อุบัติเหตุการเมือง เงื่อนไข‘เปลี่ยนนายกฯ’

อุบัติเหตุการเมือง เงื่อนไข‘เปลี่ยนนายกฯ’

หมายเหตุ ความเห็นตัวแทนพรรคการเมืองกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะเลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง ให้มีนายกฯคนนอก กรณีที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจและเกิดอุบัติเหตุการเมืองในสภา

ชลน่าน ศรีแก้ว
หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.)

Advertisement

จากกรณีที่มีการเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ในกรณีที่หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ส่วนตัวมองว่าก็มีความเป็นไปได้ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เขาเขียนไว้กรณีถ้าไม่ใช้บุคคลที่ไม่ถูกเสนอชื่อของบัญชีพรรคการเมือง เขาใช้ว่าบุคคลนอกบัญชี นอกจากที่ถูกเสนอชื่อไว้แล้ว ซึ่งจะเป็นใครหรือจะเป็น ส.ส.มาสู่การพิจารณาเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ โดยการเปิดช่องรัฐธรรมนูญ 272 คือรัฐสภามีมติ 2 ใน 3 เสียง ซึ่งหากเสียงถึงก็ถือว่าผ่านขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนที่ 2 ก็คือการที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอชื่อตามปกติ หลังจากนั้นก็เข้าสู่การเลือกของที่ประชุมร่วมรัฐสภาซึ่งต้องใช้เสียงเกินกึ่งทั้งนี้อย่างไรก็ตาม ก็มีความเป็นไปได้ หากคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อไม่ถูกเลือก

สำหรับข้อดีข้อเสียของการเลือกคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น สำหรับระบบการเลือกโดยรัฐสภา ไม่มีข้อดีอยู่แล้ว เพราะไม่ได้สะท้อนเสียงจากประชาชนโดยตรง มันต้องใช้เสียงของ ส.ว.ในการช่วยเลือก ซึ่งระบบนี้ไม่ควรมี มันควรเป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร เพราะการใช้ ส.ว.มาร่วมเลือกด้วยนั้น กรณีการเมืองไม่ปกติเช่นนี้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของตัวผู้ถูกเลือก มีปัญหาอยู่ แต่เมื่อจำเป็นวางระบบไว้เช่นนี้แล้ว ก็ควรเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกที่มีความรู้ความสามารถ บุคคลภายนอกที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อ ซึ่งจะเลือก ส.ส.มาเป็นก็ได้ แต่ ส.ส.คนนั้นไม่ถูกเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อ ซึ่งก็ถือเป็นข้อดี ทำให้ไม่ถึงทางตัน กรณีที่ไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีได้

ส่วนในกรณีที่มีนายกรัฐมนตรีคนนอกจะส่งผลอย่างไรกับการเมืองนอกสภานั้นก็ขึ้นอยู่กับตัวคนถูกเลือก ด้วยระบบการเมืองยังไม่เปลี่ยน ซึ่งจะส่งผลต่อบุคคลที่อยู่นอกระบบ เรื่องของประชาชน เรื่องม็อบ เรื่องการยอมรับหรือไม่อยู่ที่ประชาชน ถ้าคนที่ถูกเลือกมาประชาชนชื่นชอบ ให้การยอมรับก็เป็นกลไกการแก้ปัญหาได้อย่างหนึ่ง แต่ถ้ายึดติดกับพวกพ้อง เอาคนของตัวเองมาคนที่ไม่ความรู้ความสามารถมาก็ย่อมส่งผลไม่แตกต่างจากคนเดิม มีการต่อต้าน เมื่อมีความไม่พึงพอใจก็เกิดกระบวนการทางการเมืองขึ้น ทั้งนี้ หากได้นายกรัฐมนตรีคนนอกมาจะสามารถแก้ไขวิกฤตทางการเมืองได้จริงหรือไม่นั้น ระบบการเมือง ระบบรัฐสภาในขณะนี้มันยังไม่เปลี่ยน มันก็จะส่งผลน้อยมากเพราะการทำงานเป็นการทำงานเชิงระบบ เว้นแต่บุคคลภายนอกที่มาเขามีทีมงานที่ดี มีทีมบริหารที่ดี มีความรู้ความสามารถในเฉพาะด้าน เช่น มีความรู้ความสามารถแก้วิกฤตทางเศรษฐกิจ แก้วิกฤตทางการเมือง หรือแม้แต่วิกฤตโรคระบาดได้ ซึ่งจะสามารถผ่อนคลายและแก้ปัญหาได้ ซึ่งเมื่อแก้ปัญหาได้ก็เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้

