ผอ.แอมเนสตี้ฯ ไม่ลืม ‘น้องเฌอ’ ชี้นี่คือประเทศที่เวลา ‘ถอยหลัง’ เยาวชนเรียกร้องอนาคตโดนคดีอั้งยี่ซ่องโจร

ผอ.แอมเนสตี้ฯ ไม่ลืม ‘น้องเฌอ’ ชี้นี่คือประเทศที่เวลา ‘ถอยหลัง’ เยาวชนเรียกร้องอนาคตโดนคดีอั้งยี่ซ่องโจร

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ กลุ่ม People Go Network นัดหมายทำกิจกรรม ‘เปิดไฟให้ดาว Finale-LightUp Freedom
We have a Dream-เรายังฝันอยู่’

ในตอนหนึ่ง นางปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวในประเด็น ‘ฝันถึงสิทธิมนุษยชนที่เลือนหาย’ โดยย้อนเล่าถึงแคมเปญเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปกป้องนักปกป้องสิทธิ

นางปิยนุชกล่าวว่า ถ้านับจำนวนคนที่แสดงออกทางการเมืองแล้วถูกคุกคามทำร้ายโดยยืนเรียงกัน มีคนบอกว่าจากตรงนี้อาจยาวไปถึงถนนราชดำเนิน แต่ตนคิดว่ายาวกว่านั้น เสียดายว่าในวันนี้หลายคนยังถูกยังขัง หลายคนต้องออกไปจากประเทศตัวเอง หลายคนยังไม่ทราบชะตากรรม ทั้งนี้ ตนขอเล่าถึงเด็กชายคนหนึ่ง ก่อนรัฐประหารเขาอายุราว 12-13 ปี เป็นลูกชายของพี่ที่ทำงานซึ่งช่วงนั้นตนทำงานเป็นเอ็นจีโอ

Advertisement

นางปิยนุชกล่าวว่า พ่อของเขาทำงานกับเยาวชน เด็กคนนั้นมาคลุกคลีเสมอ ตนเรียกเด็กคนนั้นว่า ‘สุรเฌอ’ (นายสมาพันธ์ ศรีเทพ เยาวชนวัย 17 ปี เสียชีวิตจากการถูกยิงในเหตุการณ์สลายชุมนุมเสื้อแดง ปี 2553) ซึ่งเป็นคนแอ๊กทีฟมาก เวลาทำกิจกรรมต่างๆ จะคอยอยู่เป็นเพื่อน ช่วยเก็บอุปกรณ์ ต่อมา เขาสนใจกิจกรรมการเมือง โดยเข้าไปสังเกตการณ์จนหายจากบ้านไปนานๆ บางทีก็เห็นใน Hi5 บ้าง

นางปิยนุชกล่าวต่อว่า ต่อมาวันหนึ่ง ก่อนตนกำลังจะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ มีโทรศัพท์เข้ามาบอกว่าสุรเฌอโดนยิง อยู่ รพ.จุฬาฯ คนโทรเข้ามาร้องไห้ และวางสายไป ตนไม่มีโอกาสบอกลาหรือไปงานศพ หากเขายังอยู่ อายุตอนนี้จะราว 26-27 ปี เมื่อเห็นเยาวชนลุกขึ้นมาเรียกร้องในปีที่ผ่านมา ทำให้นึกถึงเขาเสมอว่าถ้ายังมีชีวิตอยู่จะเป็นอย่างไร เชื่อว่าเขาจะเรียกร้องในสิ่งที่ควรเป็น

จากนั้น นางปิยนุชกล่าวถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

Advertisement

“เราอยู่ในประเทศที่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีโดนคดี 112 หรือ 116 ถูกกล่าวหาในคดีอั้งยี่ ซ่องโจร เราอยู่ในประเทศที่เวลาย้อนหลัง ในฐานะองค์กรสิทธิ มองว่าพื้นที่การแสดงออกของประชาสังคมถูกบีบจนแทบไม่มีที่ยืน

“การรัฐประหารทำให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ต้องออกมา ขนาดบางคนเลือกตั้งครั้งแรก พรรคที่เลือกยังโดนยุบ พวกเขาต้องทิ้งความฝันออกมาเรียกร้องอนาคตตัวเอง แต่หลายคนลงเอยที่คุก แอมเนสตี้มีสมาชิกทั่วโลก เราไม่นิ่งเฉย วันนี้ประชุมออนไลน์กับกลุ่มเอเชียแปซิฟิก ทุกคนจุดเทียนให้ประเทศไทย นอกจากนี้เรายังมีแคมเปญร่วมกับแอมเนสตี้ทั่วโลก เรียกร้องสิทธิให้เยาวชนซึ่งต้องมีพื้นที่ปลอดภัยโดยเฉพาะเด็ก” นางปิยนุชกล่าว

จากนั้น นางปิยนุชอ่านข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ความว่า

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ในฐานะรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง เเละอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งรับรองสิทธิในการแสดงออกเเละการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบไว้ตามมาตรา 34 และ 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ดังนี้

– ยุติการดำเนินคดีทางการเมืองต่อเด็กเเละเยาวชนที่ออกมาใช้สิทธิในเสรีภาพการเเสดงออกเเละการชุมนุมโดยสงบ ทางการไทยต้องลดทอนความเป็นอาชญากรรมและนำเด็กตลอดทั้งเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

– ยุติการใช้ความรุนเเรงต่อเด็กและเยาวชนในที่ชุมนุมและภายหลังการชุมนุม และต้องประกันว่าการจับกุมเเละควบคุมตัวต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติ กระทำการเท่าที่จำเป็นเเละได้สัดส่วน เด็กหรือเยาวชนซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำอันไม่สอดคล้องต่อหลักการนั้น ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วนจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

– รัฐต้องเร่งดำเนินนโยบายคุ้มครองเด็กเเละเยาวชนซึ่งออกมาเเสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ทั้งการอบรมเจ้าหน้าที่ให้ตระหนักถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิที่จะได้รับการรับฟัง เเละสิทธิที่จะเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบของเด็ก  ตรวจสอบเเละทบทวนเเนวปฏิบัติในการควบคุมการชุมนุมให้สอดคล้องกับหลักการสากลอย่างเเท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image