรคการเมือง กรณีนี้ไม่ได้แสดงออกว่ามีการครอบงำอย่างไร

ยิ่งเมื่อเราพิจารณาคนปล่อยกู้คือนายธนาธร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค ฉะนั้น หัวหน้าพรรคมีหน้าที่บริหารพรรคการเมืองอยู่แล้ว และความหมายของการครอบงำหมายถึงคนอื่นมาครอบงำ ดังนั้น กรณีนี้ เมื่อหัวหน้าพรรคให้พรรคการเมืองกู้เงินจึงไม่ใช่เรื่องที่จะโดนยุบพรรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image