‘นพ.วิชัย’ ชี้ อานิสงส์ 14 ตุลา ได้ รธน.เอื้อสาธารณสุข-ยัน ลงหลักปชต. ต้องใช้นิติรัฐ-รัฐที่มีศักยภาพ

‘นพ.วิชัย’ ปาฐกถา ชี้ อานิสงส์ 14 ตุลา ได้ รธน. เอื้อสาธารณสุข – ยัน ลงหลัก ปชต. ต้องใช้นิติรัฐ – รัฐที่มีศักยภาพ

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), มูลนิธิ 14 ตุลา และ 30 องค์กรประชาธิปไตย ร่วมจัดงานรำลึกและปาฐากถา 14 ตุลา ประจำปี 2564 โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น “ช่วงเช้า” ทำบุญ กล่าวรำลึก และปาฐกถา ต่อด้วย “ช่วงบ่าย” วงเสวนาในวาระครอบรอบ 48 ปี 14 ตุลา

อ่านข่าว

เวลา 10.40 น. ที่ห้องประชุมด้านหลังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา กล่าวปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2564 ในหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า 14 ตุลา 2516 : ในสถานการณ์โควิด-19”

ทั้งนี้ ก่อนเริ่มกล่าวปาฐกถา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มอบของขวัญ เป็นเหรียญ และหนังสือ ให้แก่ นพ.วิชัย

Advertisement

นพ.วิชัยกล่าวปาฐากถาว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในขั้นรุนแรงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 ทำให้การเตรียมการเพื่อจัดงานรำลึก 14 ตุลาปีนี้ประสบปัญหาและทำใหตน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา ต้องมาเป็นปาฐกถาด้วยตนเอง โดยคณะกรรมการมูลนิธิเห็นพ้องกันกับแนวคิดที่จะพูดถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เชื่อมโยงกับ 14 ตุลา

โควิด-19 ระบาดประปรายในประเทศจีนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 โดยโรคนี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน คล้ายโรคซาร์ส ซึ่งแพร่ระบาดเมื่อ พ.ศ.2545-2546 สัตว์ที่เป็นรังโรคคือค้างคาว เพราะลักษณะพันธุกรรมเชื่อมโยงกัน คนไข้รายแรกที่ยืนยันได้ เรียกว่า คนไข้หมายเลข 0 สืบย้อนไปได้ถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2562 เชื้อโรคนี้เป็นเชื้อไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดอาการต่อระบบหายใจคล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่มีอาการรุนแรงจะมีภาวะปอดบวม ที่เรียกว่า ปอดบวมนอกแบบ ซึ่งสามารถลุกลามทําลายปอดได้ อย่างรวดเร็ว จนระบบหายใจล้มเหลว ทําให้เสียชีวิตได้

มนุษย์ต้องหายใจเข้าออกวันละประมาณ 2 หมื่นครั้ง โอกาสติดโรคจึงมีสูงและโรคก็แพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ทําให้มีผู้ติดเชื้อแล้วนับร้อยล้าน และเสียชีวิตไปแล้วหลายล้าน ทั้งนี้เพราะเชื้อโรคไม่รู้จักคําว่าพรมแดน โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การเดินทางติดต่อถึงกันเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก

Advertisement

โรคนี้เริ่มแพร่ระบาดในนครอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีนโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบทางเดิน หายใจพบผู้ป่วยเริ่มจาก 3 รายในครอบครัวเดียวกัน เข้าลักษณะเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่และพบเพิ่มขึ้นเข้าลักษณะ “การระบาด” (Outbreak) ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2562 และจีนได้รายงานอย่างเป็นทางการต่อองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2562 พอถึงวันที่ 3 มกราคม 2563 ก็พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 44 คน พอถึงวันที่ 18 มกราคม 2563 ก็เพิ่มเป็น 204 คน จนในที่สุดจีนประกาศปิดนครอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563 ต่อมามีผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มเป็นหลักหมื่นและตายหลักพัน แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขติดเชื้อกว่า 3 พันคน เสียชีวิตไปในช่วงนั้น 23 คน รวมผู้ติดเชื้อในจีนจนถึงปลายเดือนกันยายน 2564 จํานวน 95,894 คน เสียชีวิต 4,636 คน ถือว่าจีนประสบความสําเร็จอย่างสูงในการควบคุมและป้องกันโรค

