ปลดฟ้าผ่า‘ธรรมนัส’ สะเทือน‘รบ.-พปชร.’?

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการต่อทิศทางของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังเกมโค่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจล้มเหลว จนก่อปัญหาความขัดแย้งส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน พ้นจากเก้าอี้

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี
นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ความขัดแย้งใน พปชร.เป็นเพียงหนังม้วนแรก โอกาสต่อไปจะต้องมีอะไรอีกมากตามมาอย่างแน่นอน เนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่คุมมหาดไทยขาลอยอยู่ในพรรค จะเห็นว่าก่อนการโหวตหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจะต้องใช้กำลังภายในพอสมควร นอกจากนั้นในพรรคยังมีรัฐมนตรีบางที่เคยอยู่กับ 4 ช. เปลี่ยนท่าทีนำคะแนน ส.ส.ในสังกัดช่วยโหวตให้ ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส น่าจะคุมเสียงไว้อย่างน้อย 30 ส.ส.ถึงที่สุดก็คงต้องออกไปจากพรรค

Advertisement

ส่วนการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 จะเห็นว่า ส.ส.จาก พปชร.ส่วนใหญ่โหวตรับร่าง สวนทางกับแนวคิดของ พล.อ.ประยุทธ์ที่มีท่าทีไม่ต้องการให้โหวตรับ ก็แสดงว่าในพรรคมีรอยปริร้าวยาวนานอย่างแน่นอน สืบเนื่องจากการปลด 2 รัฐมนตรี ซึ่งมาจากการเลื่อยขาเก้าอี้นายกรัฐมนตรี และ มท.1 ถ้าเป็นเรื่องอื่นคงยอมกันได้ ที่สำคัญก่อนหน้านี้ในพรรคเอง ก็เห็นว่ารัฐมนตรีบาง
คนที่มาจากโควต้ากลางของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องตั้งข้อสังเกตว่าทำไมไม่ดูแล ส.ส.

ขณะที่การทำงานการเมืองก่อนหน้านี้คงจำกันได้ว่าใครเริ่มต้นพูดถึงลิงกินกล้วย และจำเป็นต้องแจกกล้วยในการโหวตบางโอกาส เมื่อเป็นแบบนี้กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสก็คงคิดว่าน่าจะมีตำแหน่งที่สามารถดูแล ส.ส.รวมทั้งบริหารจัดการกับสนามการเมืองท้องถิ่นในการเลือกตั้งต่อไป ประกอบกับก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวว่า มท.1 อาจจะไปร่วมตั้งพรรคการเมืองกับปลัดกระทรวงบางรายที่กำลังจะเกษียณอายุราชการ เพื่อให้เป็นพรรคสำรอง ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ามีการกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานของพรรคแตกต่างกัน

หลังความขัดแย้งมองว่า พล.อ.ประวิตรยังเลือกสานสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง 3 ป. แต่กับ ร.อ.ธรรมนัสเชื่อว่ายังคงมีความเคารพนับถือเหมือนเดิม แต่สุขภาพของ พล.อ.ประวิตรไม่แน่ใจว่าจะเป็นแกนนำหลักในอีกหลายเรื่องได้อีกหรือไม่ ดังนั้นหากจะมองว่าพรรคใหม่ของ ร.อ.ธรรมนัสจะชูภาพของ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องดูว่าจะเป็นจุดขายทางการเมืองในอนาคตได้จริงหรือไม่

Advertisement

สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ถูกมองว่ามีอำนาจที่แท้จริงภายในพรรค แต่การเปลี่ยนแปลงจากการปลด 2 รัฐมนตรีในครั้งนี้ เป็นสถานการณ์เฉพาะ หลังจากนี้จะมีโอกาสทำงานไม่ครบวาระ 4 ปี เพราะเชื่อว่าฝั่ง ร.อ.ธรรมนัสคงจะไม่อยู่เฉย และน่าสนใจว่าหลังจากนี้ ต้องติดตามว่า พล.อ.ประวิตรยังมีใจสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เต็มร้อยหรือไม่ แม้ว่าพี่น้องจะไม่หักกัน

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์จะตัดสินใจทิ้งไพ่ด้วยการเลิกสืบทอดอำนาจหรือไม่ ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ชนชั้นนำจะมีตัวเลือกอื่นที่เหมาะสมมากกว่านี้ เป็นตัวเลือกอีกหรือไม่ แต่ส่วนตัวประเมินว่าพล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐขายได้ยาก ดังนั้นหากจะอยู่ต่อก็ต้องพยายามสร้างแบรนด์ใหม่ด้วยตัวเอง และเชื่อว่าหลังจากนี้การเมืองจะเข้มข้นมาก มีโอกาสที่พลังประชารัฐจะแตกออกหลายมุ้ง

ที่แน่ๆ คือ ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์มีแนวโน้มจะออกจากพรรค รวมทั้งกลุ่มที่อพยพมาจากพรรคเพื่อไทย ขณะที่ผลจากกติกาใหม่จากการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็คงทำให้พรรคการเมืองต้องปรับตัวพอสมควร

