‘ประจักษ์’ มอง คนรุ่นใหม่ ฟื้นที่ยืน ‘6 ตุลา’ ฝากภารกิจ ‘ตั้งศูนย์รวบรวมความจริง’ คืน ความยุติธรรม

‘ประจักษ์’ มอง คนรุ่นใหม่ ฟื้นที่ยืน ‘6 ตุลา’ ฝากภารกิจ ‘ตั้งศูนย์รวบรวมความจริง’ คืน ความยุติธรรม

เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 6 ตุลาคม ที่ ตึกกิจกรรมนิสิต สโมสรนิสิตรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดงาน “44 ปี 6 ตุลาฯ” โดยมีพิธีเปิดห้องประชุม ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน และวิชิตชัยอมรกุล ซึ่งเป็นวีรชน นิสิตคณะรัฐศาสตร์ ในเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีนักเรียน นิสิต นักศึกษา นักวิชาการ นักการเมือง และประชาชนร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ท่ามกลางการเฝ้าสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงนอกเครื่องแบบหลายนาย

เวลา 17.40 น. มีการเสวนา ในหัวข้อ “6 ตุลาฯ และอนาคตของสังคมไทย” โดยมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า, ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ รวมวง

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการสังเกตการปราศรัย พบว่านักเรียน นักศึกษาในปัจจุบันเชื่อมโยง 3 เหตุการณ์ คือ ปี 2475, วีรชน 6 ตุลาคม, พฤษภาคม 35 และคนเสื้อแดง โดยวีรชนผู้กล้าใน 3 เหตุการณ์ เป็นผู้แพ้ในประวัติศาสตร์

นักศึกษาไม่ได้เชื่อมโยงตัวเองกับ 2 เหตุการณ์นี้ 14 ตุลา สำหรับนักเรียน นักศึกษาจำนวนหนึ่ง มองว่า เป็นยุทธศาตร์ที่นำพาไปสู่ความพ่ายแพ้ ไม่ยั่งยืน ผูกโยงไปยังการจดจำ 14 ตุลาคม แต่ 6 ตุลาคมไม่มีที่ยืน ขบวนการนักศึกษาถึงที่สุดไม่ได้ต่อต้านอุดมการณ์หลักของความเป็นไทย แต่ใช้อุดมการณ์ความเป็นไทยทำลายความชอบธรรมของทหาร นักศึกษาปัจจุบันเข้าใจว่า การต่อสู้ครั้งนั้นกลับสนับสนุนอุดมการณ์หลักความเป็นไทยให้เข้มแข็ง และกลับมาฆ่านักศึกษาด้วยความรุนแรงในนามของความดี เพราะคนที่ใช้ความรุนแรงไม่รู้สึกผิด หากแต่กระทำการในการพิทักษ์ คนรุ่นใหม่จึงเรียนรู้และพยายามรื้อฟื้นที่ยืนให้ 6 ตุลาคม 19

Advertisement

ผศ.ดร.ประจักษ์ การจัดงานรำลึกปีนี้ เป็นการจัดงานที่คึกคัก ขยายขอบเขต พูดถึง 6 ตุลาคมได้มากที่สุด ซึ่งไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะมีการรำลึกอย่างเช่นทุกวันนี้ ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา การต่อสู้คลื่นใหม่ การต่อสู้ในหลายที่ เอาชื่อวีรชนมาพูด คือการรื้อฟื้นที่ยืนให้กับประวัติศาสตร์ 6 ตุลาอีกครั้ง

“การเชื่อมโยง 14 ตุลาคม 16, ปี 2475, และพฤษภาคม 53, พ่ายแพ้ในทางประวัติศาสตร์ กลับสะท้อนความเป็นไปถึงความอัปลักษณ์ของรัฐไทย ว่าสามารถฆ่าคนได้อย่างไร ปัจจุบันนักศึกษาจึงทำภารกิจ 24 มิถุนายน 2475 และ 6 ตุลาคม 2519 ให้สำเร็จ” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่า เราจะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อทำให้แผลที่คงอยู่ 44 ปีสมานเสียที

ผศ.ดร.ประจักษ์เผยว่า  ขึ้นอยู่กับเราจะยุติอาชญากรรมโดยรัฐ และ การลอยนวลพ้นพิษ ได้อย่างไร

