ศวป.ล่าชื่อหนุนแถลงฯปกป้องเด็ก มช. – นายกสมาคมน.ศ.เก่าศิลปากร ชี้กรณีธง สะท้อนสังคมไร้เสรีภาพ

ศวป.ล่าชื่อ หนุนแถลงฯ ปกป้อง เด็ก มช.- ‘นายกสมาคม น.ศ.เก่าศิลปากร’ ชี้ กรณีธง สะท้อนสังคมไร้เสรีภาพ ยัน ควรยืนหยัดเกียรติมนุษย์

สืบเนื่องจากกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ออกหมายเรียก 2 นักศึกษา คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ (มช.) ไปรับทราบข้อกล่าวหา ในความผิดมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ธงชาติ ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ในเวลา 09.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคมนี้ หลังสร้างสรรค์งานศิลปะรูปร่างคล้ายธง ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยผู้บริหารคณะเข้าเก็บงานแสดงศิลปะของนักศึกษาใส่ถุงดำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ระบุว่า จะนำตัวทั้ง 2 คน ไปขอฝากขังที่ศาลด้วย นั้น

อ่านข่าว :
เครือข่ายศิลปินฯชี้ ตร.แจ้งข้อกล่าวหา 2 น.ศ.เชียงใหม่เกินกว่าเหตุ ย้ำรัฐไม่ควรคุกคามการแสดงออกทางศิลปะ
‘เครือข่ายศิลปินฯ อีสาน’ ประณามผู้มีอำนาจ ‘ความคิดคับแคบ’ ยัน ‘เสรีภาพสร้างงานศิลป์’ ต้องไม่ถูกจองจำ

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (ศวป.) ได้โพสต์เอกสาร พร้อมข้อความเชิญชวน ร่วมลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ ของเครือข่าย ศวป. เรื่อง “ขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ที่ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม” สำหรับเอกสารดังกล่าว ความว่า

ตามที่มีผู้แจ้งความให้ดำเนินคดีตามความผิดตามกฎหมายอาญา ตามความในมาตรา 112 กับ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ 2 คน ว่าการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ธง 2522 ทั้งยังเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ม.116 และ ม. 215 นั้น

Advertisement

เครือข่ายศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (ศวป.) มีข้อเรียกร้องไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดังนี้

1. ผู้บริหารมหาวิทยาลัยและคณะวิจิตรศิลป์ มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา โดยคำนึงถึงเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นที่เสรีและเคารพซึ่งหลากหลาย การที่ผู้บริหารปล่อยปละละเลยให้มีการคุกคามการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกของนักศึกษาภายในสถานศึกษานั้น ต้องเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นและการแสดงออกทางวิชาการ ซึ่งในฐานะนักศึกษาศิลปะที่ได้แสดงออกผ่านงานศิลปะต้องได้รับการคุ้มครองและปกป้องอย่างถึงที่สุด อย่างน้อยในฐานะศิษย์กับอาจารย์ ไม่ใช่ผลักไล่ไสส่งนักศึกษาออกจากภาระของความเป็นครูอาจารย์

การเพิกเฉยที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในทางวิชาการดังกล่าว ย่อมกระทบต่อชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ที่มีพันธะจะต้องปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาและนักวิชาการ อันเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก
แน่นอนว่า หากผู้บริหารไม่ใส่ใจและรับผิดชอบต่อนักศึกษาของตน ย่อมเกิดผลกระทบต่อตัวบ่งชี้ด้านเสรีภาพทางวิชาการอย่างชัดเจน

Advertisement

2. ศวป. ขอเรียกร้องต่อบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ในคดีดังกล่าวโดยเคารพสิทธิพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหา ตราบเท่าที่ยังไม่ถูกตัดสิน ผู้ถูกกล่าวหาย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์และได้รับการประกันตัวออกมาระหว่างการต่อสู้คดี

เครือข่าย ศวป. ซึ่งเป็นเครือข่ายของศิลปิน นักกิจกรรมและผู้ปฏิบัติงานทางวัฒนธรรมที่มีเครือข่ายในเวทีนานาชาติ เราจะเฝ้าจับตาการทำงานของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้มีส่วนในกระบวนการยุติธรรมในคดีที่มีการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรมนี้ อย่างใกล้ชิด

ลิงก์ลงชื่อ https://docs.google.com/forms/d/1aEO37stzkHEEEui_26QQgZRTDcoKy3GSeexJpTgBWfQ/viewform?fbclid=IwAR0Bzsa4xs6kWpaYDd94X5ByBfv4DQHUgbY2-RqQnJ1OGm0X2VYqvWckVKg&edit_requested=true 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว จะปิดรับลงชื่อในเวลา 13.00 น. ของวันที่ 11 พฤษภาคมนี้

ด้าน ผศ.ดร.ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้เข้าไปช่วยเจรจาและปกป้องนักศึกษาในเหตการณ์ดังกล่าว ได้โพสต์ภาพจดหมาย พร้อมข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก “Thasnai Sethaseree” โดยระบุว่า

หากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ยึดมั่นในหลักการของความเป็นมนุษย์ ดังที่ปรากฏในจดหมายฉบับนี้ ศิลปะจะมีความหวังและสานฝันให้สังคมเสมอครับ

สำหรับจดหมายดังกล่าว ลงชื่อ นางฉันทนา ดาวราย นายกสมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร ความว่า

เรียนอาจารย์ทัศนัย
หลังจากคุยกันวันนั้น นำเรื่องเข้าที่ประชุมกรรมการสมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการทุกคนมีความรู้สึกห่วงใยนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ทั้งสองคนที่เป็นเด็กเรียนดี มีอนาคต

ผลงานของทั้งสองเป็นการแสดงเสรีภาพในการสร้างงานศิลปและเสรีภาพในด้านความคิดเห็น ธงที่มีสองสี แสดงออกทางนามธรรมถึงบรรยากาศในปัจจุบัน ประชาชนหันมาสนใจงานศิลปะร่วมสมัย เพราะให้ความรู้สึกเป็นเรื่องรับใช้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ปัญหาของนักศึกษาทั้งสองนั้น ผลงานไม่ได้แสดงให้เห็นอะไรชัดเจน แต่เกิดจากข้อเขียนที่ผู้ชมได้เขียนความคิดเห็นหลังจากชมงานศิลปะชิ้นนั้น แล้วจึงเป็นสาเหตุให้ถูกตั้งข้อหาว่าผิดพระราชบัญญัติธงชาติ เป็นการนำธงชาติมาคัดแปลง เนื้อความที่คนดูเขียน เป็นการผิดกฎหมาย มาตรา 112

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่าเสรีภาพในการสร้างงานศิลปะ ไม่มี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ไม่มี สังคมปัจจุบันควรจะสนับสนุนให้การสร้างงานศิลปะ ยืนหยัดเสรีภาพและเกียรติศักดิ์ของความเป็นมนุษย์มากกว่านี้

ที่ประชุมได้สรุปให้ตอบจดหมายอาจารย์เป็นจดหมายเปิดผนึก พวกเราทุกคนเอาใจช่วยนักศึกษาทั้งสองคน สังคมไทยจะได้มีศิลปินมีชื่อเพิ่มขึ้นค่ะ

ด้วยความนับถือ
ฉันทนา ดาวราย
นายกสมาคมนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยศิลปากร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image