อียูนำทูต 23 ประเทศ รุดคุยกมธ.กฏหมาย ทักท้วงรบ.ไทย ออกกม.คุมเอ็นจีโอ

อียูนำทูต 23 ปท. รุดคุยกมธ.กฏหมาย ทักท้วงรบ.ไทย ออกกม.คุมเอ็นจีโอ 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 มีนาคม ที่รัฐสภา นาย David Daly เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย คณะเอกอัครราชทูต คณะทูตานุทูต และ ผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต รวม 23 ประเทศ เข้าพบกับ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย รองประธานกมธ. ในฐานะรักษาการประธานกมธ. และกมธ.ร่วมให้การต้อนรับ เพื่อหารือในประเด็นที่สหภาพยุโรปมีข้อกังวลเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรที่จะกระทบกับองค์กรไม่แสวงหากำไร ตามมาตรา 21 ของร่างพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. ซึ่งอาจกระทบกับกิจกรรมขององค์กรต่างๆ โดยการจัดตั้ง และการจดทะเบียนอาจมีลักษณะในทางควบคุมมากกว่าสนับสนุน รวมถึงสถานการณ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนด้วย

ทั้งนี้ นายชวลิต เผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า การที่คณะเอกอัครราชทูต และคณะทูตานุทูต ตลอดจนผู้แทนจากสถานเอกอัครราชทูต ซึ่งเป็นมิตรประเทศของไทยได้รวมตัวกันถึง 23 ประเทศ นำความห่วงใย ต่อร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. …. มาปรึกษาหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถือเป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน และหวังดีต่อกัน ในฐานะมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ต้อง ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงต่อการเสียสละเวลามาพบปะหารือ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

“เนื่องจากภาคเอกชนในประเทศของตนเองได้มาปรึกษาสถานทูตว่า ร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร พ.ศ. …. มีสาระที่กระทบกับการสนับสนุนงานด้านต่างๆ ในประเทศไทยอย่างกว้างขวาง ทั้งทางด้านสิทธิมนุษยชน สันติภาพ ประชาธิปไตย เศรษฐกิจ แรงงาน การศึกษา เฉพาะอย่างยิ่ง มีบทบัญญัติควบคุมการทำงานของภาคประชาสังคม และ NGO มากกว่าการสนับสนุน ทั้งมีบทลงโทษที่รุนแรง อันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน”

Advertisement

นายชวลิต กล่าวว่า กมธ.จึงได้เรียนว่า จากการตรวจสอบ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 จึงยังไม่ส่งมาสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม กมธ.จะรับข้อกังวลในรายละเอียด แต่ละมาตราที่ให้ไว้ แจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และฝ่ายบริหารรับไปพิจารณา เปรียบเสมือนรับฟังความเห็น และเป็นความเห็นที่มีคุณค่ายิ่งจากมิตรประเทศที่มีความห่วงใยและกังวลต่อร่างกฎหมายฉบับนี้

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เผยผ่านเฟซบุ๊กเช่นกันว่า ได้มีการสนทนากันถึงร่างกฎหมายคุม NGO ที่ทาง ครม. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ทางคณะทูตทุกประเทศให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันถึงความกังวลว่า การพยายามผ่านร่างกฎหมายนี้ จะนำไปสู่การปิดกั้นการทำงานของประชาสังคม และองค์กรไม่แสวงผลกำไรจำนวนมาก ทั้งในและนอกประเทศ ที่ไม่ได้มีแค่องค์กรด้านากรเมือง แต่จะกระทบไปยังองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน หรือองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับภาคส่วนต่างๆ

Advertisement

ซึ่งทางคณะกมธ.กฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ก็ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ร่างกฎหมายนี้แม้จะยังไม่เข้ามาในรัฐสภา แต่ก็เป็นร่างกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อเสรีภาพเป็นอย่างมาก จึงจะขอรับความเห็นของคณะทูต EU เพื่อนำไปพูดคุยกันในกมธ.เพื่อที่กมธ.สามารถส่งความเห็นดังกล่าวไปยังครม. เพื่อให้การผ่านกฎหมายไม่กระทบกับสิทธิเสรีภาพอันจะขัดต่อรัฐธรรมนูญต่อไป

นายรังสิมันต์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังได้มีการสนทนาประเด็นเรื่องสงครามรัสเซีย – ยูเครน ซึ่งสงครามครั้งนี้สร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชนและกระทบกับเศรษฐกิจทั่วโลก ประเทศไทยเองก็อยู่ในแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามครั้งนี้ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม คณะทูตและทางกมธ.ต่างก็มีความเป็นห่วงสวัสดิภาพ และความปลอดภัยของประชาชนในเขตสงคราม เพราะการรบกันครั้งนี้มีแต่ความสูญเสีย โดยที่โลกใบนี้ยังไม่อาจรับรู้ได้ด้วยซ้ำว่าการสงครามครั้งนี้จะมอบอะไรกลับมา

ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image