‘เสรีภาพปล้นไม่ได้’ วัฒน์ฝากฝัง-ลูกชายร่ำไห้ ฉายสารคดีไกลบ้าน ขอทุกคน ‘ปลอดภัยจากเผด็จการ’

‘เสรีภาพปล้นไม่ได้’ วัฒน์ฝากฝัง-ลูกชายร่ำไห้ ฉายสารคดีไกลบ้าน ขอทุกคน ‘ปลอดภัยจากเผด็จการ’

เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ครอบครัววรรลยางกูร และกลุ่มคนเดือนตุลา จัดงานไว้อาลัย “วัฒน์ วรรลยางกูร” กวีและนักเขียนชื่อดังเจ้าของรางวัลศรีบูรพา และผู้ลี้ภัยทางการเมือง โดยช่วงเช้ามีการเชิญภาพของวัฒน์ วรรลยางกูร เดินขบวนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาตั้งยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และปักธงแดง เพื่อแสดงออกถึงการสานต่อเจตนารมณ์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก่อนกลุ่มและองค์กรต่างๆ กล่าวไว้อาลัย อ่านบทกวี และวางช่อดอกไม้ นั้น

อ่านข่าว : เริ่มแล้ว! รำลึก ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ รัวกลองชูภาพแห่รอบอนุสาวรีย์ ปชต. ลั่นสานอุดมการณ์ จากลานโพธิ์ถึงภูพา

ปักธงแดง ตั้งรูป ‘วัฒน์’ แห่รำลึกล้นอนุสรณ์ 14 ตุลา ลูกสาวสะอื้นไห้ ‘พ่อยังมีชีวิตผ่านบทเพลงที่ถูกเล่นซ้ำ’

รุ้ง-อานนท์ อาลัยวัฒน์ อ่านบทกวี ‘กรีดเลือดพาล’ มั่นใจ คนรุ่นใหม่ ‘สู้ถึงที่สุด’

Advertisement

บรรยากาศเวลา 13.30 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา หลังอนุสรณ์สถานฯ สี่แยกคอกวัว มีการฉายภาพยนตร์ “ไกลบ้าน” โดย ธีรพันธ์ เงาจีนานันต์ ผู้กำกับสารคดี เนื้อหาโดยรวมสะท้อนชีวิตของผู้ลี้ภัยทางการเมือง เริ่มจากการอธิบายสาเหตุที่วัฒน์ วรรลยางกูร ต้องลี้ภัยผ่านช่องทางธรรมชาติ ไปยังประเทศลาว หลังรัฐประหารปี 2549 ซึ่งที่มีผู้ถูกออกหมายเรียกกว่า 400 คน และวัฒน์คือหนึ่งในนั้น ตัดสลับกับภาพบ้านของวัฒน์ ใน จ.กาญจนบุรี

“ผมเรียกรุ่นเราว่า Lost generation เกิดมาเจอรัฐประหารตั้งแต่ 3 ขวบ อายุ 63 ปี ก็ยังอยู่อย่างนี้ มาตรา 17 ไม่ต่าง ม.44 ในเวลานี้ เขาทำรัฐประหาร เพื่อกวาดล้างกลุ่มคนที่ไม่ยอมศิโรราบกับอำนาจ ที่ไม่ยอมรับประชาธิปไตย เป็นอย่างนี้ทุกยุค ไม่ว่ายุคของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือยุคของผม”

“อยู่ที่นั่น ฟังวิทยุ และอ่านหนังสือ เรามีความใฝ่ฝันว่าโตขึ้นอยากเป็นนักเขียน ได้รับแรงบันดาลใจจาก เรื่อง ‘สงครามชีวิต’ ของศรีบูรพา โตขึ้นได้เป็นจริงๆ อยู่ได้ และเป็นที่ยอมรับ ถ้าผมยังเขียนหนังสือได้ ยังมีชีวิตอยู่ได้ และถ้าเมืองไทยไม่มีตรรกะวิปริต แบ่งแยกคน  หนังสือผมก็จะขายได้เรื่อยๆ ทั้ง 10 กว่าปก นักเขียนก็จะอยู่ได้ มีชีวิตได้ปกติสุข เช่นเดียวกับแม่ค้าข้าวแกง” วัฒน์กล่าว

Advertisement

วัฒน์กล่าวต่อว่า ตนต้องลี้ภัย เพราะ 1.ไม่ไปรายงานตัวตามหมายเรียก คสช. โดนคดี ม.112 ครั้งจัดงาน 14 ปี 14 ตุลา 16 วันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งมีการแสดงละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่า จึงมีการออกหมายจับ-หมายเรียกมากมาย แต่ตนขอให้เอาหมายมาให้แค่ตน เพราะลี้ภัยอยู่

