คนรุ่นใหม่ แห่รำลึก 29 ปี พฤษภา35 ลั่น ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ต้องจบในรุ่นเรา

คนรุ่นใหม่ แห่รำลึก 29 ปี พฤษภา 35 – ‘ราษฎร’ รื้อฟื้นวัฒนธรรม ‘ลอยนวลพ้นผิด’ ชวนเปลี่ยน ปวศ. เดือนของ ปชช.

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ในวาระครบรอบ 29 ปี เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 กลุ่มราษฎร ได้โพสต์ข้อความระลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมือง โดยระบุว่า

พฤษภาแล้ว พฤษภาเล่า
ประจักษ์พยานวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคม และวงจรอุบาทว์ของการลิดรอนสิทธิราษฎรไทย

17 พฤษภาคม 2535
19 พฤษภาคม 2553
22 พฤษภาคม 2557

วันเหล่านี้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ถูกบันทึกอย่างละเอียดลงในสายธารประวัติศาสตร์การเมืองไทย อันเต็มไปด้วยความรุนแรงทั้งทางกายภาพและความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ซ้อนทับกลมกลืนไปกับภาพวัดงามเรืองรอง

Advertisement

ตั้งแต่เกิดจนโต ชีวิตของคนไทยที่เกิดและเติบโตในทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ล้วนแต่ได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานเหตุการณ์เหล่านี้ บ้างใกล้ชิด บ้างไกลห่าง ยังแจ่มชัดบ้าง ลางเลือนไปบ้าง แต่ไม่อาจปฏิเสธว่าความผันผวนทางการเมืองหล่อหลอมเด็กในวันนั้นขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ในวันนี้

พฤษภาคม 2564 นี้ ครบรอบ 29 ปีพฤษภาประชาธรรม ครบรอบ 11 ปี การล้อมปราบคนเสื้อแดงกลางกรุง และครบรอบ 7 ปี รัฐประหารโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องเล่าในอดีตยังคงฉายวนซ้ำ ความยุติธรรมยังมาไม่ถึง สังคมไทยยังคงเลือกอุปถัมภ์ค้ำจุนความรุนแรง โดยมีกองทัพเป็นผู้เล่นเจนสนามคนสำคัญ และองค์กรอิสระคอยค้ำจุนความชอบธรรมของผู้ช่วงชิงอำนาจไปจากประชาชน

ถึงเวลาแล้วที่เราจะรื้อถอนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดให้หมดไปในรุ่นเรา ตลอดสัปดาห์นี้ เราจะมารื้อฟื้นความรุนแรงโดยรัฐที่เคยเกิดขึ้น แล้วลงมือเปลี่ยนประวัติศาสตร์เดือนพฤษภาคมนี้ให้เป็นของประชาชนไปด้วยกัน

Advertisement

#พฤษภาประชาชน #ราษฎร #TheRatsadon

https://www.facebook.com/TheRatsadon/photos/a.105784224830048/163920719016398/

ด้าน แฟนเพจ ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง โพสต์ภาพ พร้อมข้อความแสดงความคิดเห็น ลงชื่อ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ โดยระบุว่า

“คุณจะไม่ได้นั่งแค่รถเมล์ แต่คุณนั่งไปกับประวัติศาสตร์”

ขอชื่นชมคนที่คิดคำโปรยเป็นอย่างยิ่ง

ในฐานะของคนที่เคยร่วมกับเหตุการณ์พฤษภาเมื่อ 2535 นี่คืออีกภาพหนึ่งที่บอกได้อย่างชัดเจนว่าการบริหารงานของรัฐไทยให้ความสำคัญกับชีวิตของประชาชนมากน้อยเพียงใด ในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
17 พฤษภาคม 2564

https://www.facebook.com/lawlawcmcm/photos/a.1563972363852330/2689539941295561/

ด้านกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า โพสต์ภาพ พร้อมข้อความ รำลึก 29 ปี 17 พฤษภาคม 2535 จุดเริ่มต้นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยระบุว่า

หมู่บ้านทะลุฟ้าร่วมวางดอกไม้ เพื่อรำลึกถึงวีรชนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ณ อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม

เหตุการณ์นองเลือดครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 หรือที่ได้รับการขนานนามว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการทำรัฐประหารรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้มีการตั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) โดยการนำของพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ และพลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นรองหัวหน้าคณะ

