‘บัญญัติ’ ค้าน หวั่นญัตติ ‘ไพบูลย์’ ไม่ชอบด้วย รธน. ชี้อย่าทำให้ ปชช.รู้สึกว่าแก้ได้เฉพาะทำรัฐประหาร

‘บัญญัติ’ ค้าน หวั่นญัตติ ‘ไพบูลย์’ ไม่ชอบด้วย รธน. แจงอดีตก็เคยทำ รธน.ฉบับใหม่โดยฉบับเก่าไม่ได้ให้อำนาจไว้ ชี้ อย่าทำให้ ปชช.รู้สึกว่าแก้ รธน.ได้เฉพาะทำรัฐประหารเท่านั้น

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาวาระ ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอ

เวลา 11.45 น. นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปรายว่า ที่ผ่านมาเมื่อมีสมาชิกเข้าชื่อกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรวม 2 ฉบับ และในการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2563 สภาพิจารณารับหลักการทั้งสองฉบับ เรากำหนดให้ยึดหลักการพิจารณาร่างของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ที่เสนอเป็นสำคัญ กำหนดแปรญัตติชัดเจนภายใน 15 วัน และในการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว การพิจารณาคำขอแปรญัตติทั้งของ ส.ส.และ ส.ว.ก็ทำไว้เรียบร้อยแล้วเช่นเดียวกัน กำหนดเข้าสู่การพิจารณาภายในปลายเดือนกุมภาพันธ์

นายบัญญัติอภิปรายว่า ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมที่ผ่านมาชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว โดยสภาดำเนินการถึงขั้นรอพิจารณาในวาระ 2 และ 3 แล้ว เมื่อมีปัญหาแต่องค์กรที่เกี่ยวข้องดำเนินการพิจารณาเป็นขั้นเป็นตอนไปแล้ว กรณีเช่นนี้ไม่น่าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเป็นอื่นได้ ดังนั้น การนำปัญหานี้ไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญตามที่ผู้เสนอญัตติประสงค์นั้น ตนคิดว่าทำไปก็เปล่าประโยชน์

Advertisement

อ่านข่าว : สภา ถกญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแก้ไข รธน. ‘ไพบูลย์’ อ้างหากไม่ส่ง หวั่น ส.ว.งดออกเสียงวาระสาม
‘ฝ่ายค้าน’ รุมถล่มญัตติยื่นศาลตีความ ‘พิธา’ อัด เหมือนจงใจให้ รธน.ฉบับ คสช.อยู่นิรันดร

นายบัญญัติอภิปรายต่อว่า ที่มีการพูดกันมากว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่ อย่างน้อยในประวัติศาสตร์การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำมาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี 2491 และ 2539 แม้รัฐธรรมนูญฉบับเก่าไม่ได้ให้อำนาจในการแก้ แต่ก็สามารถกระทำได้และภายหลังการแก้ ก็ได้รับการกล่าวขานว่ารัฐธรรมนูญปี 2492 และโดยเฉพาะ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด

นายบัญญัติกล่าวว่า นอกจากนี้มีการยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 ขึ้นมาตัดรอน แต่ตนคิดว่านี่เป็นโอกาสที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยความชอบธรรม เพราะในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขเพิ่มเติมด้วยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในขณะนั้น แต่ศาลก็มีคำวินิจฉัยว่าการสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจประชาชน โดยการลงประชามติว่าสมควรมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ นี่คือโอกาสจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เราก็ทำประชามติตามที่ศาลให้คำชี้แนะไว้เป็นแนวทางให้ครบถ้วนบริบูรณ์ก็เท่านั้น จึงไม่ควรกังวลว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นทำได้หรือไม่ หากยังมีสมาชิกท่านใดกังวล โอกาสที่จะตรวจสอบการจัดทำรัฐธรรมนูญยังมีอยู่เสมอ แม้จะผ่านวาระสามหรือผ่านการทำประชามติไปแล้ว หรือก่อนที่นายกฯจะทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 อนุมาตรา 9 กำหนดไว้

Advertisement

“ผมไม่อาจแน่ใจว่าการเสนอญัตติให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ร่วมกันพิจารณาตามที่เจ้าของญัตติประสงค์นั้นจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะไม่ได้มีกำหนดไว้ในมาตรา 156 แต่อย่างใด ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมยังความหวังให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนที่ตื่นตัวในประชาธิปไตย และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็สามารถคาดหมายได้ว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.ก็จะมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความสมานฉันท์และความปรองดองก็จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง

“ผมจึงไม่เห็นเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเสนอญัตตินี้ไปศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีก และไม่แน่ใจว่าท่านจะมีอำนาจวินิจฉัยเป็นอื่นได้หรือไม่

“วันนี้คนมีความหวังกันมากว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายใต้การจัดทำร่วมกันของตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง หากความหวังนี้ต้องล่มสลายไป น่าเสียดายว่าหากเมื่อไรคนในประเทศนี้รู้สึกว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สามารถทำได้โดยการรัฐประหารประการเดียวเท่านั้น ประชาชนเจ้าของประเทศไม่มีโอกาส ความไม่เป็นมงคลย่อมเกิดขึ้นกับระบบการเมืองไทยอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น ด้วยเหตุผลทางกฎหมายและทางการเมือง ผมไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับญัตตินี้” นายบัญญัติระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image