อดีตคณบดีนิติศาสตร์ ชี้ ‘ทหาร’ กลายเป็นองค์ประกอบลัทธิชาตินิยม ใครไม่ชอบทหาร ถูกมอง ‘ชังชาติ’

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เวลา 13.00 น. ที่มติชนอคาเดมี เขตจตุจักร กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน ร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดเสวนา ‘เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน ว่าด้วยชาติและลัทธิชาตินิยม’ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก (อ่านข่าว เสวนา ‘เป็นประชารัฐ’  ชี้เด็กสู้เพื่ออนาคต ผุดสำนึกใหม่เป็น ‘พลเมืองโลก’)

ในตอนหนึ่ง นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตนเกิดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากเมื่อ 80 ปีก่อนซึ่งเหมือนดินแดนลับแล การเดินทางยากลำบาก ตั้งแต่จำความได้ถูกปลูกฝังว่าชาติไทยยิ่งใหญ่ มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ชาติที่รู้จักก่อนอื่นคือชาติในเพลงชาติ ต้องรักชาติโดยไม่เคยตั้งคำถามใดๆ มีการแบ่งแยกว่าไทยแท้กับไม่ใช่ไทยแท้ ดูจากนามสกุลว่าเป็นไทย หรือนามสกุลที่เป็นแซ่

อย่างไรก็ตาม การค้นหาความหมายของคำว่าชาติในทางวิชาการเกิดขึ้นตอนเรียนกฎหมาย คำว่า ชาติ รัฐ และประเทศปรากฏในรัฐธรรมนูญทุกฉบับอย่างมากมาย โดยเฉพาะส่วนที่กล่าวถึงหน้าที่คนไทยว่าต้องพิทักษ์ชาติ แต่ไม่มีการให้นิยามกำกับ อย่างไรก็ตาม มีการอธิบายความหมายไว้ในตำราของปรมาจารย์รุ่นเก่า เช่น ผลงานของ ศ.หยุด แสงอุทัย สำหรับความหมายในพจนานุกรม หมายถึงประเทศ, ประชาชนของประเทศ และกลุ่มคนที่มีความรู้สึกเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ความเป็นมาและวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน

“ตั้งแต่จำความได้ถูกปลูกฝังว่าเราต้องรักชาติ ทุกวันต้องร้องเพลงชาติหน้าเสาธง ต้องยืนตรงเลี่ยงไม่ได้ มีเพลงปลุกใจอย่างเพลงต้นตระกูลไทย ต่อมาผมพยายามศึกษารากเหง้า ชาติกำเนิดว่าตัวเองมาจากไหนจึงพบว่าน่าจะเป็นมอญ ต้นตระกูลอยู่ทางอำเภอสรรบุรีจังหวัดชัยนาทและจังหวัดอุทัยธานี” นายพนัสกล่าว

Advertisement

นายพนัสกล่าวว่า กรณีวาทกรรม ‘ชังชาติ’ นัยยะของผู้ที่กล่าวหาคนอื่นคือ คุณอยู่ไม่เป็น ไม่อยากอยู่ที่นี่ก็ไปอยู่ที่อื่น ทางแก้คือต้องให้คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของชาติยอมเปิดพื้นที่ ซึ่งตนมองว่า ‘ประชาธิปไตยเท่านั้น’ จึงจะทำให้เกิดพื้นที่ตรงกลาง

“ปรากฏการณ์ตอนนี้คือการที่บรรดาเยาวชนปลดแอกพยายามของพื้นที่ที่เห็นต่างได้ ลัทธิชาตินิยมคือปัญหา คุณคิดอย่าง ผมคิดอย่าง คนชี้หน้ากันว่าชังชาติ พอไม่ชอบทหารบอกว่าชังชาติ ทหารกลายเป็นองค์ประกอบของลัทธิชาตินิยม”  

สำหรับประเด็นสื่อมวลชน นายพนัสกล่าวว่า ยุคนี้สื่อไม่มีเสรีภาพที่แท้จริงอย่างที่ควรมี ไม่สามารถรายงานได้อย่างอิสระ ทุกข้างมีกฎในการเซ็นเซอร์ตัวเอง ที่แย่กว่านั้นคือ คนที่คิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศก็พยายามเข้าไปเป็นเจ้าของสื่อ ในอดีต สื่อมีการดิ้นรนต่อสู้มากกว่ายุคนี้ ทั้งที่ไม่ได้เรียนวารสารศาสตร์ หลายคนถึงกับต้องสละชีวิต

Advertisement

“สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ การศึกษาก็เช่นกัน องค์กรครูแทบไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีแค่ความเป็นข้าราชการที่บีบรัด ถูกผู้บังคับบัญชาข่มขู่ ระบบการศึกษาสร้างขึ้นมาเพื่อกล่อมให้คนไทยตั้งแต่เด็กไปสู่อะไรกันแน่ ถ้าต้องการความเปลี่ยนแปลง ต้องมาทบทวน ว่าทำอย่างไรจะให้สื่อเป็นอิสระ มีเสรีภาพ อาจต้องใช้คำว่าปฏิวัติสื่อและการศึกษา” นายพนัสกล่าว และว่า ในเรื่องความเท่าเทียมนั้น ตนเชื่อว่าไปถึงแน่ แต่ตนจะอยู่ทันเห็นหรือไม่ ยังไม่แน่ใจ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง ‘ชาญวิทย์’ รำลึก ‘ศ.เบน แอนเดอร์สัน’ อยากรู้ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึง ‘ม็อบมุ้งมิ้ง-ตุ้งติ้ง’ จะคอมเม้นต์ว่าไง ?)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image