วงเสวนาเดือด! เทียบ มช.ย้อนยุคกว่ากรีกโบราณ อยากเป็น ‘เด็กดี’ ของรัฐเผด็จการ

วงเสวนาเดือด! เทียบ มช.ย้อนยุคกว่ากรีกโบราณ อยากเป็น ‘เด็กดี’ ของรัฐเผด็จการ

เมื่อวันที่ วันที่ 17 ตุลาคม เวลาประมาณ 16.00 น. ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักศึกษาสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานเสวนา ‘ทวงคืนหอศิลป์ ทวงคืนเสรีภาพ! ร่วมรับฟังประสบการณ์แห่งภราดรภาพ เพื่อทวงคืนเสรีภาพและความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์จากหลายมุมมอง’ ดำเนินรายการโดยนายศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่อยากที่จะผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่สากล แต่ในการกระทำต่อนักศึกษาที่เกิดขึ้นกลับย้อนแย้งกับสิ่งที่มหาวิทยาลัย อยากจะเป็นนักศึกษาจ่ายเงินเข้ามาเรียนในสถาบัน แต่นักศึกษาอยู่ตรงไหนของสถาบันแห่งนี้

“สิ่งที่นักศึกษาทำในวันนี้มันจะเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในการยืนยันสิทธิของตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมากับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะ มช. มันชวนให้ตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยเป็นของใคร รับใช้ใคร และนักศึกษาอยู่ตรงไหนของมหาวิทยาลัย คือพวกคุณจ่ายเงินเข้ามาเรียน ไม่ได้มาขอทานความรู้ แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยปฏิบัติกับนักศึกษามีเดียอาร์ตมันสะท้อนคำถามใหญ่เลยว่าตกลงนักศึกษาอยู่ตรงไหนในสถาบันอุดมศึกษานี้ ชนชั้นนำที่กุมทิศทางของ มช.ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมามีความกระหายอยากที่จะทำสองเรื่อง เรื่องแรกคืออยากจะพาสถาบันไปอยู่แนวหน้า ไปแข่งขันกับสถาบันอื่นๆ อยากแซงหน้าหนึ่งในเก้าสถาบันที่มีชื่อเสียง อยากจะ Globalize”

“สองคืออีกด้านหนึ่งมหาวิทยาลัยก็อยากจะเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ อยากที่จะเป็นแขนขาของอำนาจนิยม เปลี่ยนมหาวิทยาลัยให้เป็นพื้นที่ของการถูกตรวจตราควบคุม อย่างกรณีของนักศึกษาที่ถูกเซ็นเซอร์ผลงานตอนนี้ ดิฉันไม่คิดว่าประยุทธ์สั่งมาแต่เป็นสิ่งซึ่งอยากทำเองเพื่อที่จะชี้หรือแสดงจุดยืนให้เห็นว่าเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ สิ่งที่สังคมข้างนอกรัฐเผด็จการทำอย่างไรก๊อบปี้และเลียนแบบเอามาทำ เพื่อที่จะจำกัดและกำจัดเสรีภาพการแสดงออกของคณาจารย์และนักศึกษา ปัญหามันคือทิศทางของสองข้อนี้มันไปด้วยกันไม่ได้ คุณอยากที่จะ Globalize แสดงให้เห็นว่าคุณเจริญ แต่ในขณะเดียวกันคุณก็อยากจะเป็นเด็กดีของรัฐเผด็จการ สองทิศทางนี้มันขัดแย้งและย้อนแย้งกันเอง” รศ.ดร.ปิ่นแก้วกล่าว

Advertisement

นายมิตร ใจอินทร์ ศิลปินล้านนานานาชาติ กล่าวว่า เรายึดครองพื้นที่เพื่อจะเอามาใช้เป็นพื้นที่ทางศิลปะและเราก็เห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นพวกหน้าไว้หลังหลอก การใช้พื้นที่แค่ใช้ในการโต้เถียง ไม่ต้องใช้อำนาจในการเซ็นเซอร์ นี่มันเซ็นเซอร์ตั้งแต่ต้นจนจบ

นายพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ กล่าวว่า การแสดงออกทางการเมืองมีมาตั้งแต่ยุคโบราณ การละเมิดสิทธิอย่างนี้ถือเป็นการย้อนยุค

“มหาวิทยาลัยควรจะเป็นบ่อน้ำที่ดับกระหายสำหรับประชาชน เป็นพื้นที่ที่ควรจะมีเสรีภาพมากที่สุด เพราะว่าการปฏิวัติอะไรต่างๆ ในโลกมันเกิดจากคนหนุ่มสาว เกิดจากพื้นที่ของมหาวิทยาลัยทั้งนั้น เพราะฉะนั้นคนที่บอกว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนั้นคือตกยุค แค่นักศึกษาจะแสดงผลงานแล้วปิดกั้นไม่ให้เขาแสดง ผมว่าเป็นเรื่องที่มันละเมิดเสรีภาพด้านการแสดงออก มันเป็น Freedom of expression ผมว่ามันเป็นสิทธิที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มันมีมาตั้งแต่ยุคของกรีกโบราณ สมัยนั้นเขามีสภา มีกฎ มีกติกาให้ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้ทุกเรื่องไม่ต้องเกรงใจกัน แล้วในยุคปัจจุบันเราก็จะเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทศทุกฉบับรับรองเสรีภาพในการแสดงออก การปิดกั้นว่าแสดงออกเรื่องนั้นได้ เรื่องนี้ไม่ได้ ผมว่ามันย้อนยุคนะ ย้อนกลับไปไกลกว่ายุคกรีก น่าเสียดายมากว่าทำไมในสถาบันการศึกษาระดับนี้ยังมีการปิดกั้นเสรีภาพด้านการแสดงออก” นายพิภพกล่าว

ทั้งนี้ วงเสวนาดังกล่าวสืบเนื่องจากวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (มีเดียอาร์ต) คณะวิจิตรศิลป์ ม.เชียงใหม่ จำนวน 40 คน ได้ชุมนุมร้องเรียนกรณีการพยายามตรวจสอบและเซ็นเซอร์ผลงานศิลปะของนักศึกษา ของหอศิลปวัฒนธรรมและผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ ต่อมา ในวันที่ 16 ตุลาคม เกิดการขัดขวางไม่ให้นักศึกษาใช้หอศิลป์แสดงงานดังที่เคยทำกันทุกปี โดยอ้างว่างานศิลปะของนักศึกษามีเนื้อหาทางการเมือง มีการตัดน้ำตัดไฟตึกมีเดียอาร์ต และล็อกประตูรั้วทั้งหมด ขังนักศึกษาไว้ข้างในราว 50 คน อาจารย์และนักศึกษาจึงช่วยกันตัดโซ่คล้องประตู เพื่อเปิดหอศิลป์ให้นักศึกษาเข้าไปจัดแสดง

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ทัศนัย-น.ศ.มช.’ ตัดโซ่ ยึดหอศิลป์คืน จ่อขอศาลคุ้มครอง ปมผู้บริหารค้านจัดงานแสดง

นักวิชาการแนะเลิกพูด ‘อย่าเอาการเมืองมายุ่งมหา’ลัย’ ขู่ขุดรูปคล้องนกหวีดแฉซ้ำให้ตาแฉะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image