ไพบูลย์ เปิดผลแฉ ฝ่ายค้านไม่ร่วมโหวต ทำสภาล่ม ไล่ถ้าไม่อยากทำหน้าที่ผู้แทนก็ลาออกไป

ไพบูลย์ แฉฝ่ายค้านไม่ร่วมโหวต ทำสภาล่ม ทั้งที่กินเงินภาษีเหมือนกัน ไล่ถ้าไม่อยากทำหน้าที่ผู้แทนก็ลาออกไป เผยผลโหวต 2 ก.พ. ‘พปชร.’ 97 คน มาโหวต 83 ขณะที่ พท. 131 คน โหวตเพียง 14 คน พร้อมเปิดผลโหวตเดือน ธ.ค. พบทั้งเดือนโหวต 70 ครั้ง มี ส.ส.ไม่มาโหวต 7 คน โหวตครั้งเดียว 6 คน ส่วนใหญ่เป็น รมต.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) แถลงว่า จากโปรแกรมรายงานผลการติดตามการโหวต ส.ส.จากกรณีที่การประชุมสภาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. … ที่ ส.ส.พรรคก้าวไกลเป็นผู้เสนอ แต่เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ขาดไป 4 เสียง จนทำให้การประชุมล่มไปนั้น เป็นการโหวตครั้งที่ 143 พบว่า พรรคพลังประชารัฐ มี ส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 97 คน ส.ส.มาโหวต 83 คน และเมื่อรวมแล้ว ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีจำนวนทั้งหมด 267 คน มาโหวตทั้งสิ้น 175 คน

นายไพบูลย์กล่าวว่า ส่วน เพื่อไทย มี ส.ส. 131 คน มาโหวตเพียง 14 คน พรรคก้าวไกล เจ้าของร่างกฎหมาย มี ส.ส. 52 คน มาโหวต 42 คน ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านมีทั้งหมด 208 คน มาโหวตเพียง 59 คน ผลจึงทำให้องค์ประชุมขาดไป 4 เสียง

นายไพบูลย์กล่าวต่อว่า สิ่งที่ควรจะเปรียบเทียบในวันเดียวกัน การประชุมสภาช่วงเช้า ซึ่งเป็นการโหวตครั้งที่ 131 พรรคพลังประชารัฐมาโหวต 84 คน ส่วน พรรคภูมิใจไทย ปกติมาโหวตจำนวนสูงมาก แต่ครั้งนี้ถูกกักตัวจาก 59 คน จึงมาโหวต 35 คน รวมทั้งหมดรัฐบาลมาโหวตช่วงเช้า 204 คน ขณะที่พรรคเพื่อไทยมาโหวตเพียง 6 คน ขณะที่พรรคก้าวไกลโหวต 31 คน รวมฝ่ายค้านทั้งหมดโหวตเพียง 40 คน ทั้งนี้ ยังพบว่าการโหวตเดือน ธ.ค.ซึ่งมีจำนวนการโหวต 70 ครั้ง สิ่งที่สรุปได้คือมี ส.ส.จำนวน 7 คน ที่ไม่เคยมาโหวตเลยทั้งเดือน และยังมี ส.ส.จำนวน 50 คน มาโหวต 100% และทุกการโหวตของ ส.ส.ทุกคนจะมีการบันทึกไว้หมดในระบบโปรแกรมต่างๆ

“ผมคิดว่า ส.ส.ทุกคนได้รับเงินเดือนภาษีของประชาชน การปฏิบัติหน้าที่และมาประชุมสภาเพื่อที่จะโหวตเป็นหน้าที่สำคัญของ ส.ส. ถ้า ส.ส.คนใดบอกว่าไม่ต้องมาโหวต มาทำงานก็ได้ ผมคิดว่าตอบคำถามไม่ได้ เพราะท่านก็มีเงินเดือนและเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี จึงอยากให้สังคมติดตามด้วยว่าหลักคิดที่ว่าไม่ต้องทำงาน ไม่ต้องมาโหวตทำได้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ไม่เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของสภาอยู่แล้ว

Advertisement

“และหวังว่าเพื่อนสมาชิกหลายคนที่ออกมาพูดว่าไม่มาประชุมทำให้สภาล่ม และเรียกร้องให้ยุบสภา ผมคิดว่าท่านเข้าใจผิด ถ้าท่านไม่มาประชุมและคิดว่าไม่อยากมาประชุม มีทางออกคือ แสดงว่าท่านไม่อยากเป็น ส.ส.ก็ควรลาออกไปดีกว่ามาเรียกร้องให้ยุบสภา” นายไพบูลย์กล่าว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาระบุว่าควรเอาเวลาไปพูดคุยกับฝ่ายค้านเพื่อไม่ให้ประชุมล่มดีกว่ามาโทษคนอื่น นายไพบูลย์ย้อนถามว่า เขากินเงินเดือนจากภาษีประชาชนหรือไม่ พรรคร่วมฝ่ายค้านเงินเดือนแสนกว่าบาท มีสวัสดิการมากมาย แล้วไม่มาประชุม ไม่มาโหวต เพราะการโหวตไม่ได้บังคับว่าต้องให้โหวตเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยก็โหวตไม่เห็นด้วยได้ โดยมาทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสียงในฐานะที่เป็นตัวแทนประชาชนที่เลือกเข้ามา ถ้าเห็นอะไรไม่ดีก็โหวตไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ใช้วิธีข้างๆ คูๆ แล้วหลบหนีออกข้างนอกหรือไม่ทำงาน แต่กินเงินเดือนเหมือนเดิม แล้วเลี่ยงว่าเป็นเรื่องของการเมืองที่มาใช้กดดันให้ยุบสภา มันคนละเรื่องกัน เป็นเรื่องระหว่าง ส.ส.ทำหน้าที่ หรือหาเรื่องโดดร่ม

Advertisement

“ถือเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีกับนักเรียน เพราะต่อไปนักเรียนมาเซ็นชื่อตอนเช้าแล้วกลับบ้านไม่ต้องเรียนได้หรือไม่ ส.ส.ก็เหมือนกัน มาเซ็นชื่อร่วมประชุมตอนเช้าแล้วอยู่หน้าห้องไม่มาโหวตมาทำงานเลย ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ผมพูดในนามเป็น ส.ส.ไม่ได้พูดในนามพรรคไหนทั้งนั้น แต่ถ้าท่านเห็นว่าท่านทำถูกก็ทำไป ผมมีหน้าที่เอาข้อมูลเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบว่า ส.ส.ท่านใดทำงานแบบใด” นายไพบูลย์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ส.ส.จำนวน 7 คน ที่ไม่เคยโหวตเลยทั้งเดือนธันวาคม ประกอบด้วย 1.นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะรองประธานสภา คนที่หนึ่ง 2.นายอนุทิน ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 3.นายชูศักดิ์ แอกทอง ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย 4.น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย 5.นายพาณุวัฒณ์ สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม พรรคชาติไทยพัฒนา 6.นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์และหัวหน้าพรรคเพื่อชาติ และ 7.พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย

ส่วน ส.ส.ที่มาโหวต 1 ครั้งในเดือน ธ.ค.2564 มี 6 คน ประกอบด้วย 1.นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 2.นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 3.นายวราวุธ ศิลปอาชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนาและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.นายกิตติ สมทรัพย์ ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย 5.นายพัฒนา สัพโส ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย และ 6.นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image