68ปี ยังไม่สาย! กก.นิสิตวิศวะ จุฬาฯ ขอโทษ “จิตร ภูมิศักดิ์” กรณี “โยนบก” อย่างเป็นทางการ

68ปี ยังไม่สาย! กก.นิสิตวิศวะ จุฬาฯ ขอโทษ “จิตร ภูมิศักดิ์” กรณี “โยนบก” อย่างเป็นทางการ ย้ำเตือนถึงความอยุติธรรมที่จิตร เคยได้รับ 

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือ กวศ. ออกแถลงการณ์ขอโทษ จิตร ภูมิศักดิ์ นักประวัติศาสตร์ นักคิด นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชื่อดังของไทย ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จากการกระทำในอดีตของประธานเชียร์คณะวิศวกรรมศาสตร์
รวมถึงกลุ่มนิสิตคณะวิศวกรรมศษสตร์ ที่เคยกระทำความรุนแรงต่อ จิตร ภูมิศักดิ์ จนเป็นบาดแผลทางประวัติศาสตร์ ยาวนานกว่า 68 ปี โดย ระบุว่า

แถลงการณ์กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง แถลงการณ์ขอโทษแด่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ต่อกรณี “โยนบก”

เนื่องในโอกาสครบรอบ 68 ปีของเหตุการณ์ “โยนบก” คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งเป็นอดีตนิสิตคณะอักษรศาสตร์ และถือได้ว่าเป็น “นิสิตหัวก้าวหน้า” ในยุคสมัยนั้น ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสังคมไทยไว้อย่างมากมาย แต่สิ่งที่ตอบแทนความดีงามของคุณจิตร ภูมิศักดิ์นั้น กลับกลายเป็นความรุนแรงและความอยุติธรรม จากกรณีที่ได้มีอดีตนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์กระทำการ “โยนบก” คุณจิตร ภูมิศักดิ์ลงจากเวทีหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2496 เพียงเพราะพยายามเปลี่ยนรูปแบบหนังสือมหาวิทยาลัย 23 ตุลาฯ อันมีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมมหาวิทยาลัยที่ติดหล่มให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเท่านั้น

ADVERTISMENT

เหตุการณ์ “โยนบก” นี้ เป็นการใช้ความรุนแรงและละเมิดความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่สมควรได้รับความรุนแรงเช่นนี้ทั้งสิ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงผลพวงจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางความคิด แม้ผู้นั้นจะแสดงความเห็นอย่างสันติ และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ผู้กระทำการ “โยนบก” คุณจิตร ภูมิศักดิ์นั้น ไม่เคยถูกลงโทษอย่างสมเหตุสมผล แต่กลับกลายเป็นคุณจิตร ภูมิศักดิ์เสียเอง ที่ถูกคณาจารย์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยลงโทษพักการเรียนอย่างไม่เป็นธรรม และแม้ว่าเหตุการณ์ “โยนบก” จะล่วงเลยมากว่า 68 ปี ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่าวัฒนธรรมเหล่านี้ ทั้งการใช้ความรุนแรงต่อผู้เห็นต่างทางความคิดหรือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังคงเกิดขึ้นและมีอยู่ในสังคมไทยปัจจุบัน

กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จึงขอใช้โอกาสนี้ในการกล่าวแสดงความเสียใจและกล่าวขอโทษต่อทุกความผิดและความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ถูกกระทำความรุนแรงในเหตุการณ์ “โยนบก” โดยอดีตนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2496 และกล่าวขอโทษต่อการแถลงการณ์กรณี “โยนบก” โดยกรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2563 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563 ที่ละเลยต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีต ทั้งนี้ กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2564 ขอแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยต่อแถลงการณ์ดังกล่าว ขอน้อมรับในทุกคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น และได้ตระหนักถึงความผิดพลาดทั้งปวง รวมถึงขอประณามการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และขอยืนยันว่าไม่ว่าในยุคสมัยหรือบริบททางสังคมแบบใด การใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการโยนบกหรือโยนน้ำ ก็ล้วนเป็นการกระทำที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชน และไม่สามารถยอมรับได้ทั้งสิ้น

ADVERTISMENT

การขอโทษต่อคุณจิตร ภูมิศักดิ์นี้ จะเป็นการย้ำเตือนถึงความอยุติธรรมที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์ได้รับจากเหตุการณ์ “โยนบก” รวมถึงเป็นเครื่องเตือนใจแก่ทั้งนิสิตและผู้คนในสังคมให้ต่อต้านการใช้ความรุนแรง รับฟังผู้เห็นต่างทางความคิดอย่างสันติ ไม่เมินเฉยต่อวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ขอให้คำมั่นสัญญาในการสอดส่องดูแล และต่อต้านระบบอำนาจนิยมและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดภายในรั้วคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการธำรงไว้ซึ่งเสรีภาพและเคารพต่อความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนพึงมี และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความอยุติธรรมในอนาคตเช่นนี้สืบไป

ขอเยาะเย้ยทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย
แม้นผืนฟ้ามืดดับเดือนลับละลาย ดาวยังพรายศรัทธาเย้ยฟ้าดิน

กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
28 ตุลาคม 2564

สำหรับ จิตร ภูมิศักดิ์ เป็นนักนักประวัติศาสตร์ นักกิจกรรม นักคิดด้านการเมือง นักภาษาศาสตร์ นับเป็นนักปราชญ์ นักปฏิวัติทางความคิด และนักวิชาการคนสำคัญของประเทศไทย จิตรเป็นนักวิชาการคนแรก ๆ ที่กล้าถกเถียงคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด ผลงาน 3 รายการของเขาได้รับยกย่องเป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับ นายครอง จันดาวงศ์, นายผี อัศนี พลจันทร และนายกุหลาบ สายประดิษฐ์

จิตรเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2509 หลังเข้าร่วมต่อต้านการปกครองของเผด็จการทหาร โดยถูกตัวแทนเผด็จการคือ”กำนันแหลม”และพวกอาสาสมัครฝั่งตรงข้ามและนำเหล่าทหารกับตำรวจล้อมยิง นี่เองที่เป็นส่วนหนึ่งของพลังผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ชื่อเสียงของ จิตร ภูมิศักด์ น่าจะโด่งดังในสาธารณชนวงกว้างเป็นครั้งแรก จากกรณี โยนบก เมื่อครั้งที่เขาเป็น”สาราณียกร” ให้กับหนังสือประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 ในครั้งนั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่ “ซ้ำ ๆ ซาก ๆ” ของหนังสือประจำปี โดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้อง ซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน โดยบทความเหล่านั้น มีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไข หรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ “สอบสวน” จิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดย”นายสีหเดช บุนนาค” คณะวิศวกรรมศาสตร์ตั้งศาลเตี้ยจับ “โยนบก” ลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตร ภูมิศักดิ์ถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497

ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นาน ก็ถูกไล่ออกไป เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป จิตรจึงไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์วรรณศิลป์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา “บุ๊คแมน” และ “มูฟวี่แมน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image