ชาติไทยพัฒนา สวนพปชร.หับดิบลงมติ วอล์กเอาต์ทั้งพรรค ไม่ร่วมโหวตวาระสาม

ชาติไทยพัฒนา สวนพปชร.หับดิบลงมติ วอล์กเอาต์ทั้งพรรค ไม่ร่วมโหวตวาระสาม 

ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมรัฐสภา สมัยวิสามัญ ที่มี นายชวน หลีกภัย ประธารัฐสภา เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ….(แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) เป็นการพิจารณาเพื่อลงมติในวาระ 3 โดยที่ประชุมรับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา ในการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ต้องทำประชามติก่อน

ทั้งนี้ นายชวนแจ้งต่อที่ประชุมถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ตามที่รัฐสภายื่นคำร้องให้วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำใหม่ได้ โดยให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญลงประชามติก่อนว่าประสงค์ให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ และเมื่อทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนลงมติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก่อนเปิดให้สมาชิกอภิปราย

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา เวลา 20.10 น. ที่ประชุมรัฐสภากลับมาประชุมอีกครั้ง แต่ก็ยังถกเถียง ไม่สามารถตกลงเรื่องวิธีการโหวตลงมติใน 3 ญัตติว่าจะทำอย่างไร โดยเสียเวลาไปร่วม 45 นาที ในที่สุดนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จึงพลิกเกมเสนอญัตติใหม่ว่า ขอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาจะลงมติตามระเบียบวาระคือ จะให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาลงมติ วาระ3 ขึ้นมาพิจารณาก่อนหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยให้นำญัตตินายไพบูลย์ขึ้นมาพิจาณาก่อน ส่งผลให้ทั้ง 3 ญัตติที่เสนอมาก่อนหน้านี้ตกไปทั้งหมด ทำให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ตนคงไม่ร่วมสังฆกรรมด้วยกับพวกฉ้อฉล ฉ้อฉล ศรีธนญชัย ปลิ้นปล้อน ไร้สาระสิ้นดี นี่คือสภาโจ๊ก จากนั้นส.ส.ภท. จึงวอล์ตเอาท์ออกจากห้องประชุมทั้งหมด จากนั้นจึงเข้าการเตรียมการลงมติวาระ 3 โดยใช้วิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล

Advertisement

ด้าน นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ภายหลังที่ประชุมมีมติให้เดินหน้าโหวตวาระสามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จากความคลุมเครือไม่ชัดเจนในการปฏิบัติต่อคำวินิจฉัย จึงเชื่อว่า จะไม่ได้เสียงจากส.ว.แน่นอน การเสนอญัตติให้ชะลอไว้ก่อนนั้นเพื่อประคองไม่ให้ร่างนี้ตกไป แล้วไปถามแนวทางปฏิบัติของคำวินิจฉัยให้ชัดเจน แต่ยังมีญัตติอื่นๆของสมาชิกด้วย ทั้งเดินหน้าโหวต และไม่โหวต รวม 3 ญัตติ แต่ปรากฏว่า พรรคพลังประชารัฐ มาเสนอญัตติแทรกเข้ามา หลังจากหารือกันมาทั้งวัน จึงทำให้ญัตติทั้ง 3 ที่รอลงคะแนนนั้น ตกทั้งหมด ส่วนตัวคิดว่า ไม่เหมาะสม อย่างน้อยๆก็ควรให้มีการลงคะแนนกันก่อน ไม่ควรปิดกั้นสมาชิกแบบนี้ พรรคชาติไทยพัฒนาจึงขอวอล์กเอาต์ ไม่ขอร่วมโหวต เพราะอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์ แทนที่จะมีทางออกด้วยการต่อลมหายใจให้ร่างนี้อยู่ต่อไป การเดินหน้าโหวตแบบนี้ยังไงก็มีทางผ่านอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image