Advertisement

นอกจากนี้ หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ทางออกที่จะสามารถแก้ปัญหาได้นอกจากจะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสองแล้วควรเป็นแนวทางเช่นไรนั้น ทางออกทางการเมืองในมาตรา 272 วรรคสอง หมายถึงตัวนายกรัฐมนตรีเปลี่ยน สภายังอยู่ ซึ่งเป็นช่องทางที่หนึ่ง คือนายกรัฐมนตรีลาออก ทำให้มีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ส่วนช่องทางที่สอง หากเหมาะสมถึงความจำเป็นก็คือการคืนอำนาจให้ประชาชน โดยการยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ให้ประชาชนไปตัดสินใจที่จะเลือกคนเข้ามางานแทนเขาเข้ามาใหม่ ระบอบประชาธิปไตยมันมีแค่นี้ ไม่ควรใช้ทางออกทางอื่น ควรใช้สองช่องทางนี้เท่านั้น

สมคิด เชื้อคง
ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.)

กรณีที่มีการเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ในกรณีที่หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองว่า ตนมองว่ามีความเป็นไปได้ยาก เพราะการจะใช้เสียงทั้งรัฐสภาเพื่อจะยกเว้นรัฐธรรมนูญนั้นสามารถพูดได้แต่ไม่สามารถทำได้ และเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐบาลแตกตัวกันที่จะล้ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจริงๆ ซึ่งหากจะล้มนายกรัฐมนตรีได้ ตอนที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 แค่ยกมือไม่ไว้วางใจก็สามารถล้มได้แล้ว จะไปทำตรงนั้นให้ยากทำไม หรือการจะยกเว้นมาตรา 88 ที่จะใช้มาตรา 272 วรรคสอง มันไม่น่าจะได้ทำ เพราะการจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึงปี โดยหลักแล้วพรรคการเมืองที่จะต้องเดินเข้าไปเลือกตั้ง ไม่น่าจะตัดสินใจกันเช่นนั้น ซึ่งมองว่าการยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่จะดีกว่าเยอะ ไม่เป็นภาระกับประชาชน ไม่เป็นภาระกับทุกคน รวมถึงไม่เป็นปัญหาในรัฐบาลด้วย

“เรามานับหนึ่งกันใหม่ให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ทั้งนี้ ขอย้ำว่าในประเด็นนี้มีความเป็นไปได้น้อยมาก ยุบสภาง่ายกว่า ซึ่งหากผมเป็น พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าโดนแบบนี้ก็จะยุบสภา ผมจะให้คนอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนผมทำไมใช่หรือไม่ แบบนี้ผมถึงบอกว่ามันเป็นไปได้ยากมาก”

สำหรับข้อดีข้อเสียของการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น นายสมคิดกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีจากนอกบัญชีรายชื่อนั้น มันไม่มีข้อดี เพราะเอาใครมาก็ได้หมด ซึ่งปกติในทางการเมืองหากเราจะเป็นประชาธิปไตยแบบเริ่มต้น เราไม่ควรเอานายกรัฐมนตรีมาจากคนข้างนอก แม้รัฐธรรมนูญจะเปิดช่องให้ทำ แต่ไม่ควรทำ ให้ทำในบัญชีรายชื่อ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็เป็นได้ หรืออาจจะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ก็เป็นได้ หรือหาใครก็ได้ที่ยังมีความเป็นไปได้ ฉะนั้น โดยส่วนตัวตนไม่เห็นด้วยที่จะทำเช่นนี้ ทั้งนี้ ในการจะใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เพื่อเปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่มีข้อดีเลย การจะไปใช้ข้อยกเว้นกฎหมายไม่ใช่ข้อดี ส่วนข้อเสียคือ โดยหลักคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องยืนต่อหน้าประชาชน ให้ประชาชนได้เห็น ไม่ใช่ไปจีบใครมาก็ได้ มันไม่เหมาะสมถ้างั้นบ้านเราก็เอาพลังอำนาจหรือการครอบงำ เอาใครก็ได้ที่เป็นคนนอกมาได้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วย

ส่วนตัวมองว่าหากมีนายกรัฐมนตรีคนนอก จะส่งผลอย่างไรต่อทางการเมืองนอกสภานั้น โดยหลักมองว่า คนส่วนมากไม่เห็นด้วยกับเรื่องแบบนี้ ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาการเมืองนอกสภาได้ สู้มาสู้กันในสภา มีคนเท่าไหร่ก็เท่านั้น เลือกคนนั้นแหละ ก็ยังจะพอกล้อมแกล้มรับกันได้ แต่หากไปดึงจากคนนอกบัญชีมา มันก็เหมือนเป็นการเขียนยกเว้นในส่วนที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและจะเป็นปัญหาต่อไป ซึ่งมันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาแต่กลับเป็นการสร้างปัญหาเพิ่ม