พลเอกสุจินดา คราประยูร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งเมื่อ 22 มีนาคม 2535 ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสามัคคีธรรมมีสมาชิกผู้แทนราษฎรในสภาเป็นอันดับหนึ่ง ได้เตรียมการให้นายณรงค์ วงวรรณ หัวหน้าพรรคเข้ารับตำแหน่ง แต่เนื่องจากมีเหตุผลบางประการทำให้นายณรงค์ วงวรรณ ไม่สามารถเข้ารับตำแหน่งได้ จึงทำให้พรรคพันธมิตร (พรรคสามัคคีธรรม, พรรคชาติไทย, พรรคกิจสังคม, พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร) สนับสนุนให้พลเอกสุจินดา คราประยูรขึ้น ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อมา พลเอกสุจินดา คราประยูร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งได้มีเสียงคัดค้านเป็นอย่างมาก เนื่องจากต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

พรรคร่วมฝ่ายค้าน และพรรคที่ไม่สนับสนุนให้คนกลาง หรือคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่ง อีกทั้งยังมีประชาชนเป็นจำนวนมากได้ชุมนุม เพื่อคัดค้านการดำรงตำแหน่งจากนายกรัฐมนตรี ของพลเอกสุจินดา คราประยูร โดยมีพลตรีจำลอง ศรีธรรม หัวหน้าพรรคพลังธรรม เป็นแกนนำในการคัดค้าน

มีการประท้วงหลายรูปแบบ เช่น พรรคฝ่ายค้านร่วมกันแต่งชุดดำเข้าสภาผู้แทนราษฎร เพื่อไว้ทุกข์ให้กับความไม่เป็นประชาธิปไตย และยังมีการถือตะเกียงเข้าสภาผู้แทนราษฎร โดยสมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคพลังธรรม หรือการอดอาหารของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง และประชาชนเป็นจำนวนมาก

ท้ายที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 พลตรีจำลอง ศรีเมือง นำกลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนจากท้องสนามหลวงมุ่งหน้าสู่รัฐสภา นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดเหตุการณ์ต่อสู้ปะทะ 4 วัน 4 คืน ประชาชนได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พลตรีจำลอง ศรีเมือง รวมทั้งนิสิต นักศึกษา และประชาชนนับพัน ถูกจับในเหตุการณ์นองเลือดครั้งนี้ และเหตุการณ์นี้ได้รับการขนานนามว่า ‘พฤษภาทมิฬ’

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬสงบลงได้เนื่องจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระบรมมาชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี และรัฐบุรุษ นำพลเอกสุจินดา คราประยูร และพลตรีจำลอง ศรีเมืองเข้าเฝ้ารับพระราชกระแสรับสั่งพร้อมกัน เพื่อแก้ไขสถานการณ์บ้านเมือง

ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2535 พลเอกสุจินดา คราประยูร ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยมี ชัย ฤชุพันธ์ รักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2535 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้ง อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้รัฐบาลของพลเอก สุจินดา คราประยูรสิ้นสุดลงอย่างสมบูรณ์

#หมู่บ้านทะลุฟ้า
#สุจินดา #จำลอง #พฤษภาทมิฬ #พฤษภา35

https://www.facebook.com/103185571243074/photos/a.133942808167350/328621972032765/

ขณะที่เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ก็ได้ร่วมรำลึก 29 ปี พฤษภาทมิฬ 35 ที่สวนสันติพร โดยระบุว่า

29 ปีที่แล้วประชาชนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ซึ่งเป็นการรัฐประหาร รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นำไปสู่การนองเลือด คาดว่ามีผู้เสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บ 1,700 คน

และมีรุ่นพี่ศิษย์รามคำแหงได้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้จำนวนไม่น้อยเราขอแสดงความเสียใจกับญาติและคนสนิทของผู้เสียชีวิตด้วยนะคะ

“รามคำแหง มหาลัยของประชาชน”

นอกจากนี้ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ยังเชิญชวนร่วมรำลึกถึงวีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภา 35 ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ เวลา 10.00 น. โดยจะมีการวางพวงหรีด และทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้แก่วีรชนผู้กล้าของมหาวิทยาลัยรามคำเเหง

ด้านกลุ่ม ลูกพ่อขุนฯโค่นล้มเผด็จการ ก็ได้ส่งตัวแทนกลุ่ม ร่วมวางช่อดอกไม้ รำลึก 29 ปี เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม โดยยังโพสต์ภาพรำลึกเหตุการณ์ พร้อมระบุข้อความด้วยว่า

แด่…มวลประชา ผู้กล้าท้าเผด็จการ
#29ปีพฤษภาทมิฬ
#ลูกรามไม่เคยถอยร่นอิทธิพลทมิฬใดๆ

https://www.facebook.com/RAMAGAINSTDICTATORSHIP/photos/a.108728057390103/140985870830988/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image