“ผมบอกว่า รัฐประหารเมื่อใดเข้าป่าเมื่อนั้น เดินตามรอยจิตร ภูมิศักดิ์ ไปอยู่ที่ที่จิตรแต่งเพลง ภูพานปฏิวัติ และโดนยิงตายที่นั่น หลังเข้าป่าได้ 6 เดือน แต่ผมมีเวลาอยู่ได้นานมากกว่าจิตรหน่อย

คนอย่างผมไปฆ่าฟันใคร ถึงโดนหมายจับ เป็นหมายที่งี่เง่า ปัญญาอ่อน ผมควรจะได้รับการเลี้ยงดูอย่างดี จากรัฐด้วยซ้ำ เพราะสร้างงานตั้งแต่อายุ 18 เขียนสิ่งที่มีประโยชน์ให้สังคม ให้สังคมได้รับวัฒนธรรม สติปัญญาที่ไปเขี่ยคุ้ยมาแจกจ่ายผ่านหน้าหนังสือ และความอ่อนหวานลึกซึ้งในเรื่องภาษา แทนที่จะไล่จับ ควรจะตั้งเงินเดือนให้ผม เพราะทำมาจนตลอดชีวิต

เอาเป็นว่า ไม่ต้องมาเลี้ยงดูผม แต่อย่ามากวน ศิลปินแห่งชาติ ผมไม่อยากเป็นหรอก และไม่กลัวการมีชีวิตอยู่ แต่ขอให้อยู่อย่าง ‘เห็นคนเป็นคน’ แต่เราไม่ได้ทำผิดอะไร ทำไมถึงโดนหมายจับ” วัฒน์กล่าว

วัฒน์อธิบายต่อว่า หลังจาก 14 ตุลา 16 และ 6 ตุลา 19 ตนเข้าป่าไป 4 ปี หลังจากนั้นกลับมาทำงานหนังสือพิมพ์ พลังพฤษภาทมิฬ เหมือนจะเข้าที่ แต่กลับวนย้อนไปปี 2549 ที่แย่คือ คนรุ่นผมส่วนหนึ่งดันไปอยู่ข้างเผด็จการ ทำให้ผมหมดความหวังในชีวิต หลัง ปี 2549 เหนื่อยมาก ต้องขับรถไปกลับจากกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี (ไปชุมนุม) เป็นว่าเล่น ถึงบ้านตี 3-4 จอดรถนอนกลางปั๊ม แต่ใจอยากเรียกร้อง อยากจะพูด

“ตอนนี้ ผมไม่มีภาระ ลูกเรียนจบ ภรรยาเสียชีวิตไปแล้ว แต่ความทะเยอทะยาน ผมมีอย่างเดียว คืออยากเห็นสังคมไทยเป็นอารยะ ไม่ป่าเถื่อนอย่างทุกวันนี้ ‘ความเป็นคน’ อย่าไปมองว่าใครเหนือใคร ถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ผมไม่ขออยู่ด้วย ขอให้ผมได้เป็นเสรีชน ซึ่งเราก็เป็นได้ ถึงจะไม่ได้อยู่แบบปกติ แต่เราก็ยังเป็นเสรีชนได้”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัฒน์ ได้พำนักในบ้านพักที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ดำรงชีวิตด้วยการเลี้ยงปลา และกุ้ง แต่ยังคงอยู่ได้แม้จะมีช่วงที่หมดหวังในชีวิต

“แค่ย้ายที่กินเหล้า ที่อ่านและเขียนหนังสือ” วัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในตอนหนึ่งของสารคดี วัฒน์ได้ชงเหล้า ก่อนยกแก้วกล่าวกับผู้ชมว่า “ฉลองให้กับเสรีภาพ มันอยู่กับตัวเรา ไม่มีใครปล้นไปได้”

“คิดถึงบ้านมาก เห็นรูปบ้านแล้วปวดใจ บ้านพัง ไม่มีคนอยู่ก็โทรม บ้านที่เราสร้างด้วยความรัก ความผูกพัน”

นอกจากนี้ วัฒน์ยังกล่าวถึงการปลูกต้นไผ่ และต้นลั่นทม เนื่องจากชอบฟังเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน

ด้าน นายวสุ วรรลยางกูร บุตรชาย กล่าวในสารคดีว่า น้องสาวเคยเขียนว่า ถ้าพ่อเป็นพระอาทิตย์ แม่คือพระจันทร์ ต้องอยู่คู่กันเพื่อความสมดุล ถ้าวันหนึ่ง 2 สิ่งนี้ไม่อยู่แล้ว โลกคงลำบาก สำหรับเรา เราเห็นเขาในมุมมนุษย์เยอะมาก เห็นตอนเขาร้าย มีความสุข ร้องไห้ ท้อแท้ เกรี้ยวกราด และมุมธรรมดาที่ดำรงชีวิตประจำวัน หลายมุม แบบที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้