มองว่าหากมีวิกฤตทางการเมือง และจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามา จะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองได้จริงหรือไม่ มองว่าไม่ใช่วิกฤตเพราะเรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก แต่เป็นวิกฤตเพราะคนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ คือประชาชนไม่ศรัทธารัฐบาลเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลก็ยังหลงตัวเองว่าประชาชนชอบ ซึ่งเหตุการณ์ในสภาก็จะเห็นได้จากการที่เมื่อมีการประชุมสภา ก็จะมีเหตุการณ์ที่องค์ประชุมไม่ครบบ่อยๆ ปัญหาที่เกิด พล.อ.ประยุทธ์สามารถแก้ไขได้ ซึ่งมีอยู่สองทาง คือ การยุบสภาหรือลาออก ซึ่งหากลาออกก็ไม่ต้องคิดอะไร ก็โหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็ให้เอานายกรัฐมนตรีจากที่มีในบัญชีรายชื่อมาเท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ และจบ ในกรณีที่ทำได้ ซึ่งตนก็มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ยอมให้คนอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแน่ เขาจะยุบสภาและรักษาการต่อไปอีก เพราะมีอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง

สุดท้ายหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง แปลว่าต้องยุบสภาเท่านั้นเอง ไม่มีเรื่องอื่น และหากจะบอกว่าจะเอานายกรัฐมนตรีคนนอก จะรวมเสียงกันในสภาอย่างไรให้ได้ 500 เสียง เพราะมันต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ซึ่งมันรวมไม่ได้และไม่สามารถทำได้ และไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่พรรคเพื่อไทยจะไปทำเช่นนั้น เพราะกระบวนการมาเช่นนั้น เราก็จะบอกว่าให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน แต่การเอาสภาเป็นคนตัดสินก็เหลือเวลาอยู่อีก 10 เดือนเท่านั้น ซึ่งก็เหลือเวลาอีกไม่นาน ถ้ารัฐบาลไม่พร้อมจะเลือกตั้งก็อย่าเป็นรัฐบาล เพราะรัฐบาลต้องพร้อมที่จะเลือกตั้ง

สำหรับประเด็นเรื่องการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น ผมมองว่าไม่มีความเป็นไปได้ และผมว่าจะสร้างปัญหาต่อไม่สิ้นสุด เพราะวันนี้ภายในรัฐบาลมันแตกแยก มีทางเดียวประคองกันไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ จับมือกันไปจนกว่าจะไปไม่ไหว หรือที่เขาเรียกกันว่าดันทุรังไป ผลสุดท้ายจะเป็นยังไงก็ค่อยว่ากัน

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ประธานยุทธศาสตร์พรรคเสรีรวมไทย (สร.)

จากกรณีที่มีการเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 วรรคสอง เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก ในกรณีที่หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองนั้น มองว่ายังไม่ถึงจังหวะของการตั้งคำถามเรื่องนี้ เพราะจุดเริ่มต้นที่จะตั้งคำถามเรื่องนี้คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะต้องลาออกก่อน และ 2.จะต้องมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในสภาจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเป็นคนเสนอให้เข้าไปโหวตในรัฐสภาก่อนว่าจะให้ความเห็นชอบครึ่งหนึ่งของรัฐสภาหรือไม่ ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถได้ชื่อผู้ใด จึงจะไปสู่ขั้นตอนว่าจะต้องใช้มาตรา 272 วรรคสอง ซึ่งในจังหวะนี้ไม่ใช่เรื่องที่ต้องถามอะไรถึงเรื่องนี้
ในช่วงนี้ มันเป็นเรื่องที่อาจจะพูดเร็วเกินไปและไม่มีประโยชน์ในทางการเมืองที่จะพูดในช่วงนี้ เพราะต้องทำตามขั้นตอนที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรีลาออกก่อนและไม่สามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ซึ่งการพูดถึงมาตรา 272 ในช่วงนี้ ตนถือว่าเป็นการโยนหินถามทาง

