เจาะสนามเลือกตั้ง ‘นายกเมืองพัทยา’ โจทย์ที่ ‘บ้านใหญ่-ก้าวหน้า’ ต้องพิสูจน์

เจาะสนามเลือกตั้ง ‘นายกเมืองพัทยา’ โจทย์ของบ้านใหญ่-ก้าวหน้า

22 พฤษภาคม 2565 ดีเดย์ ที่ชาวเมืองพัทยาจะได้ นายกเมืองคนใหม่ แทน นายสนธยา คุณปลื้ม ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ 25 กันยายน 2561

เป็นการเลือกตั้งครั้งแรก นับแต่ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2555 ซึ่งมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม บ้านใหญ่ชลบุรี ชนะเลือกตั้ง

สนามเลือกตั้งครั้งนี้ 4 ผู้สมัคร นับได้ว่าเป็นหน้าใหม่กับสนาม นายกเมืองพัทยา ทั้งสิ้น ได้แก่

หมายเลข 1 ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ จากกลุ่มเรารักษ์พัทยา ชื่อเดิมกับกลุ่มของ นายอิทธิพล ที่เคยลงสมัครเมื่อปี 2555 อดีตรองนายกเมืองพัทยา และ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม พ่วง อดีตส.ส.ชลบุรี

Advertisement

หมายเลข 2 ศักดิ์ชัย แตงฮ่อ ผู้สมัครอิสระ อดีตนายอำเภอบางละมุง ข้าราชการกรมการปกครองดีเด่น พ.ศ. 2544 และ นายอำเภอแหวนเพชร กรมการปกครอง ตำแหน่งสุดท้ายก่อนเกษียณ นั่งรองอธิบดีกรมการปกครอง

หมายเลข 3 กิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย จากคณะก้าวหน้า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การธนาคาร ที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า หมายมั่นสู้ศึก

หมายเลข 4 สินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร จากกลุ่มพัทยาร่วมใจ เป็นสมาชิกสภาเมืองพัทยา และ อดีจนายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา 2 สมัย

Advertisement

ก่อนจะถึงวันเลือกตั้งชี้ชะตาคนพัทยา ศูนย์วิจัยดิเรกชัยนาม ตรวจแนวรบศึกเลือกตั้ง “นายกเมืองพัทยา” โดยได้ อ.ชาลินี สนพลาย อาจารย์สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเจาะสนามเลือกตั้งพัทยา

เจาะสนามเลือกตั้งพัทยา

ชาลินี เริ่มพูดถึงพื้นที่พัทยาไว้ว่า พัทยา นับว่าเป็นพื้นที่เมืองสูง มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจเยอะ คุณลักษณะอย่างหนึ่งของเมืองลักษณะนี้ คือ มันเป็นเมืองที่มีการเข้าออกของคนเยอะ คล้ายๆกับพื้นที่อื่นของชลบุรี คือมีคนอื่นเข้าไปอยู่ในพื้นที่มาก จากข้อมูล พัทยาหากจากการเลือกตั้งไป 10 กว่าปี ซึ่ง 10 ปีนี้ มีคนนอกพื้นที่ เข้าไปตั้งถิ่นฐานเยอะพอสมควร คนกลุ่มนี้อาจไม่ใช่ first time voter ของไทย แต่ก็เป็น first time voter ของพัทยา นี่เป็นความน่าสนใจในแง่หนึ่ง

และว่า อีกด้านหนึ่ง พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยว คุณลักษณะหนึ่งของเมืองท่องเที่ยว คือมันไม่ได้พัฒนาเมืองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่อย่างเดียว แต่มันพัฒนาเมือง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกและก็จัดการกับสิ่งที่นักท่องเที่ยวทำกับเมืองไว้ นี่เป็นประเด็นสำคัญที่น่าจะส่งผลต่อวิธีการตัดสินใจเลือกตั้งของคนในพื้นที่ด้วย

