‘จรีพร’ชูพัฒนา‘คน-ระบบ’ ยกระดับ‘ดิจิทัลอีโคโนมี’

‘จรีพร’ชูพัฒนา‘คน-ระบบ’ ยกระดับ‘ดิจิทัลอีโคโนมี’

‘จรีพร’ชูพัฒนา‘คน-ระบบ’
ยกระดับ‘ดิจิทัลอีโคโนมี’

หมายเหตุ น.ส.จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา “เศรษฐกิจดิจิทัล พลิกฟื้นประเทศ” ซึ่ง มติชน จะจัดขึ้น ณ แกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้

การเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลอีโคโนมี ถึงแม้ไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยก็ต้องเดินหน้าเรื่องเทคโนโลยีและปรับเปลี่ยนไปให้ได้ เพราะโลกยุคนี้เป็นยุคของดิจิทัลหมดแล้ว ส่วนโควิด-19 เป็นหนึ่งปัจจัยที่ช่วยตอกย้ำให้เห็นว่าการเกิดดิจิทัลอีโคโนมีต้องมาถึงและต้องทำให้เกิดเร็วขึ้น ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการเดินหน้าเข้าสู่สังคมออนไลน์มากขึ้นแล้ว รวมทั้งรัฐบาลไทยก็มีการลงทุนเรื่องอินฟราสตรัคเจอร์ทำให้เกิดการค้าขายออนไลน์เติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ โดยแค่มีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

ส่วนเรื่องความพร้อมการเข้าสู่สังคมดิจิทัลนั้น มองว่าไทยเริ่มมาได้ในระดับหนึ่งแล้ว ถึงแม้จะยังไม่เต็ม 100% ถ้าไม่มีความพร้อมในช่วงโควิด-19 คงไม่สามารถเวิร์กฟรอมโฮม สั่งสินค้าและอาหารออนไลน์ได้

Advertisement

แต่สิ่งที่ตามมากับความพร้อมคือการที่มองว่าไทยจะไปในทิศทางใดมากกว่า แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการพัฒนาด้านเทคโนโลยีของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน หากเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ สิงคโปร์ แม้ไทยจะยังเติบโตไม่เท่าประเทศเหล่านั้น

แต่เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตไปข้างหน้าได้แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือหรือการลงทุนจากภาครัฐเพราะว่าการลงทุนอินฟราสตรัคเจอร์ไม่ใช่เรื่องที่เอกชนต้องลงทุนเพียงฝ่ายเดียว ภาครัฐต้องร่วมลงทุนควบคู่ไปด้วย

ส่วนการที่ทำเรื่องอินเตอร์เน็ตให้ครอบคลุมทั่วประเทศก็อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่แล้ว หรือในเรื่องที่ต้องการพัฒนาเป็นอย่างมากอย่างเรื่องการขับเคลื่อนระบบ 5G ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยให้ดิจิทัลอีโคโนมีเกิดได้เร็วขึ้นต่อไป

Advertisement

บทบาทของรัฐในการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัล มองว่ารัฐบาลต้องเป็นหลักในการประสานงานร่วมกับภาคเอกชนจึงจะไปด้วยกันได้

เริ่มจากการลงทุนเรื่องอินฟราสตรัคเจอร์ ทั้งในเรื่องของไฟเบอร์ออปติก หรือฮาร์ดอินฟราสตรัคเจอร์ การใช้โดรนในการขนส่งสินค้า หรือซอฟต์อินฟราสตรัคเจอร์ การพัฒนาแรงงาน และเรื่องความปลอดภัยทางเทคโนโลยี เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ

โดยสิ่งแรกที่อยากจะเห็นการดำเนินการจากภาครัฐ คือ การลดขั้นตอนในการทำงานลง รวมถึงเรื่องเอกสารต่างๆ ที่เป็นกระดาษ ควรเปลี่ยนเป็นการสร้างฐานข้อมูลและนำระบบดิจิทัลเข้าไปใช้ให้มากขึ้น

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศว่าเราจะก้าวสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 แต่ในการทำงานหลายฝ่ายยังมองว่าเป็นยุค 0.4 อยู่

ส่วนตัวมองว่าการดำเนินงานของภาครัฐไม่ได้ช้าขนาดนั้น แต่ต้องมีการเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าโลกของดิจิทัลต้องเปลี่ยนไปแล้ว เพื่อให้การทำงานและบริการต่างๆ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและทันสมัย เพราะภาครัฐต้องมีส่วนช่วยให้ธุรกิจดำเนินการไปด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น หากถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนภาคเอกชนก็พร้อมที่จะเปลี่ยนตามทันที

ปัจจัยบวกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยถือว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมเรื่องอินฟราสตรัคเจอร์ มากกว่าประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ วัดได้จากจำนวนประชากรของไทยที่มีประมาณ 60 ล้านคน มีคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และมีเฟซบุ๊กมากกว่า 50-60 ล้านราย

ซึ่งไทยมีการตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ก็มีความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตมาก คือในแง่บวกมีความพร้อมที่จะเดินหน้า