“สําหรับประเทศไทย เกือบตลอดปี 2563 เราประสบความสําเร็จอย่างสูงในการแก้ปัญหาโรคระบาดนี้ และส่วนหนึ่งซึ่งมีความสําคัญไม่น้อย เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ความสําเร็จของประเทศไทยเริ่มจากเราสามารถตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่เข้ามาในประเทศ ก่อนประเทศใดในโลก โดยตรวจพบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 และสามารถตรวจพบเชื้อไวรัสต้นเหตุของโรค โดยประกาศอย่างเป็นทางการได้เมื่อวันจันทร์ที่ 13 มกราคม 2563

ประเทศที่เจริญก้าวหน้ากว่าประเทศไทยมาก เช่น อังกฤษ อิตาลี และสหรัฐฯ พบการแพร่ระบาดของโรคนี้เมื่อโรคแพร่ไปอย่างกว้างขวางเข้าไปยังกลุ่มประชากรเปราะบาง คือคนสูงอายุและผู้มีโรคประจําตัวจํานวนมาก ทําให้มีผู้ป่วยหนักต้องเข้าโรงพยาบาลจนโรงพยาบาลรับมือไม่ไหว และเสียชีวิตจํานวนมาก ไม่มีประเทศใดในกลุ่มนี้ และน่าจะไม่มีประเทศใดในโลก ที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกที่เข้าไปในประเทศจากที่ สนามบิน ส่วนมากจะพบเมื่อล้มป่วยและเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลแล้วแทบท้ังสิ้น

การที่เราสามารถพบผู้ติดเชื้อรายแรกจากสนามบิน เพราะหัวหน้าทีมแพทย์ที่ตรวจพบเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถสูง ตั้งใจและทุ่มเททํางานอย่างมืออาชีพ นายแพทย์ผู้นี้ พบผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ได้นําตัวขึ้นรถไปยังโรงพยาบาลบําราศนราดูร swab เชื้อด้วยตนเอง นําส่งห้องแล็บ 3 แห่ง ที่มีการเตรียมการประสานงานไว้ล่วงหน้า และนักวิทยาศาสตร์ของเราสามารถตรวจพบเชื้อและถอดรหัสพันธุกรรมยืนยันได้ว่าเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่แพร่ระบาดในจีน ทําให้เราสามารถแถลงได้ด้วยความมั่นใจ และดําเนินมาตรการควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรัดกุม จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดีเกือบตลอดปี 2563 ความสําเร็จของประเทศไทยในงานนี้ ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากเหตุการณ์วันที่ 14 ตุลาคม 2516” นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิชัยกล่าวถึงอานิสงส์จาก 14 ตุลา 2516 ว่า ประเด็นสําคัญที่จุดประกายนําไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 คือการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรกที่มีหมวดว่าด้วย แนวนโยบายแห่งรัฐ คือ ฉบับ พ.ศ.2492 ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 72 ดังนี้

มาตรา 72 รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุขตลอดถึงการมารดาและทารกสงเคราะห์ การป้องกัน และปราบปรามโรคระบาดรัฐจะต้องกระทําให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า ความในมาตรานี้ ยังคงไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 43 แต่ในฉบับ พ.ศ.2511 คงเหลือสั้นๆในมาตรา 69 รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุขเท่านั้น

“หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 พวกเราในสายสาธารณสุขได้พยายามผลักดันจนได้บทบัญญัติในมาตรา 92 ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2517 ดังนี้ มาตรา 92 รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุขตลอดถึงการอนามัยครอบครัวและพึงคุ้มครองสุขภาพของบุคคล และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยรัฐพึงให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า การป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตราย รัฐจะต้องกระทําให้แก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่า นับว่าเราสามารถนําสาระสําคัญเรื่องการป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตราย ให้รัฐต้องกระทําแก่ประชาชนโดยไม่คิดมูลค่ากลับคืนมาได้ และยังเพิ่มเรื่องการให้การรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่าด้วย ซึ่งสําหรับพวกเราชาวสาธารณสุขแล้วหลักประกันเหล่านี้นับว่ามีความสําคัญมาก

