รัฐสภา จ่อโหวต 5 ญัตติ 3 แนวทางออก ก่อนเดินหน้าโหวตวาระสามหรือไม่

พรเพชร แจง ทางออกโหวตวาระ 3 มี 5 ญัตติ 3 แนวทาง

ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธารัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ….(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) เป็นการพิจารณาเพื่อลงมติในวาระ 3 โดยที่ประชุมรับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ในการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ต้องทำประชามติก่อน

ทั้งนี้ นายชวนแจ้งต่อที่ประชุมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ตามที่รัฐสภายื่นคำร้องให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำใหม่ได้ โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติก่อนว่าประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และเมื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก่อนเปิดให้สมาชิกอภิปราย

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

จากนั้น เวลา 15.40 น. นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มี 5 ญัตติที่ซ้อนกันไปซ้อนกันมา ส่วนตัวยอมรับว่า ในส่วนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เขียนไว้ชัดเจนว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลพูกพันทุกองค์กร แม้จะรักร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เฝ้าประคบประหงม ซึ่งความเห็นทางนิติศาสตร์บางครั้งก็มีช่องที่เห็นโต้แย้งกันได้ และขณะนี้มีการอภิปรายกันหลากหลาย ดังนั้น เราจะหาจุดจบอย่างไร หากเป็นไปได้จะดำเนินการตามระเบียบวาระก็ไม่ขัดข้องหรือโหวตตามญัตติที่เพื่อนสมาชิกเสนอ

Advertisement

ด้าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ชี้แจงว่า นับแต่เปิดประชุมมา ประธานสภาฯให้มีการหารือ ตอนนี้มีผู้เข้าชื่อหารือ 13 คน คงใช้เวลา2ชั่วโมง ถ้าลงชื่อเพิ่มก็คงเกินเวลาอีก แต่เมื่อดูเนื้อหาที่หารือ ไม่ได้มีการเพิ่มญัตติอะไร เป็นเพียงการอภิปรายสนับสนุน ญัตติหนึ่งญัตติใด ส่วนญัตติ5เรื่อง แต่ถ้าสรุปจริงๆเหลือเพียง 3 เรื่อง คือ 1.ลงมติตามข้อบังคับ 2.ญัตติขอไม่ให้ลงมติ ที่เสนอโดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.เสนอมา 3.ขอให้เลื่อนการลงมติ เพื่อดำเนินการให้ดีขึ้น โดยส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอีกครั้ง ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เสนอมา ทั้งนี้เพื่อให้เดินหน้า จะมีการไปหารือกับวิป 3ฝ่าย ส่วนการลงมติ ถ้าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอกับญัตติใหม่ ก็ต้องลงมติตามข้อบังคับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image