ส่วนในแง่ลบคือต้องมองภาพว่าความต่อเนื่องของทางด้านการลงทุนต่างๆ ความต่อเนื่องของการสร้างคน เราต้องมองในเรื่องของการจ้างคนเป็นหลัก เพราะไทยมีความพร้อมในฐานะผู้ใช้ แต่ไม่มีผู้คิดหรือเริ่มสร้างเทคโนโลยีระบบใหม่ๆ ขึ้นมามากนัก เพราะสุดท้ายแล้วการที่จะเดินหน้าต่อไปได้จะต้องมีการพัฒนาเรื่องคนก่อน

โดยเริ่มตั้งแต่การปรับด้านการศึกษา ปรับความคิดของเด็กรุ่นใหม่ หากสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ จึงจะเห็นแนวทางที่สามารถเดินหน้าต่อไปได้

ช่วงแรกของการเกิดวิกฤตโควิด-19 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการปรับเปลี่ยนให้เรียนหลักสูตรออนไลน์ ยังไม่ทันเริ่มต้นหลายฝ่ายก็เริ่มบ่นกันแล้ว แต่เชื่อว่านักเรียน นักศึกษากว่า 90% พร้อมที่จะเรียนออนไลน์

แต่หลายฝ่ายไปกังวลที่ส่วนน้อยแล้วเทคโนโลยีในด้านนี้จะสามารถเดินหน้าต่อได้อย่างไร เคยมีโอกาสได้ลงพื้นที่หลายโรงเรียนพบว่าเด็กสมัยนี้มีโทรศัพท์มือถือทุกคน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แต่ติดที่หลายฝ่ายังไม่เปลี่ยนความคิด

ดังนั้น ต้องปรับความคิด เพื่อพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) ได้ จะช่วยลดเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปกครองลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องพาลูกหลานไปเรียนโรงเรียนแพงๆ ก็สามารถเข้าถึงสถานศึกษาได้ทั่วโลกโดยเสียค่าใช้จ่ายที่ลดลง หลังจากนั้น พอมีการศึกษาที่ดีแล้วบุคคลเหล่านี้ก็จะมีการสร้างอาชีพที่ดีและลดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อีกด้วย

ในอดีตการทำการค้ากว่าจะเริ่มต้นได้ต้องมีเงินทุนที่มากพอ มีหน้าร้านจึงจะสามารถค้าขายได้ แต่ในปัจจุบันแค่มีไอเดียจัดทำแพลตฟอร์มของตนเองก็สามารถสร้างสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมาได้ เมื่อปี 2562 หลายฝ่ามองว่าเศรษฐกิจไม่ดี ส่วนตัวมองตรงข้ามเพราะยอดขายอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงมาก ประมาณ 20% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 19.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี)

สะท้อนให้เห็นว่าพ่อค้าแม่ค้ามีการปรับเปลี่ยนวิธีในการค้าขายแล้ว ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าไทยเข้าเริ่มมีการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลเป็นจำนวนมากขึ้นแล้วอีกด้วย

เรื่องการเมืองนั้น เห็นว่าการเมืองไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล แต่มองภาพที่ตัวบุคคลที่เข้ามาเป็นรัฐมนตรีดิจิทัล ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาดิจิทัล

ซึ่งรัฐบาลชุดก่อนปัจจุบันได้มีการขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นคณะรัฐมนตรีรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งไม่มั่นใจว่าจะยังมีการขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่

แต่จากที่ได้ติดตามการทำงานของภาครัฐ มองว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ค่อนข้างแอ๊กทีฟในหลายเรื่อง

สำหรับบทบาทของดับบลิวเอชเอ เราให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยี และเห็นความสำคัญต่อการฟื้นตัว ดูจาก 4 กลุ่มธุรกิจของบริษัท ได้แก่ 1.ธุรกิจโลจิสติกส์ โดยบริษัทได้เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างต่อเนื่องด้วยการเตรียมนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูงมาใช้ในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ อาทิ เทคโนโลยี 5G, อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที), ระบบการจัดเก็บและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ (เอเอส/อาร์เอส) และรถลำเลียงสินค้าอัตโนมัติ (เอจีวี) นวัตกรรมล้ำสมัยเหล่านี้ช่วยให้การทำงานเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น

2.ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ส่วนนี้กลุ่มบริษัทได้พัฒนาเรื่องฮาร์ดอินฟราไปแล้ว ทั้งเรื่องไฟเบอร์ออปติก โดยนอกจากนี้ยังมีโครงการขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 มีกำหนดเริ่มดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ ดับบลิวเอชเอพร้อมรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตเพื่อเตรียมต้อนรับนักลงทุนที่วางแผนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยจากผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้าหรือการหยุดชะงักของซัพพลายเชนในหลายประเทศ

โดยทางบริษัทได้เตรียมทำแพลตฟอร์มซอฟต์อินฟรา ใช้ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการต่อผู้ที่เข้ามาร่วมลงทุนและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

