พท.เสนอร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ ให้ ‘บิ๊กตู่’ มาจากส.ส.เท่านั้น คุ้มครองส่งเสริมสุขภาพปชช.

พท.เสนอร่างรธน.แก้ไขเพิ่มเติม 3 ฉบับ ให้ ‘บิ๊กตู่’ มาจากส.ส.เท่านั้น คุ้มครองส่งเสริมสุขภาพปชช.ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น มั่นใจไร้เงื่อนไขไม่ผ่าน เหตุทำปชช. พร้อมเดินหน้าหนุนร่างภาคปชช.ปิดสวิซช์ส.ว.เต็มที่

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรไทย พร้อมด้วยส.ส.พรรคพท. เข้ายื่นเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. …. จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วย ร่างแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 วรรคสอง เกี่ยวกับคุณสมบัติและนายกรัฐมนตรีและความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว , ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 เกี่ยวกับสิทธิของบุคคลและชุมชน และร่างแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย โดยเพิ่มความเป็นวรรคห้าของมาตรา 25 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 เพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นมาตรา 29/1 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34,44,45,47และ 48 โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับมอบ

โดยนพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทางพรรคพท.ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 256 เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด 3 ฉบับ โดยฉบับแรกมีหลักการว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมที่มาของนายกรัฐมนตรี โดยเราแก้ไขเพิ่มเติมให้มาจากส.ส.เท่านั้น และดำเนินการตามมาตรา 88 คือให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อได้แต่ต้องเป็นส.ส. และเมื่อเราแก้ไขที่มาของนายกฯให้มาจากส.ส. ดังนั้น มาตรา 170 ว่าด้วยการสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งของนายกฯเป็นเฉพาะตัว จึงให้สิ้นสุดลงเพราะเหตุการสิ้นสมาชิกภาพส.ส.ด้วย

ส่วนฉบับที่ 2 พรรคพท.เห็นความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 43 ว่าด้วยสิทธิของบุคคลและชุมชน ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเดิม กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิในลักษณะของบุคคลและชุมชน เราจึงได้แก้ไขเพิ่มเติมให้ครอบคลุมสิทธิการคุ้มครอง การส่งเสริมสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และยังได้เพิ่มเติมด้วยว่าโครงการใดๆโดยเฉพาะโครงการรัฐ ที่ดำเนินการและมีผลกระทบต่อสิทธิชุมชน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ต้องผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนฉบับที่ 3 เราเขียนเน้นเรื่องสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม เพิ่มเติมเรื่องสิทธิประกันตน สิทธิการดำเนินการตามกฎหมายอาญา สิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมให้เป็นธรรมและทั่วถึง และสิทธิการแสดงความคิดเห็นต้องได้รับการคุ้มครอง ส่วนสิทธิเรื่องการชุมนุมสาธารณะ เราแก้ไขเพิ่มเติมให้คำนึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการได้รับความคุ้มครอง อีกทั้ง มาตรา 47 ตามรัฐธรรมนูญเดิมมีข้อด้อยมาก เขียนสั้นแค่ว่าบุคคลย่อมได้รับบริการจากรัฐ เราจึงเขียนให้ชัดเจนในเรื่องการเข้าถึงการบริการสุขภาพให้มีความเท่าเทียมเสมอภาค และมีหลักประกันถ้วนหน้า ส่วนมาตรา 48 สิทธิด้านสวัสดิการ ได้เติมเต็มการเข้าถึงสิทธิการดูแล ตั้งแต่มารดา ทารก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ

Advertisement

“พรรคพท.เห็นความสำคัญจึงเสนอเรื่องนี้ขึ้นมา โดยกระบวนการหลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะไปตรวจสอบความถูกต้องของการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและเนื้อหาสาระ หากไม่มีบทบัญญัติใดที่ต้องแก้ไขก็สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระได้ ส่วนจะได้รับการพิจารณาเมื่อใดเป็นไปตามขั้นตอน อาจเป็นสมัยการประชุมหน้า นพ.ชลน่าน กล่าวและว่า ทั้ง 3 ร่าง ไม่มีเงื่อนไขที่จะเป็นปัญหาให้ไม่รับหลักการ เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อพรรคการเมือง แต่ทำเพื่อประชาชน ระบอบประชาธิปไตยฯ ระบบรัฐสภา ที่มานายกฯต้องชัดเจนและยึดโยงกับประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนที่เราไม่เสนอแก้ไขมาตรา 272 เพราะเห็นว่าร่างของภาคประชาชนที่เสนอเข้ามานั้นมีความสมบูรณ์ที่รัฐสภาจะรับได้ หากพรรคการเมืองมาเสนออาจเป็นประเด็นได้ ดังนั้นเราจึงจะสนับสนุนร่างของภาคประชาชนอย่างเต็มที่ทั้งรับหลักการและการพิจารณาวาระ 2 และ วาระ 3

ด้านนายชวน กล่าวว่า เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบองค์ประกอบว่าจำนวนสมาชิกครบถ้วนหรือไม่ และตรวจสอบลายเซ็นว่าตรงกับที่ให้ไว้หรือไม่ ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติทั่วไป หลังจากนั้นจะเสนอประธานเพื่อพิจารณาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมต่อไป ส่วนจะบรรจุระเบียบวาระช่วงสมัยประชุมหรือไม่ต้องดูต่อไปว่าจะมีการเปิดสมัยประชุมสภาสมัยวิสามัญก่อนหรือไม่ เนื่องจากต้องดูว่าการพิจารณาร่าง 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์นี้ ว่าถ้าสมาชิกฯ ลงมติรับหลักการในวาระ 1 และได้ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับแล้ว ทางกรรมาธิการฯจะพิจารณาเสร็จภายในเมื่อใด หากสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว เสร็จสิ้นก่อนเปิดประชุมสมัยสามัญในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ก็สามารถขอให้สมาชิกเข้าชื่อกัน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา เพื่อขอทำเรื่องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ พิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ในวาระ 2 และ 3 ได้

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image