ก่อนพาไปวิเคราะห์ถึง 4 ผู้สมัครว่า กรณีการเลือกตั้งเมืองพัทยา แคนดิเดตทั้ง 4 คน แยกย้ายกันมาแต่ละฝ่าย มีเบอร์หนึ่งประกาศชัดว่ามาจากบ้านใหญ่ คือ “เรารักษ์พัทยา” ซึ่งเป็นชื่อเดิมของกลุ่มคุณอิทธิพล คุณปลื้ม ที่เคยลงรับสมัครปี 2555 ขณะที่อีกกลุ่มก็ชัดเจน คือ คณะก้าวหน้า ที่คุณธนาธรลงไปช่วยหาเสียงด้วยตัวเอง มีผู้สมัครอิสระ และ น้องชายอดีตนายกเมืองพัทยา เหมือนเป็นตัวแทนเครือข่ายภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมในพืนที่ มีจุดเด่นไม่เหมือนกัน และมีเครือข่ายทางการเมืองในการทำงานไม่เหมือนกัน”

“เอาเข้าจริง 4 คนนี้ เป็นหน้าใหม่ในการลงสนามนายกเมืองพัทยาหมดเลยทั้ง 4 คน บางคนขยับมาจากการเล่นระดับชาติ บางคนขยับมาจากข้าราชการประจำ บางคนมาใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ” อ.ชาลินี กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองท้องถิ่น กล่าวต่อว่า หากเราเปิดโทรทัศน์ หรือ โซเชียลมีเดียดู จะเห็นว่า การเลือกตั้งพัทยา ทุกอย่างคิกออฟพร้อมกรุงเทพฯ แต่กลายเป็นว่าแทบไม่เห็นข่าวเมืองพัทยาเลย เพราะถูกบดบังไปด้วยข่าวเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีเมืองพัทยามาแทรกเล็กๆ ก็เข้าใจ กรุงเทพฯ ก็คือประเทศไทย ทุกอย่างถูกให้ความสำคัญ เสียงของคนกรุงดังมากหน่อย เพราะใกล้หูผู้กำหนดนโยบายสาธารณะมากกว่าพื้นที่อื่น มันอาจทำให้คนคิดว่าคึกคักน้อยกว่ากรุงเทพฯ แต่จริงๆแล้วเชื่อว่าคึกคักไม่ต่างกัน

ปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ กลุ่มเรารักษ์พัทยา

มองพฤติกรรมเลือกตั้ง “คนพัทยา”

“การเลือกตั้งระดับชาติ กับ การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น มันไม่เหมือนกัน วิธีคิดและการตัดสินใจของการเลือกตั้ง ของประชาชนในพื้นที่ก็คิดไม่เหมือนกัน” อ.ชาลินี กล่าว พร้อมอธิบายว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ไม่ได้โฟกัสที่ตัวอุดมการณ์ทางการเมือง หรือ ตัวนโยบายระดับชาติมากขนาดนั้น ตัวแคนดิเดตยังคงสำคัญ อย่าลืมว่าเราเลือก นายกเมือง คือ ผู้บริหารเมือง ไม่ได้เลือกเพื่อจะส่งใครไปรัฐสภา เพื่อเพิ่มที่นั่ง ส.ส. มันจบในพื้นที่

อ.ชาลินี กล่าวว่า วิธีที่คนจะพิจารณาเลือกผู้บริหารเมือง คือ ดูคนที่สามารถทำงานให้กับเมืองได้ แคนดิเดตจึงสำคัญในจุดนี้ เพราะจะโชว์ว่า คุณมีเครือข่ายทางการเมืองมากพอที่จะทำงานการเมืองในพื้นที่ได้หรือเปล่า มีทักษะในการบริหารจัดการมากพอ มีวิสัยทัศน์ วางนโยบายในการพัฒนาเมืองได้ไหม

“มันทำให้รู้สึกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น ยังเป็นพื้่นที่ ที่การเมืองแบบบ้านใหญ่ หรือ บ้านใหม่ ที่ย้ายออกจากบ้านใหญ่ ยังคงได้เปรียบในแง่นี้อยู่ ถ้าเกิดว่าคุณอยู่พื้นที่นาน ทำงานในพื้นที่ตลอด เคยสามารถใช้ทรัพยากรของรัฐในการดูแลประชาชนในพื้นที่ได้ ผ่านนโยบายโครงการต่างๆของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ connect กับเครือข่ายทางการเมืองในระดับพื้นที่ได้ ก็ยังเป็นข้อได้เปรียบ มากกว่าพรรคการเมืองระดับชาติ จะกระโดดลงไปเล่นการเมืองระดับท้องถิ่น”

“แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความหวังที่จะชนะ แต่ต้องลงแรงเยอะหน่อย”