3.ธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน โดยด้านสาธารณูปโภค บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จะนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่มาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง อาทิ Wastewater Reclamation และ การผลิตน้ำปราศจากแร่ธาตุ โดยในครึ่งแรกของปี 2563 ได้มีการส่งมอบ Reclamation Plant กำลังผลิต 5,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อผลิตน้ำอุตสาหกรรมระดับพรีเมียม ให้กับโรงไฟฟ้าของกัลฟ์ พร้อมกันนี้จะมีโครงการใหม่ ประกอบด้วย Wastewater Reclamation Plant ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ด้วยกำลังผลิต 25,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก ในด้านพลังงาน บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ เดินหน้าขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาโซลูชั่นพลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับพลังงานเชิงพาณิชย์

ตั้งแต่ต้นปี 2563 บริษัทได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาไปแล้วรวม 9 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 11 เมกะวัตต์ และยังมีการเซ็นสัญญาเพิ่มอีก 7 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 14 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์อีก 13 โครงการ กำลังการผลิต 22 เมกะวัตต์ ที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในครึ่งปีหลัง

และ 4.ธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม โดยดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท เดินหน้าติดตั้งไฟเบอร์ออปติก ให้ครอบคลุมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 10 แห่งในไทย ซึ่งปัจจุบันติดตั้งอย่างสมบูรณ์แบบแล้วในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 6 แห่ง และเร่งดำเนินการติดตั้งให้เสร็จสิ้นอีก 4 แห่ง นอกจากนี้บริษัทยังให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์กับลูกค้ารายใหญ่ภายในนิคมอุตสาหกรรม

รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำอีกหลายราย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงนามในสัญญาการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์กับบริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (JasTel) ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเตอร์เน็ตชั้นนำในประเทศและระหว่างประเทศ ในเครือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เพื่อช่วยดูแลระบบเน็ตเวิร์ก และให้บริการเช่าพื้นที่วางเครื่องเซิร์ฟเวอร์ สำหรับเทคโนโลยี 5G ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มความเร็ว มอบการเชื่อมต่อที่เสถียรและมีความหน่วงต่ำ ดับบลิวเอชเอได้ลงนามบันทึกข้อตกลงกับผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำ เพื่อร่วมกันวางแผนและพัฒนาโซลูชั่นเทคโนโลยี 5G ให้สอดรับกับการปฏิบัติงานและการใช้งานของลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ

จากนี้จะเร่งในกลุ่มที่ 5 ที่จะเริ่มเดินหน้าในปี 2564 โดยจะเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี และดิจิทัล ที่จะดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาจมีการสร้างอีโคซิสเต็มที่ใหญ่ขึ้น และยืนยันว่าทุกคนที่ลงทุนร่วมกับเราจะได้รับการอำนวยสะดวกที่ดีและครบถ้วนต่อไป

ส่วนมุมมองต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวม เห็นว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเป็นรูปตัวเค (K) เพราะการเกิดโควิด-19 ประเมินได้ 2 แง่ คือบางธุรกิจก็เติบโตขึ้น แต่บางธุรกิจก็ลดลง ต้องเข้าใจก่อนว่าการเกิดวิกฤตในครั้งนี้ใช่ว่าทุกอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบทั้งหมด

โดยมองว่าธุรกิจของเราโดยเฉพาะด้านนิคมอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ มีการเติบโตไปในรูปแบบขีดบนของตัวเค แต่ที่ได้รับผลกระทบคือด้านนิคมอุตสาหกรรมที่นักลงทุนต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้

ต้องขอบคุณมติชนที่จัดงานสัมมนานี้ขึ้นมา เพราะเรามองว่าดิจิทัลอีโคโนมีเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะได้เห็นภาพว่าคนมีความเข้าใจเรื่องดิจิทัลอีโคโนมีแค่ไหน บางคนยังกังวลว่าดิจิทัลอีโคโนมีคืออะไร

แต่จริงๆ แล้วทุกคนอยู่กับดิจิทัลอีโคโนมีโดยไม่รู้ตัว โดยดิจิทัลได้แทรกตัวอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา จึงอยากให้ประชาชนคลายกังวลในเรื่องนี้

ในเรื่องความกังวลนั้น สิ่งที่กังวลไม่ใช่แรงงานที่จะเข้ามารองรับในอุตสาหกรรมนี้ แต่เป็นกังวลเรื่องของผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ที่ยังมีจำนวนน้อยอยู่

ซึ่งทราบมาว่ารัฐบาลอยู่ระหว่างขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ แต่อีกด้านหนึ่งทางบริษัทได้สร้างสตาร์ตอัพกลุ่มนี้ขึ้นมา โดยร่วมกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญจากจีน ภายใต้ศูนย์บ่มเพาะสำหรับปั้นสตาร์ตอัพของไทย ถือว่าเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศ โดยการดึงสตาร์ตอัพของจีนเข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเทคโนโลยีในไทย

ตอนนี้เอกชนหลายรายเริ่มมีการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวเช่นกัน เพราะเรื่องคนคือคำตอบสุดท้ายว่าเราจะชนะหรือแพ้ในการแข่งขันด้านดิจิทัลอีโคโนมีในครั้งนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image