“6 ตุลาคม สะท้อนความโหดร้ายของขบวนการยุติธรรมไทยในมิติที่ลึกซึ้ง นักศึกษาโดนปราบ เมื่อ 6 ตุลาคม หลังจากนั้นอีก 3,000 คน ถูกจับกุมคุมขัง แต่คนใช้ความรุนแรงไม่มีใครถูกจับกุมแม้แต่คนเดียว ยิ่งไปกว่านั้น แกนนำนักศึกษากลับต้องไปขึ้นศาล แก้ต่างตัวเองว่า ไม่ใช่คนทำผิดคิดร้ายต่อชาติอย่างไร โดนพิพากษา โดนใช้ความรุนแรงฆ่าเขาและเพื่อนของเขาเอง คือความพิลึกพิลั่นในสังคมไทย การยุติความรุนแรงโดยรัฐ และการลอยนวลพ้นผิด หนทางคือ การสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งจะเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง” ดร.ประจักษ์กล่าว

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวต่อว่า สังคมที่ผ่านความรุนแรงมา มีประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอย เขาเริ่มจาก never again คือ ‘เราจะไม่ยอมให้ความรุนแรงเกิดขึ้นอีก’ โดยการ 1.แสวงหาความจริง 2.ยุติธรรม 3 .เยียวยา ชดเชยให้แก่เหยื่อ ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น การจัดงานรำลึก รัฐออกมาขอโทษ รับผิด คือการฟื้นคืนศักดิ์ศรีได้ดีที่สุด 4.ปฏิรูปหน่วยงานความมั่นคงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งการปฏิรูปไม่เคยเกิดขึ้นแม้แต่อย่างเดียว ครบ 10 ปี พฤษภาคม 53 10 ปีผ่านไปความจริงยังไม่ปรากฏ ไม่เพียง พฤษภาคม 53 พฤษภาทมิฬ, 6 ตุลา 19 ก็ยังไม่ปรากฏ ซึ่งเราเพิ่งรู้เองว่า มีอีก 5 คนที่ถูกแขวนคอ แสดงว่ายังมีความจริงอีกมากที่เรายังไม่รู้

“แอฟริกาใต้ ก็ไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ แต่อย่างน้อยตั้งคณะกรรมการสอบสวน อย่างน้อยประชาชนได้รู้ความจริง แม้ยังไม่ได้ความยุติธรรม แต่ของเราแค่เพียงความจริงก็ยังไม่ปรากฏ ความยุติธรรมยิ่งยากไปใหญ่ การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ คือการสถาปนากลไกในระยะเปลี่ยนผ่าน เอาคนที่ใช้ความรุนแรงมาลงโทษ ทำให้คนที่จะทำรัฐประหารไม่กล้า แต่ไทยยังมีการลอยนวลพ้นผิด ความจริงและความยุติธรรมในสังคมไม่เพียงล่าช้า แต่ไม่มีเลย”

ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า อยากให้คิดถึงภารกิจนี้ในระยะยาว นอกจากการรำลึกและการสร้างห้องรำลึกวีรชน ทำอย่างไรจะผลักดันไปสู่การจัดตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อที่ระยะยาวจะนำไปสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ เพื่อการศึกษาในวงกว้าง ต่อให้ไม่อยู่ในแบบเรียน ช่างกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเด็กสมัยนี้ไม่ได้เติบโตโดยกระทรวงศึกษา แต่มาด้วยการแสวงหาด้วยตัวเองทั้งสิ้น ต้องทำให้ 6 ตุลาคมไปอยู่ในทุกที่ กระทั่งศูนย์การค้า อย่างเช่นที่นิสิตจุฬาฯทำ เอาภาพจิตร ภูมิศักดิ์ ไปขึ้นที่จามจุรีสแควร์ คือภารกิจที่ต้องช่วยกันในระยะยาว

“เขมรแดงเอาตัวผู้นำมาขึ้นศาลและลงโทษได้ ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้นใช้เวลา 2 ทศวรรษ จนรู้ใครอยู่เบื้องหลัง ใครสั่งการ ความยุติธรรมต้องมาจากความจริงก่อน วิธีที่ได้ผลที่สุดคือ แสวงหาความจริง และคืนความยุติธรรมให้เหยื่อ 6 ตุลาฯ” ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘รัฐศาสตร์ จุฬาฯ’ รำลึก ’44 ปี 6 ตุลา’ ตั้งชื่อห้องสโมฯ ‘วิชิตชัย-ดร.บุญสนอง’ จารึกเกียรติ ‘วีรชน’

‘กนกรัตน์’ ชี้ นร.คือที่มาขบวนการ นศ. คลายปม เยาวชน ‘อิน 6 ตุลา’ เหตุรู้สึกเชื่อมโยง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image