น่ายินดีที่สาระสําคัญเหล่านี้ ยังคงปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มาทุกฉบับ โดยมีเนื้อหาสาระบางประการเพิ่มเติมขึ้นด้วย ได้แก่ ฉบับ พ.ศ. 2521 อยู่ในมาตรา 69 และ 73; ฉบับ พ.ศ. 2534 อยู่ในมาตรา 79 และ 83; ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2538 อยู่ในมาตรา 87 และ 89; ฉบับ พ.ศ.2540 อยู่ใน มาตรา 52 และมาตรา 82; ฉบับ พ.ศ. 2550 อยู่ในมาตรา 51 และมาตรา 80(2) และฉบับ พ.ศ. 2560 อยู่ใน มาตรา 4 มาตรา 47 มาตรา 55 และมาตรา 258 ช(4)(5) ดังนี้

มาตรา 4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง ประชาชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน

มาตรา 47 บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ

บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสีย ค่าใช้จ่าย

มาตรา54 รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงเสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคและส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด

บริการสาธารณสุขตามวรรคหนึ่ง ต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุม และป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย รัฐต้องพัฒนาการบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มาตรา 258 ให้ดําเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผลดังต่อไปนี้

ด้านอื่นๆ

(4) ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการ เข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน

(5) ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลประชาชนใน สัดส่วนที่เหมาะสม”

“สาระสําคัญในเรื่องการส่งเสริมการสาธารณสุข การรักษาพยาบาลผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่า และให้เป็นหน้าที่ของรัฐในการควบคุมและป้องกันโรคติดต่ออันตรายโดยไม่คิดมูลค่าเป็นหลักประกันทําให้ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชนสามารถผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข ระบบการเงินการคลัง และระบบการป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง จนเกิดเป็นสวัสดิการสังคมที่สร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนถ้วนหน้าได้อย่างมีคุณภาพ เข้มแข็งและยั่งยืน เป็นที่ยอมรับและยกย่องไปทั่วโลก และเมื่อเกิดภัยพิบัติร้ายแรงอย่างโควิด-19 ระบบก็สามารถทํางานได้อย่างดียิ่งยาวนานเกือบตลอดปี 2563” นพ.วิชัยกล่าว

นพ.วิชัยกล่าวว่า ผลพวงจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในด้านการสาธารณสุขนอกจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่สร้างผลทั้งระยะสั้นและระยะยาวสืบต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้แล้ว รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งเป็นรัฐบาลพระราชทานให้เข้ามาปกครองประเทศ ยังได้ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารกระทรวงสาธารณสุขครั้งใหญ่ที่สําคัญที่จะต้องกล่าวถึงคือ

1. การรวมงานด้านการรักษาและป้องกันเข้าไว้ด้วยกันอยู่ภายใต้สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทําให้เกิดเอกภาพขององค์กรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค สามารถทํางานได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

2.การตั้งกรมควบคุมโรคติดต่อจากเดิมเป็นงานในระดับกอง ทําให้เกิดองคาพยพที่เพียงพอในการต่อสู้เอาชนะโรคติดต่อที่นับวันจะอุบัติขึ้นใหม่ และแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นตามความเจริญของการเดินทางทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ทําให้เราสามารถต่อสู้เอาชนะโรคระบาดร้ายแรง เช่น เอดส์, ไข้หวัดนก, ซาร์ส, เมอร์ส, ไข้หวัดใหญ่ 2009 และไวรัสซิก้ามาได้อย่างต่อเนื่อง

สําหรับบทบัญญัติด้านสาธารณสุขในรัฐธรรมนูญ 2517 เป็นข้ออ้างอิงสําคัญในการทํางานสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบสาธารณสุข ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรมเพิ่มพูนขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รูปธรรมแรก คือ นโยบายรักษาฟรีและนโยบายสร้างโรงพยาบาลอําเภอให้ครบทุกอําเภอในประเทศไทยของรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเป็นรัฐบาลแรกที่ผ่านการเลือกตั้งและได้เข้าบริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517

นโยบายรักษาฟรีทําให้งบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โรงพยาบาลอําเภอที่เคยได้รับงบประมาณค่ายาปีละ 1 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 4 แสนบาท เป็นการเพิ่มขึ้นถึง 40 เท่า หรือ 4 พันเปอร์เซนต์อย่างฉับพลันทันที ทําให้ประชาชนคนยากจนได้ประโยชน์อย่างมาก นับเป็นนโยบายที่โดนใจประชาชนอย่างยิ่ง ทําให้ทุกรัฐบาลต่อมานอกจากไม่กล้าล้มเลิกนโยบายนี้แล้ว ยัง เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือมีการพัฒนาระบบจนกลายเป็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบบัตรทองที่ครองใจประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นระบบที่ได้รับยกย่องอย่างสูงจากนานาอารยประเทศ รวมทั้งองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ ตลอดจนนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอย่างอมาตยา เซน