ส่วนมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดนั้น คือตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1 จนถึงขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรีลาออก เราก็ยังไม่เห็นสัญญาณใดๆ ว่าอะไรคือเหตุที่นายกรัฐมนตรีจะลาออก เพราะขณะนี้สภาก็ยังไม่เปิด กฎหมายสำคัญก็ยังไม่ได้เข้าสภา ทั้งนี้ ต้องไปถึงขั้นตอนที่สภาเปิดสมัยประชุมแล้ว และหากมีกฎหมายสำคัญ เช่น ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 เข้าสภาและไม่ผ่านการรับหลักการในวาระ 1 จึงจะทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการตัดสินใจสองแบบคือ ยุบสภาหรือลาออก ซึ่งหากกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน ตนก็คิดว่านายกรัฐมนตรีน่าจะเลือกใช้แนวทางในการยุบสภามากกว่า เพื่อให้ประชาชนเป็นคนตัดสินว่าจะเอาอย่างไร เช่นเดียวกับกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลอาจจะไม่ให้ความร่วมมือกับทางนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เช่น อาจจะมีบางพรรคถอนตัวทำให้เสียงในรัฐสภาไม่ถึง ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็คงไม่ได้ลาออก และการที่นายกรัฐมนตรีจะลาออก ก็จะไปสู่ในกรณีที่มีการเสนอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจและนายกรัฐมนตรีไม่สามารถยุบสภาได้ และเมื่อมีการลงมติแล้วนายกรัฐมนตรีแพ้โหวตในสภา จึงจะเป็นเรื่องที่จะต้องมีการมาเลือกนายกรัฐมนตรีกันใหม่ ฉะนั้น โอกาสที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้จะมีความเป็นไปไม่ได้

สำหรับข้อดีและข้อเสียของการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น เมื่อถึงเวลาที่มีความจำเป็นในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่ไม่สามารถเอาชื่อคนที่มาจากการเสนอของพรรคการเมืองมาโหวต ก็เป็นทางออกของบ้านเมืองในขณะนั้น และรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เขียนไว้ว่าทางออกในกรณีฉุกเฉิน ไม่สามารถหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ เป็นข้อยกเว้นสุดท้าย ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นก็ถือว่ามีความจำเป็น และเป็นเรื่องที่รัฐสภาเองจะต้องช่วยกันกรองและเสนอชื่อบุคคลที่มีการยอมรับ ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าชื่อดังกล่าวจะต้องเป็นชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
เพียงคนเดียวเท่านั้น แต่จะเป็นชื่อใครก็ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของวิจารณญาณและรัฐสภาจะต้องตกลงกัน หากเป็นกรณีเช่นนี้จริงๆ ตัวนายกรัฐมนตรีที่จะมาแทน พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีระยะเวลาสั้นๆ ถึงวันที่ 23 มีนาคม 2566 ควรจะต้องมีภารกิจที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมการเลือกตั้งให้เป็นไปตามสุจริตและเที่ยงธรรม หาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายลูกให้เป็นธรรมอย่างเพียงพอ ไม่ต้องทำอะไรมากกว่านั้น เพราะเหลือเวลาน้อยมากพอแล้ว และต้องมาเป็นนายกรัฐมนตรีแค่ชั่วคราว

ส่วนมองว่าการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกเข้ามา จะสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองได้จริงหรือไม่นั้น มองว่าวิกฤตการเมืองเป็นเรื่องที่น่าจะสามารถแก้ได้ แต่การแก้ไขปัญหาเรื่องอื่นๆ เช่น วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจก็อาจจะมีเวลาน้อยเกินไปที่จะเข้าไปแก้ไข ฉะนั้น ภารกิจที่สำคัญหากจะต้องมีนายกรัฐมนตรีคนนอก คือ การแก้ไขปัญหาวิกฤตทางการเมือง ลดความขัดแย้งทางการเมือง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่และออกกฎหมายลูกที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายให้การยอมรับ ให้ทุกฝ่ายเข้าสู่การเลือกตั้ง แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ยอมรับผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นหลังจากทุกอย่างที่เป็นธรรมแล้ว สุดท้ายหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง มองว่าทางออกที่นอกเหนือจากการใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง ควรเป็นแนวทางใดนั้นต้องถามว่าอุบัติเหตุทางการเมืองหมายถึงอะไร ถ้านายกรัฐมนตรีลาออกก็ใช้มาตรา 272 วรรคหนึ่งก่อน ถ้าไม่ได้วรรคแรกก็ค่อยมาใช้วรรคสอง แต่ถ้ายุบสภาก็ไม่ไปทางนี้อยู่แล้ว เพราะต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน ไม่เกิน 60 วัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image