บ้านใหญ่ขยับ หลังยุคกำนันเป๊าะ

ถามถึงบทบาทของบ้านใหญ่ ในชลบุรี อ.ชาลินี กล่าวว่า แน่นอนว่ามี แต่ถ้าถามว่าปรับตัวไหม แน่นอนว่าปรับตัวมาก คนในพื้นที่ชลบุรีเองก็ปรับเปลี่ยนเช่นกัน เหมือนกับทุกพื้นที่ในไทย หากนับที่คุณสมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ ถูกดำเนินคดี ยุติบทบาททางการเมือง ก่อนเสียชีวิต ถือเป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงการเมืองในชลบุรี คนวิเคราะห์กันว่า จุดเปลี่ยนชลบุรีก็เหมือนอีกหลายพื้นที่ เหมือนสุพรรณบุรีหลังคุณบรรหาร สมุทรปราการหลังคุณวัฒนา เจ้าพ่อยุคนั้นค่อยๆลดบทบาท หรือหายจากบทบาทการเมืองในหลายเหตุผล ชลบุรีก็เหมือนกัน

บ้านใหญ่ปรับตัวอย่างไร

“ถอยกลับไปการเลือกตั้งปี 2551 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของชลบุรีในยุคหลังกำนันเป๊าะ ปรากฏว่าในการเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งบ้านใหญ่แก้ให้กับประชาธิปัตย์น่าจะเกือบหมด นำมาสู่การปรับตัวของบ้านใหญ่มากพอสมควร ก่อนหน้านั้น บรรดาลูก ทายาทของกำนันเป๊าะ จะเล่นการเมืองระดับชาติ ทั้งคุณสนธยา คุณวิทยา เคยเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ส.ส. หลังแพ้การเลือกตั้งครั้งนั้น ประกอบกับกระแสคลื่นการกระจายอำนาจลงในพื้นที่ บทบาทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำคัญขึ้นมา บ้านใหญ่ก็ลงไปเล่นการเมืองท้องถิ่น คุณวิทยา ลงนายกอบจ.ด้วยตัวเอง คุณอิทธิพล ก็ไปลงนายกเมืองพัทยาด้วยตัวเอง และชนะเลือกตั้ง”

“ครั้งเลือกตั้งปี 2554 ก็มีการปรับกระบวนท่าอีก แทนที่จะสังกัดพรรคการเมืองระดับชาติ ก็มีการตั้ง พรรคพลังชล เพื่อทำการเมืองระดับพื้นที่ สโลแกนตอนนั้น คือ ขายความเป็น “คนบ้านเรา” พรรคของเรา บ้านของเรา ชูประเด็นอยู่ในพื้นที่ตลอด เข้าใจพื้นที่ และกลายเป็น turning point ที่สำคัญ ทำให้ชนะเลือกตั้ง เข้ามาได้หลายเขตเกือบทั้งหมดของจังหวัด”

อ.รัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า แต่กลายเป็นว่ามีปรากฏการณ์ใหม่ ที่กลุ่มบ้านใหม่ชนะเลือกตั้ง และ กลุ่มการเมืองใหม่ในพื้นที่ ที่ชนะเลือกตั้งเข้ามา กลายเป็นว่าสองกลุ่มใหม่นี้เป็นกลุ่มที่ได้ที่นั่งส.ส. แต่ว่ากลุ่มบ้านใหญ่ ไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.เข้ามาเลย อาจจะเป็นอีกครั้งที่คนจับตาดูว่าจะปรับตัวและเปลี่ยนแปลงอย่างไร

โจทย์ใหญ่ “ก้าวหน้า” – “บ้านใหญ่”

“พัทยา” นับเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่ อ.ชาลินี มองว่า คณะก้าวหน้าให้ความสำคัญ เห็นได้จากที่ธนาธร ลงไปช่วยหาเสียงด้วยตัวเอง แต่พื้นที่นี้ไม่เหมือนกับการเมืองระดับชาติ เพราะฉะนั้น หากเข้าไปด้วยอุดมกาณณ์ทางการเมือง หรือนโยบายระดับชาติอย่างเดียว อาจจะทำงานลำบากหน่อย

“ดังนั้นเวลาไปเล่นการเมืองระดับท้องถิ่นของพัทยา จะต้องไปพร้อมกับชุดนโยบายที่มันเฉพาะเจาะจงสำหรับเมืองพัทยา แล้วก็จะต้องให้ความสำคัญกับแคนดิเดจของเขาเอง ต้องสร้างเครือข่าวทางการเมือง หรือโชว์ให้คนเห็นว่าเขามีความสามารถในการสร้างเครือข่ายการทำงานในระดับพื้นที่ได้อย่างไร”

