“คำนูณ” ย้ำ 17-18 พ.ย.นี้ ขอเป็น 1 เสียงส.ว.โหวตแก้รธน. สลายความขัดแย้ง

“คำนูณ” ย้ำ 17-18 พ.ย.นี้ ขอเป็น 1 เสียงส.ว.โหวตแก้รธน. สลายความขัดแย้ง

เมื่อเวลา 14.30 น.วันที่ 13 พฤศจิกายน ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมกันจัดเวทีประชุมทางการเมือง หัวข้อ “บทบาทรัฐสภาในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ กับจุดเปลี่ยนประเทศไทย” โดย นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า ครั้งหนึ่งเคยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เพราะคิดว่า จะทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงทำให้ต้องประกาศขอให้พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ในฐานะที่เป็นตัวปัญหาทุกเรื่อง หากนายกฯ ลาออกจะเป็นการถอดสลักตัวแรก เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการถอดสลักที่สอง แต่ปรากฎว่ามี ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กลับจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชาชนต้องออกมาช่วยกันกดดัน

ย้อนอ่าน : วงเสวนา ประสานเสียง 17-18 พ.ย.นี้เป็นวันปวศ. รบ.จริงใจหรือไม่ โหวตตั้งสสร.ดับวิกฤต

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกส.ว. กล่าวว่า ที่มาอภิปรายในเวทีแห่งนี้ของตนเองไม่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ แต่จะเป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลในนามส่วนตัว ทั้งนี้ วันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ เป็นวันที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้พอสมควร ตนเองคิดทบทวนตลอดเวลานับตั้งแต่มาเป็นส.ว. โดยเคยเสนอว่า บ้านเมืองถึงเวลาที่ต้องคิดถึงการสลายความขัดแย้งเป็นรูปธรรมด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมทุกฝ่าย รวมไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และการลดอำนาจของส.ว. ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ ไม่ใช่ว่า ตนเองไม่เห็นด้วย แต่มองว่า ในเมื่อจะมีส.ส.ร.แล้วก็ควรให้ส.ส.ร.เข้ามาดำเนินการแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ซึ่งความคิดเห็นของตนเองในลักษณะนี้ถือเป็นส่วนน้อยในวุฒิสภา

“ผมเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญและไม่ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่เคยกำหนดให้มีการให้เปิดให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ ยกเว้นรัฐธรรมนูญปี 2534 ที่มีการแก้ไขเพื่อให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นมาแล้ว การแก้ไขมาตรา 256 จะต้องถูกทำประชามติ โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว จึงไม่ขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ” นายคำนูณ กล่าว

Advertisement

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า สำหรับเส้นทางการไปศาลรัฐธรรมนูญเรื่องใดๆ รัฐธรรมนูญแต่ละประเทศจะเขียนไว้ค่อนข้างจำกัด อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก็กำหนดแล้วว่า จะต้องดำเนินการตาม 256 (9) เท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงก่อนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเป็นการกำหนดกรอบของศาลรัฐธรรมนูญไว้อย่างจำกัด การไปศาลรัฐธรรมนูญโดยอาศัยช่องทางตามมาตรา 49 ว่า ด้วยการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจะกระทำมิได้ โดยยื่นผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งในช่องทางนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีความผิด ส่วนมาตรา 210 (2) ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ที่มีส.ส.และส.ว.ร่วมกันยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้นตนเองไม่เห็นด้วยและจะไม่ยกมือให้กับญัตตินี้ เนื่องจากตนเองเป็นฝ่ายนิติบัญญัติหากไม่รู้ว่าหน้าที่มีอะไรแต่ต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นเรื่องแปลก การเขียน 210 (2) ในเชิงทฤษฎีคิดว่าค่อนข้างอันตราย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image