นพ.วิชัยกล่าวต่อว่า ระบบบัตรทองนอกจากเป็นหลักประกันสุขภาพพื้นฐานให้ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จําเป็นที่มีคุณภาพและมาตรฐานได้โดยปราศจากกําแพงเงินขวางกั้น ไม่ว่าจะเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายที่ต้องรักษาด้วยราคาแพงเพียงใด โดยสามารถบริหารจัดการระบบได้อย่างมีธรรมาภิบาล นั่นคือนอกจากเป็นผลดีแก่ประชาชนอย่างชัดเจนแล้วยังมีประสิทธิภาพสูง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารระบบอย่างมีนัยสําคัญทุกขั้นตอน มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางเป็นประจําทุกปี เมื่อโควิด-19 ระบาด ระบบบัตรทองสามารถเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ตั้งแต่ต้นโดยอ้างอิงบทบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญในฉบับ พ.ศ. 2517 ที่ยังมีเนื้อหาเช่นเดียวกันอยู่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 47 วรรคสาม

“บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัด โรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

สําหรับประเทศไทย ความเชื่อและความฝันของคนที่ออกมาแสดงเจตนารมณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนตุลาคม 2516 หลายสิ่งปรากฏเป็นจริง สังคมไทยมีความเจริญพัฒนาขึ้นมาก แต่หลายส่วนยังต้องการ การพัฒนาต่อไปโดยเฉพาะระบบการเมืองการปกครองที่ยังอยู่ในวังวนของวงจรอุบาทว์ที่ทําให้ประเทศไทยยังติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ที่ช่องว่างรายได้ของประชาชนยังห่างกันมาก ระบบเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาแรงงานราคาถูก สวัสดิการแรงงานต่ำ ความเป็นอยู่ของคนจํานวนมากยังต้องอยู่ในที่แออัด สุขอนามัยไม่ดี และยังต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจนอกระบบอันนําไปสู่อาชญากรรม ทําให้คนจํานวนมากต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจําที่ไร้อิสรภาพ แล้วยังต้องอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียดอย่างมาก

“ชัดเจนว่า ความฝันวันที่ 14 ตุลา 2516 หลายอย่างเป็นจริงแล้ว หลายอย่างยังไม่เป็นจริงโดยเฉพาะระบบการเมืองการปกครองที่ยังอยู่ในวังวนของวงจรอุบาทว์ที่นําพาประเทศไทยเดินทางมาถึงปากเหว หรือ จุดพลิกผัน (Tipping points) ที่ ดร. วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่งเตือนไว้ถึง 7 ปัญหาใหญ่ ได้แก่

1.ภาครัฐที่โตจนเกินไป และเป็นอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนา
2.ความเหลื่อมล้ำ
3.ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
4.ความเห็นที่แตกต่างอย่างมากระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า
5.ระบบการศึกษาที่ล้าหลัง
6.ความล้าหลังด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี
7.ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น

ในขณะที่สมรรถภาพของภาครัฐ ที่วัดจากผลงานด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 จากการประเมินของนิกเกอิเอเชีย เราอยู่ในอันดับ 119 จาก 120 ประเทศ คงไม่สามารถตั้งความหวังกับ คนเดือนตุลา ได้มากนัก เพราะส่วนมากอยู่ในวัยชรา หลายคนอ่อนล้าและสังขารร่วงโรย ความหวังคงต้องอยู่กับคนรุ่นใหม่เป็นหลัก ความหวังที่พอจะตั้งได้สําหรับคนเดือนตุลาคือทําอย่างไรจะยุติความแตกแยก กลับมาผนึกกําลังเพื่อเป็นแรงหนุนให้คนรุ่นใหม่รับไม้ต่อต่อไป” นพ.วิชัยกล่าว

จากนั้น ต่อด้วย ปัจฉิมกถา โดย นางสุรัสวดี กรรมการมูลนิธิ 14 ตุลา กล่าวปาฐากถา แทน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งติดภารกิจสำคัญ