สภาพของทุกอย่างยังเหมือนวันที่เขาลี้ภัยไป ดีที่เขาไม่ตกเป็นเป้า แต่มันคือคำปลอบใจตัวเอง คือความรู้สึกที่ไม่เสถียร ไม่ใช่การไปเที่ยวต่างประเทศ 1-2 อาทิตย์ แต่คือคนที่ต้องฝ่าความมืด เดินไป เอาให้ปลอดภัยไว้ก่อน

“จนมีข่าวพบศพริมแม่น้ำโขง พร้อมกับการหายตัวไป ของ อ.สุรชัย แซ่ด่าน และอีกผู้ลี้ภัย 2 คน ฝ่ายผู้มีอำนาจจะทำอะไรก็ได้ ให้หายไป เราไม่มีอาวุธ กำลัง เคลื่อนไหวสันติมาตลอด ไม่ว่าการเขียน พูด แต่งเพลง นอกจากความปลอดภัย ยังห่วงเรื่องความเป็นอยู่ด้านสุขอนามัยด้วย และไม่รู้ว่าอนาคตคืออะไร ไปต่อก็ไม่ได้ จะกลับมาก็ไม่ได้”

“เขาพูดตั้งแต่ลี้ภัยแล้วว่า ถ้าอยู่นี่แล้วพูดสิ่งที่คิดไม่ได้ ก็ไม่ต่างจากติดคุก สู้ออกไปที่อื่น ยังสามารถพูด คิด ทำ ได้ แค่พูดสิ่งที่คิดมันไม่ควรจะฆ่ากัน ไม่ควรมีใครตายเพราะสิ่งที่เขาพูด แค่นี้ก็ไม่เป็นธรรม ประเทศนี้ฆ่าคนด้วยสิ่งที่พูด ประเทศนี้ไม่ปกติ และกำลังดีลกับสถานการณ์ไม่ปกติ ด้วยการมองว่า ‘ปกติ’ แต่คนที่รู้ว่า ‘ไม่ปกติ’ ใครจะไปทนได้ที่ต้องอยู่อย่างนี้ไปตลอดชีวิต อย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยไม่ทำอะไรเลย” นายวสุกล่าว

นายวสุกล่าวต่อว่า Home in the sky คือชื่อบ้าน

“เขามีความฝันทำบ้าน ลงมือ ลงแรงเลื่อยไม้ มีความหวังว่าสักวันจะได้กลับมาอยู่ร่วมกัน แต่ที่นี่มีความหมาย เราเติบโตกันที่นี่” นายวสุกล่าว และว่า

“บ้านหลังนี้ยังไม่มีอยู่จริง แต่ความอยากกลับมาอยู่ด้วยกันยังมีอยู่เสมอ”

จากนั้นปิดท้ายด้วยข้อความ เล่าถึงเหตุผลที่ ‘วัฒน์’ ตัดสินใจลี้ภัยไปที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่ผู้ร่วมงาน ปรบมือสนั่น หลังสารคดีฉายจบ

บรรยากาศ เวลา 14.06 น. ที่ห้องประชุมมูลนิธิ 14 ตุลา นายวสุกล่าวกับผู้ร่วมงานพร้อมร่ำไห้ ความว่า แม้ความฝันของพ่อ ยังไม่สำเร็จ แต่ความฝันที่อยากเห็นประชาธิปไตย ยังฝากไว้กับทุกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยขอให้เกิดขึ้นสักครั้งในชีวิตเรา และขอให้ทุกคนปลอดภัยจากเผด็จการ

ทั้งนี้ พรรคสังคมนิยมแรงงาน ได้เข้ามาร่วมขายหนังสือพิมพ์ของกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ฉบับละ 20 บาท เนื้อหาว่าด้วยประวัติศาสตร์การต่อสู้ ของฝ่ายซ้าย โดยผู้ที่ร่วมกิจกรรมต่างอุดหนุนซื้อเพื่อสมทบทุนขบวนการต่อสู้ ก่อนร่วมรับชมสารคดีอีกด้วย

จากนั้น เวลา 14.30 น. เข้าสู่ช่วงเสวนาในหัวข้อ “กึ่งศตวรรษ วัฒน์ วรรลยางกูร ในสายธารวรรณกรรมไทย” ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี หรือ สิงห์สนามหลวง อดีตศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554, น.ส.ไอดา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา บรรณาธิการ เจ้าของสำนักพิมพ์อ่าน และผู้ถือบัญชีร่วมในนาม “กองทุนราษฎรประสงค์” และนายรวี สิริอิสสระนันท์ หรือ วาด รวี นักเขียนชาวไทยและบรรณาธิการสำนักพิมพ์ไชน์ ดำเนินรายการโดย ปานิส โพธิ์ศรีวังชัย บรรณาธิการ The101.world

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image