พรึ่บ ม.อ.ปัตตานี! เมินประกาศห้ามชุมนุม ถามกลับอธิการ ยืนข้างปชต.แบบไหน ย้อนหลังคาใจปี 57 หนุนใช้เสรีภาพ

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม เวลา 16.30 น. ที่​อาคารกิจการนักศึกษา​ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักศึกษา​ มอ.ปัตตานี​ โดยสโมสรนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และคณะอื่นๆ​ ได้รวมตัวจัดกิจกรรม​แสดงออกทางการเมือง​ ภายใต้กิจกรรรม ‘หมุดหมายประชาธิปไตย ร่วมเเฟลชม็อบไล่เผด็จการไปด้วยกัน’​ โดยผู้ร่วมเข้าชุมนุมอยู่ประมาณ​ 500​ รายท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ปัตตานี คอยคุ้มเข้มรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด แม้ว่าก่อนหน้านี้ ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ออกประกาศมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง การใช้พื้นที่ภายใน 5 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใจความว่า ตามที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางมหาวิทยาลัยจึงประกาศควบคุมการใช้พื้นที่ภายใน 5 วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยแล้ว​ แต่นักศึกษายืนยันเดินหน้าจัดกิจกรรม​ต่อไป ไม่ยอมรับคำประกาศของอธิการ​บดี​ เพราะถือว่าเป็นการแสดงออกทางการเมือง​ทุกคนมีสิทธิ์​ มีเสียงเท่าเทียมกัน ทุกคนทำตามหน้าที่พลเมือง​ ถ้ายังห้ามนศ.​และปิดกั้น​ ทุกคนจะล่ารายชื่อ​ ขอพิจารณา​ไล่​อธิการบดี​ ออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ยังซ้ำเติม การบริหารของคณะบริหาร ไม่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ และ ประเด็นสุดท้าย ให้รัฐทบทวนเริ่มใหม่โครงการอุตสาหกรรมจะนะ เพราะจะเป็นชนวนความขัดแย้งรอบใหม่

ในเนื้อหา​การแสดงออกครั้งนี้​ มีการอภิปรายโจมตีรัฐบาล ให้หยุดคุกคามประชาชน เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา และขอให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่​ โดยตัวแทนนักศึกษา​จากหลายๆกลุ่ม​ได้ผลัดกันอภิปรายแสดงความเห็น​ อย่างเต็มที่​ สลับกับร้องเพลง​ อ่านบทกวี​ ยืนยันเป็นการแสดงออกทางเสรีภาพ​ ประชาธิปไตย​ ไม่ได้มาภายใต้การกำกับของฝ่ายใด บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก​ มีการโห่ร้อง​ ขับไล่​นายกประยุทธ์​ จันทร์​โอชา​ให้ลาออก​คืนอำนาจให้ประชาชน

การชุมนุมดังกล่าว เกิดขึ้นหลังกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษา แห่งประเทศไทย (สนท.) และกลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้จัดกิจกรรมชุมนุม เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา​ และสอดรับกับกลุ่มอื่นๆ​ เช่น​ชลบุรี​ เชียงใหม่​ ด้วยข้อเรียกร้อง 3 ข้อเช่นกันคือ หยุดคุกคามคนเห็นต่าง ยุบสภา และ แก้รัฐธรรมนูญ

Advertisement

นายฟาห์เรนน์ นิยมเดชา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ม.อ.ปัตตานี แกนนำนักศึกษาในการชุมนุมครั้งนี้บอกถึง 3 ประเด็นหลักของการแสดงพลังคือ ขอไล่อธิการบดีออกจากตำแหน่ง ปัญหาการเรียน
ออนไลน์ของนักศึกษา และนับหนึ่งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

“อยากให้คนรุ่นใหม่ในม.อ.ปัตตานีออกมาสนับสนุนประชาธิปไตย แต่เมื่อเห็นประกาศของอธิการเมื่อคืนทำให้เปลี่ยนความคิด เพราะอธิการไม่เคารพสิทธิเสรีภาพในความคิดเห็น ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล สำคัญคือ ละเมิดหลักวิชาการในการแสดงออกและวิพากษ์อย่างเสรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ควรมีในรั้วมหาวิทยาลัย

ดังนั้นประเด็นหลักที่แสดงของนักศึกษาม.อ.ปัตตานีจึงเป็นการไล่อธิการบดีออกจากตำแหน่งโดยทันที หรืออธิการบดีต้องออกมาตอบว่าที่ทำไปไม่มีเจตนาที่จะบดบังความคิดนักศึกษา หากเป็นอื่นเตรียมจะยกขบวนนักศึกษาไปไล่ถึงวิทยาเขตหาดใหญ่

Advertisement

“ประเด็นที่ 2 คือปัญหาการเรียนออนไลน์ไม่มีคุณภาพ นักศึกษามีอุปกรณ์ไม่พร้อม อินเตอร์เน็ต และพื้นที่ไม่พร้อม ซึ่งอธิการรับรู้และหาทางแก้ไขบ้างหรือไม่ แต่เวลาประกาศห้ามนักศึกษาชุมนุมก็ประกาศเลย อธิการยืนอยู่ข้างประชาธิปไตยแบบไหน ทั้งที่ปี 2557 มหาวิทยาลัยประกาศสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพโดยไม่คิดเป็นการขาดเรียนหรือขาดงาน

แต่การประชุมวันนี้กลับห้ามว่าอยู่ในสถานการณ์โควิด ไปดูที่โรงอาหารลานอิฐนั่งกันเป็นพันคน นักศึกษาจะมาแสดงจุดยืนสัก 200-300 คน บอกจะติดโควิด แต่ไม่บอกถึงคนมาจากต่างประเทศที่เป็นแขกวีไอพีบ้างที่นำโควิดเข้ามาในไทย” นายฟาห์เรนน์กล่าว

นายฟาห์เรนน์กล่าว อีกว่า ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ขอให้ยกเลิกมติครม.การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ให้รัฐบาลนับหนึ่งใหม่ กับการศึกษาโครงการ ผลกระทบ ผลได้ผลเสียต่อชาวบ้านในพื้นที่ ให้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรีโดยรัฐไม่เลือกสนับสนุนผู้เห็นด้วยและกีดกันผู้เห็นต่าง

“หากรัฐจะเปลี่ยนแปลงจะนะ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส เปลี่ยนไปเช่นกัน คนที่นี่ต้องตัดสิน รัฐมีตัวอย่างจากมาบตาพุดมาแล้วควรนำมาเทียบดูว่าคุ้มหรือไม่ ขอเสนอให้ศอ.บต.ว่าหากจะเดินต่อขอให้นับหนึ่งใหม่ในทุกด้าน ถ้าคนส่วนใหญ่เห็นด้วยเราเคารพ ถ้าไม่เห็นด้วย รัฐอย่างดันทุรังทำ เป็นการเพิ่มวาระความขัดแย้งชิ้นใหม่ในชายแดนใต้เราจะเจอสันติภาพได้อย่างไร ศอ.บต.มีวาระสำคัญคือผลักดันสันติภาพในพื้นที่ ผลักดันสันติสุขให้ประชาชน แต่จะนะกำลังเป็นหายนะชิ้นใหม่ที่ยัดเยียดให้คนในพื้นที่” นายฟาห์เรนน์กล่าว ระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image