ผศ.ดร.เชษฐา เผยผลสำรวจ เจน Z เลือก ‘ชัชชาติ’ อันดับ 1 เป็นผู้ว่าฯ กทม.

ผศ.ดร.เชษฐา เผยผลสำรวจ เจน Z เลือก ‘ชัชชาติ’ อันดับ 1 เป็นผู้ว่าฯ กทม.

เมื่อเวลา 19.00 น. วันที่ 31 มีนาคม ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น อาจารย์รัฐศาสตร์ มรภ.ธนบุรี ได้เปิดเผยผลการสำรวจการทำแบบสอบถามสำรวจแนวโน้มการเลือกผู้ว่าฯ กทม. ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยสอบถามทางออนไลน์เฉพาะนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน ซึ่งเป็นคนรุ่น Gen Z โดยเฉพาะ เพื่อประเมินแนวโน้มความนิยมในตัวผู้สมัครของกลุ่ม new voter ว่าจะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม. ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่า รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ มาอันดับหนึ่ง ด้วยความนิยมร้อยละ 37.3

ขณะที่ ดร.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล มาเป็นอันดับสอง ด้วยความนิยมร้อยละ 23.9 ซึ่งคะแนนของ ดร.วิโรจน์ เป็นที่น่าสนใจยิ่ง เนื่องจากเปิดตัวได้เพียงไม่นานแต่ในกลุ่ม Gen Z กลับให้ความนิยมถึงระดับนี้ จึงถือเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างยิ่งของ ดร.ชัชชาติ เพราะยังมีเวลาหาเสียงอีกร่วมสองเดือนสำหรับฐานเสียง new voter ขณะที่ผู้สมัครอีกท่านอย่าง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ ที่ได้ร้อยละ 9.7 มีคะแนนมากกว่ากลุ่มผู้สมัครที่เหลือ ได้แก่ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ นางรสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคไทยสร้างไทย นายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.อิสระ แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือ ยังมีกลุ่ม new voter ที่ตอบแบบสำรวจมาว่า “ยังไม่ตัดสินใจ” มากถึงร้อยละ 17.9 ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ดังนั้น หากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ท่านใดใช้แนวทางการหาเสียงที่ถูกอกถูกใจเจาะกลุ่ม Gen Z ได้ในอีกสองเดือนข้างหน้า ย่อมช่วงชิงฐานคะแนนอีกร้อยละ 17.9 ที่ยังไม่ตัดสินใจในขณะนี้มาได้ ซึ่งย่อมสร้างความได้เปรียบกับผู้สมัครคนนั้นเป็นอย่างยิ่งในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง


…ส่วนจะมียุทธศาสตร์การหาเสียงอย่างไรนั้น จากผลการสำรวจในข้อต่อมาที่ถามถึง “เหตุผลในการเลือกผู้สมัครท่านใดเป็นผู้ว่าฯ กทม.” ผลการสำรวจพบว่า เหตุผลในการเลือกผู้สมัครที่ชื่นชอบ เรียงตามลำดับคะแนน ดังนี้
1.ชอบนโยบาย ร้อยละ 27.6
2.ชอบตัวบุคคล ร้อยละ 15.7
3.ชอบความเป็นอิสระ ร้อยละ 12.7
4.ชอบเพราะมีแนวโน้มอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ร้อยละ 10.4
5.ชอบผลงานที่ปรากฏทางสื่อที่ผ่านมา ร้อยละ 9.7
6.ชอบพรรคการเมืองที่สังกัด ร้อยละ 6
7.ชอบเพราะมีแนวโน้มอยู่ฝ่ายเดียวกับรัฐบาล –
8.เหตุผลอื่นๆ 17.9


ดังนั้น ผู้สมัครจึงต้องเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมตามแต่ละสถานการณ์ที่เหมาะกับลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เพื่อช่วงชิงฐานคะแนน new voter รุ่น Gen Z ในช่วงอีกสองเดือนข้างหน้านี้มาให้ได้ ซึ่งถือว่ายังพอมีเวลาปรับกลยุทธ์พอสมควร

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image