สำหรับปาฐกถา ความว่า จิตวิญญาณ 14 ตุลาคม คือจิตวิญญาณของคนหนุ่มสาวและประชาชน ที่แสวงหาการเปลี่ยนแปลงการเมืองของไทย ประธานมูลนิธิ ได้ฉายภาพอย่างน่าสนใจว่า ผลพวง 14 ตุลาคม 16 ยังส่งผลต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ในการแก้ปัญหาโควิด-19 ในปี 2563 ที่ส่วนหนึ่งล้วนเป็นผลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม เริ่มจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ จนได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติก้าวหน้า ที่รัฐต้องป้องกัน ปราบปรามโรคอันตราย และรักษาผู้ยากไร้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

งานปาฐกถายังชี้ให้เห็นว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ปรากฏผลในภายหลัง หลังจากรัฐบาลนายคึกฤทธิ์ ปราโมช มีนโยบายสร้างโรงพยาบาลครบทุกอำเภอ และต่อมานายทักษิณ ชินวัตร ได้ต่อยอดระบบบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า เหล่านี้คือรากฐานในโครงสร้างด้านสุขภาพที่ทำให้ไทยสามารถรับมือโควิด-19 ในปี 2566 ประชาธิปไตย จึงเป็นสิ่งที่กินได้ ด้วยสวัสดิการประชาชน ซึ่งสวัสดิการส่วนใหญ่ที่สำคัญ เกิดขึ้นในช่วงที่การเมืองเป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม ลำพังประชาธิปไตยไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงได้ โดยเฉพาะจากการคุกคามของรัฐ ที่สำคัญประชาธิปไตยได้เสื่อมถอยนับแต่รัฐประหาร 2557 ซึ่งกระทบเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล

“ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ทั้งเศรษฐกิจ น้ำท่วม โรคระบาดใหม่ ตลอดจนความเสี่ยงอื่นๆ มากมาย เราต้องหารัฐบาลที่มีความสามารถในการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในขณะที่ไม่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ หรือสร้างความเสี่ยงเสียเอง การมีรัฐบาลที่ตอบสนองประชาชน จึงจำเป็นที่ประเทศไทยต้องกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง และลงหลักปักฐาน รัฐจะตอบสนองได้เพียงใด ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถของภาครัฐ

ต้องมีระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่การป้องกันไม่ให้รัฐละเมิดสิทธิ หรือสร้างความเสี่ยงเสียเอง ก็ต้องสร้างหลักประกันของการมี ‘นิติรัฐ’ ลำพังการมีประชาธิปไตย ไม่พอในการแก้ไขโควิด-19 ในขณะที่กลไกในการรับมือของสหรัฐเอง อ่อนแอลงจากการที่ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซงหน่วยงานที่สำคัญ ที่เคยเป็นอิสระ ตัวอย่างของจีน ชี้ให้เห็นในทางตรงกันข้ามว่า การขาดประชาธิปไตยและนิติรัฐ นำมาสู่การปิดกั้นข่าวสาร ทำให้โรคระบาดหายไปโดยรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการแพทย์จีน ควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จากการปิดเมือง ติดตาม-ควบคุมผู้ติดเชื้ออย่างใกล้ชิด แต่ก็แลกมาด้วยการเสียเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง

การถดถอยของประชาธิปไตย และความอ่อนแอของระบบราชการ ทำให้การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ และสังคมแก่ประชาชน เต็มไปด้วยปัญหา ทั้งมาตรการที่ไม่ตรงจุด ไม่คำนึงถึงความรู้สึหของประชาชน ทำให้เกิดความสูญเสียขนานใหญ่

14 ตลุาคม ช่วยสร้างประชาธิปไตยให้ไทย เราจึงต้องสืบสานจิตวิญญาณ เพื่อให้ประชาธิปไตยกลับมาอีกครั้ง ขณะเดียวกัน เราต้องตระหนักว่า การที่จะลงหลักปักฐานประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคง ต้องการ ‘นิติรัฐ และรัฐที่มีขีดความสามารถสูง ควบคู่ไปด้วย” นางสุรัสวดีกล่าว

จากนั้น เวลา 12.11 น. ผู้ร่วมกิจกรรม นำโดย มูลนิธิ 14 ตุลา ถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image