ฟากบ้านใหญ่นั้น อ.ชาลินี มองว่า โจทย์ใหญ่คือ ทำอย่างไรให้คนในเมืองพัทยา รู้สึกว่าคนเดิม หรือ คนในเครือข่าวเดิม สามารถพาเมืองพัทยาเดินไปข้างหน้า ไปสู่ความฝันใหม่ๆ ความปรารถนาใหม่ๆ ได้ และทำอย่างไร ถึงจะสามารถโอบประครองความฝัน เพราะฉะนั้นโจทย์ยากเหมือนๆกัน แต่ว่าคนละมุม

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ กิตติศักดิ์ นิลวัฒนโฒชัย

มองเส้นทาง พัทยา สู่วันที่ 22 พ.ค.

การเลือกตั้งครั้งนี้ น่าสนใจที่กลุ่มนิวโหวตเตอร์ คนอายุน้อยที่เพิ่งมีสิทธิครั้งแรก แม้ไม่ได้กลุ่มใหญ่มากนัก กลุ่มใหญ่จริงๆคือ กลุ่มคนที่ย้ายเข้าไป เมื่อรวมกับกลุ่มนี้ย่อมมีผลเปลี่ยนแปลงการเลือกตั้งได้ แต่ไม่สามารถเคลมได้ว่าจะเลือกใคร

“เวลามีคนแซะว่า ทำการเมืองแบบเก่า ส.ส.งานศพ ส.จ.งานศพ สำหรับตน ไม่ได้เป็นสิ่งน่ารังเกียจ หรือต้องกำจัด การที่ส.ส.หรือ ส.จ.ไปงานศพ มันคือการโชว์ให้เห็นว่า คุณสามารถพาประชาชนและผู้แทนของเขาเชื่อต่อกันได้ ผู้แทนจะทำหน้าที่แทนประชาชนได้อย่างไร ถ้าเขาเชื่อมกับประชาชนไม่ได้ มันไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนที่มาตามเฟซบุ๊กของ ส.ส. ต้องมาหาวิธีติดต่อผู้แทน มันเป็นหน้าที่ผู้แทน ที่ต้องหาวิธีเข้าถึงประชาชน ในแบบที่เขาสะดวก”

“ยิ่งกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ยิ่งให้ความสำคัญกับการเชื่อมกันได้ รู้จักและรู้ว่าจะส่งความต้องการของตัวเองไปช่องทางไหน”

อ.ชาลินี กล่าวทิ้งท้ายว่า เวลาที่คนนอก มองเข้าไปในเมืองพัทยา ก็จะมีเลนส์ติดภาพว่า พัทยา มีบ้านใหญ่ บ้านใหม่ และกลุ่มความหวังคนรุ่นใหม่ ซึ่งจริงๆมันเป็นสายตาแบบ stereotype พื้นที่เขา และมันทำให้ไม่เห็นมิติการแข่งขันเชิงนโยบาย หรือการทำงานในเชิงการจัดการบริหารสาธารณะ หรือการพัฒนาเมือง ประเด็นพวกนี้ถูกบดบังไปหมด

“เวลาที่บอกว่า ทำไมประชาชนตัดสินใจแบบนั้น ไปคาดหวังว่าเขาจะต้องตัดสินใจทำการเมืองแบบหนึ่ง ต้องเบื่อบ้านใหญ่ ต้องเบื่อการเมืองแบบเดิม ที่จริงแล้วอาจไม่รู้เลยว่าวิธีการทำการเมืองแบบเดิมๆ ทำไมยังเวิร์ก”

“ถ้าไม่ต้องการให้มีการเมืองแบบเดิมๆ แล้ว ต้องสร้างสถาบันทางการเมือง หรือกลไกของรัฐ ชนิดไหนไปรองรับเพื่อจะเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในพื้นที่หรือเปล่า มากกว่าจะโจมตีว่า ทำไมเลือกแบบนี้ ทำไมเลือกแบบเดิม ทำไมไม่เลือกแบบใหม่ ไม่ควรเอาเลนส์ตัวเองไปตัดสินและคาดหวังให้เขาเปลี่ยน โดยไม่คำนึงถึงบริบทเฉพาะในพื้นที่”

นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ
สินธ์ไชย วัฒนศาสตร์สาธร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image