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การเมืองภายในพรรคเฉพาะกิจ ตั้งมาสืบทอดอำนาจก็ต้องมีการแผลงฤทธิ์
บ้างเป็นเรื่องปกติ ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น แต่นายกรัฐมนตรีก็พยายามแสดงให้เห็นว่ามีความเด็ดขาด ใครอย่าคิดมาเล่นอะไรแบบนี้อีก อย่าต่อรอง และอย่าพยายามมองว่า
นายกรัฐมนตรีจะอยู่เหนือกว่า พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่ขอให้มองโลกในความเป็นจริง หรือถ้ามองย้อนไปในอดีตหลังจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจปลด พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ก็ต้องการพิสูจน์ว่าใครคือศูนย์กลางอำนาจที่แท้จริง

การปลด 2 รัฐมนตรีเป็นเพราะอำนาจทางการเมืองของจริงอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนเดียวที่จะปรับ ครม.ยุบสภาหรือลาออก ที่ผ่านมาพยายามเน้นในจุดนี้ ส่วนตัวเคยบอกหลายครั้งว่าการเมืองในขณะนี้ อยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติ แค่คนส่วนใหญ่ชอบลืม เอาการเมืองในภาคปกติมาเทียบเคียง วันนี้อำนาจที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ผู้แทนหรือ ส.ส.เป็นผู้กำหนด เชื่อว่าหลังจากนี้จะยังไม่มีการยุบสภา

ส่วนที่มองว่าจะมีใครจะถูกปลดเพิ่ม หลังจากปลด 2 รัฐมนตรีอีกหรือไม่ นายกรัฐมนตรียังกวาดตามองเพื่อดูว่าใครจะมีปฏิกิริยาอะไร แล้วอย่าไปมองว่ารัฐบาลหรือ ครม.จะต้องมีผลกระทบ แต่หลังจากปลดแล้วผลดีเกิดขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อทำให้เห็นว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เพราะก่อนหน้านี้คงไม่มีใครคิดว่านายกรัฐมนตรีจะเล่นแรงขนาดนี้ในพรรคที่หนุนตัวเอง เรื่องนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าใครคือของจริงที่เหนือกว่า และบางคนที่เคยถูกใช้งานในพรรคแล้วเห็นว่าทำงานดี เมื่อเวลาผ่านไปบุคคลนั้นอาจจะไม่ใช่เบอร์ 1 ที่ผู้มีอำนาจในพรรคไว้วางใจเสมอไป จากนี้จะต้องดูท่าทีของ ส.ส.กลุ่มอื่นในพรรค จะมีกลุ่มไหนต้องการท้าทายการถืออำนาจตามกฎหมายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีอานุภาพเหนือกว่าผู้ที่เป็นนายทุนพรรค

การใช้ยาแรงอาจจะต้องยุติบทบาททางการเมืองหลังจากนี้หรือไม่ จะต้องรอดู แต่การเมืองที่ไม่ปกติคงไม่ต้องวิเคราะห์ไปไกลมาก เชื่อว่าในบรรดา 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ยังมีศักยภาพเหนือกว่าบุคคลอื่นในความน่าเชื่อถือของประชาชน ส่วนฐานทางการเมืองที่เคยสนับสนุนแล้วถูกหักลำ ก็อย่าคิดว่าต่อไปอาจจะไม่มีใครต้องการร่วมงานอีก เพราะนายกรัฐมนตรีมีที่มาจากการยึดอำนาจ ในทางการเมืองเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ต้องการร่วมงานเป็นพรรครัฐบาล

สำหรับท่าทีของ ร.อ.ธรรมนัส การทำงานการเมือง หากจะเปลี่ยนขั้วเร็วเกินไปก็จะกระทบกับความน่าเชื่อถือพอสมควร ต้องดูด้วยว่าหลังจากไม่มีหลังพิงรัฐบาลแล้วข้าราชการจะเกรงใจเหมือนเดิมหรือไม่ กลุ่มพลังต่างๆ จะสนับสนุนหรือไม่ การเปลี่ยนแปลงสถานะของ ร.อ.ธรรมนัส ก็ทำให้ฝ่ายค้านเห็นว่าการอภิปรายในเชิงยุทธศาสตร์ไม่คาดคิดว่าจะได้ผลเร็วจากการเขย่ารัฐบาล

อย่างไรก็ไม่ได้เสียเหลี่ยมกลับบ้านมือเปล่า แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัส จะไม่มีชื่อในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา

พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เชื่อว่ารัฐมนตรีที่ถูกปรับออกมีเพียง 2 ราย หากปรับออกไปมากกว่านี้ก็จะสร้างแรงกระเพื่อม สำหรับเหตุผลที่ต้องปรับ ร.อ.ธรรมนัส และ คุณนฤมล ออกไป ก็เป็นเหตุ ผลหลักที่สืบเนื่องมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจและจากการติดตามความเคลื่อนไหวที่แนวคิดจะล้ม พล.อ.ประยุทธ์ มีต่อเนื่อง แต่มาปะทุช่วงการอภิปรายเพราะว่าเป็นช่วงจังหวะที่จะแสดงอำนาจหรือพลังของ ส.ส.ได้อย่างชัดเจน เพื่อหวังสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

วันนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ยังมีบารมีในพรรค เนื่องจากเป็นหัวหน้าพรรค ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ไม่เกี่ยวกับพรรคโดยตรง แต่เชื่อว่าต่อไปการทำงานคงยากขึ้นเพราะเพลย์เมกเกอร์อย่าง ร.อ.ธรรมนัส คงหมดกำลังใจ คงจะเตรียมไปทำงานการเมืองรูปแบบใหม่ที่เป็นของตนเอง ประกอบกับใน พปชร.ยังมีกลุ่มที่ใกล้ชิดเป็นสายตรงกับนายกรัฐมนตรี เช่น คุณสันติ พร้อมพัฒน์ คุณสุชาติ ชมกลิ่น กลุ่มนี้ก็คงห่างจาก พล.อ.ประวิตร ที่แต่เดิมเชื่อมโยงกับกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ขณะที่ 2 กลุ่มมีความขัดแย้งระหว่างกัน

จึงส่งผลต่อบทบาทของ พล.อ.ประวิตร การทำงานในพรรคอาจจะแตกต่างจากเดิม เพราะมีแกนนำพรรคจำนวนหนึ่งไปต่อสายตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ หากต้องการรักษาตำแหน่งใน ครม.ก็ต้องยึด พล.อ.ประยุทธ์เป็นหลัก เพียงแต่ยังมีปมปัญหาว่าอาจจะไม่ได้เล่นการเมืองในคราวต่อไป ก็อาจทำให้ ส.ส.กลุ่มนี้ต้องคิดหนักพอสมควรว่าจะตัดสินใจอย่างไรสำหรับอนาคตที่ยาวไกลมากกว่านี้ แต่ในช่วงสั้นๆ ต้องยอมรับว่ายังมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของบุคคลใน พปชร.หากยังต้องการมีอำนาจหน้าที่ใน ครม.ต่อไป

สำหรับเสถียรภาพของรัฐบาลเหตุผลหลักมาจากความขัดแย้ง ในบรรดารัฐมนตรีจะเห็นว่า ร.อ.ธรรมนัส ที่ผ่านมาทำงานถึงลูกถึงคน ลงไปแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทำให้รัฐบาลมีผลงาน เมื่อขาด ร.อ.ธรรมนัส โอกาสที่จะมีรัฐมนตรีรายอื่นไปทำงานแทนก็อาจจะไม่มีประสิทธิผลเหมือนกับสิ่งที่ ร.อ.ธรรมนัส ทำไว้

พปชร.ก็ส่อแววจะแตกอย่างแน่นอน กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัสประมาณ 20-30 เสียง ก็คงเตรียมจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ต่อไป ส่วน พล.อ.ประยุทธ์หากจะมองว่าหลังจากนี้จะไปดึง 4 กุมารในกลุ่มแทคโนแครตกลับมาร่วมงานอีกหรือไม่ เชื่อว่าคงไม่มีใครต้องการมาร่วมงานอีก เนื่องจากสถานะค่อนข้างแกว่งพอสมควร บางช่วงก็ตอบสนองความต้องการของพรรคที่สนับสนุนตัวเอง แล้วเอาเทคโนแครตออกไป ดังนั้นจึงไม่มีใครต้องการเข้ามาร่วมทำงานอีก

นายกรัฐมนตรีจะหลีกเลี่ยงการปรับ ครม.เพราะไม่ต้องการให้มีปัญหาเพิ่มและต้องรักษาระดับแรงกระเพื่อมให้อยู่ในขอบเขต ส่วนอนาคตข้างหน้า พล.อ.ประยุทธ์อาจจะประคองตัวไปอีกระยะแล้วตัดสินใจยุบสภาเร็วกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้ ส่วนที่มองว่าบารมีของ พล.อ.ประยุทธ์จะโดดเด่นมากกว่า 2 ป.หรือไม่ ก็น่าจะมีสาเหตุจากพลเอกประยุทธ์ไม่แคร์กับฐานการเมืองที่เข้ามาสนับสนุน

ถ้าหากจับสัญญาณความเคลื่อนไหวอีกหลายมุ้งใน พปชร. แกนนำทั้งหลายก็คงมีการประเมินสถานการณ์ไว้แล้วว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไร และคงเลือกอยู่ในพรรคที่จะได้มีโอกาสได้เป็นรัฐบาลอีก

หาก พล.อ.ประวิตรยังเล่นการเมืองต่อไปยังมีทรัพยากรเพียงพอก็มีความเป็นไปได้ที่อยู่ใน พปชร. ยกเว้นว่าถอยออกไป พรรคก็จะแตกแน่นอน ซึ่งเป็นปกติของพรรคเฉพาะกิจที่จะมีผู้นำมาชูโรงสักระยะเพื่อสืบทอดอำนาจ เมื่อผู้นำมีแนวโน้มที่จะออกจากการเมืองในระบบเลือกตั้ง พรรคเหล่านี้ก็ล่มสลายแบบเดิมๆ มีให้เห็นในอดีต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image