วิโรจน์ เล็งเป้ารื้อกม.ล้าสมัย สกัดส่วยอวยนายทุน ลั่น หากมีรปห. พร้อมสู้เคียงข้างปชช.

‘มติชน’ เปิดเวที เสวนา “คุณถามมา… (ผู้สมัคร) ผู้ว่าฯกทม. ตอบ วิโรจน์-ชัชชาติ-ศิธา-สุชัชวีร์ ตอบชัด ทุกคำถาม ‘วิโรจน์’ ย้ำนโยบายสวัสดิการคนเมือง เล็งเป้ารื้อ กม.-ข้อบัญญัติล้าสมัย สกัดส่วย-อวยนายทุน ลั่น หากเกิดรัฐประหาร พร้อมสลับโหมดต่อสู้เคียงข้าง ปชช.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 13 พฤษภาคม ที่บริษัทข่าวสด มติชน ทีวี เชิญ 4 ผู้สมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดจากโพลมติชน ทีวี ได้แก่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สังกัดพรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สังกัดอิสระ และ น.ต.ศิธา ทิวารี สังกัดพรรคไทยสร้างไทย มาร่วมเวทีเสวนา ‘คุณถามมา… (ผู้สมัคร) ผู้ว่าฯกทม.ตอบ’ จัดเต็ม 20 คำถามสุดเฉียบ จาก 20 คนกรุงเทพฯ อาทิ นายธงทอง จันทรางศุ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บิทคับ, ธันย์-ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ ผู้ส่งเสริมศักยภาพผู้พิการ, มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล นักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่, อ๋อม-สกาวใจ พูนสวัสดิ์ นักแสดง ฯลฯ

โดยคำถามชุดปัญหาเชิงโครงสร้าง ถามว่า

ช่วง 3 เดือนแรก หรือ 100 วันแรก ของการเป็นผู้ว่าฯกทม. มีแผนการทำงาน 3 อย่างที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

นายวิโรจน์กล่าวว่า ถ้าตนได้เป็นผู้ว่าฯกทม. ตนจะทำ 1.การรับมือกับน้ำท่วม โดยนำงบกลางที่อยู่ในมือผู้ว่าฯกทม. คนก่อน ไปบำรุงรักษาสถานีสูบน้ำ และเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ เพื่อนำไปใช้รับมือจุดวิกฤตที่น้ำท่วมขังเป็นประจำสิ่งสำคัญที่สุด 2.เปิดเมืองให้ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการ และประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยออกมาตรการที่ทำให้ประชาชนมั่นใจ เช่น การฉีดวัคซีนและการสำรองยาที่จำเป็น ต้องไม่ดำเนินการซ้ำรอยโครงการไทยร่วมใจ และต้องไม่ให้เกิดการเล่นการเมืองระหว่างกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังต้องเติมสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ 1,000 บาท ซึ่งจะถูกนำไปหมุนเวียนให้เกิดการค้าขายในชุมชน และ 3.เปิดร่างสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสเพื่อเลิกความลึกลับดำมืดเสียที

Advertisement

คำถามชุดปัญหาคุณภาพชีวิตและบริการ ที่ถามว่า จะสร้างสมดุลระหว่างความสามารถและความต้องการของผู้สูงวัยอย่างไร เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีความสุข

นายวิโรจน์กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย แต่ผู้สูงวัยของเรามีความพิเศษเพราะเป็นสังคมสูงวัยที่ไม่มีเงินออมที่มากพอ ตนได้มีโอกาสลงพื้นที่เขตบางซื่อ พบกับคุณยายสะอาด ที่บอกว่ากินข้าวเปล่ากับไข่ต้ม และวันที่ได้รับรางวัลคือวันที่ได้กินแกงถุง ดังนั้น เราต้องยอมรับความจริงและหยุดโรแมนติไซส์สังคมผู้สูงอายุได้แล้ว พรรค ก.ก.จึงได้คิดนโยบายที่เพิ่มสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ รวมทั้งเด็กเล็กและผู้พิการ ปัจจุบันรัฐบาลให้เงินผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท แต่เราอยากจะเติมให้ได้ 1,000 บาท เพื่อให้มีกำลังซื้อและการดูแลโภชนาการของตัวเองได้ นี่ไม่ใช่การช่วยเหลือหรือการสงเคราะห์ เพราะเม็ดเงินจำนวนนี้จะหมุนเวียนในชุมชนและตลาด ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับพ่อค้าแม่ค้าในตลาด

นายวิโรจน์กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้สูงอายุจำนวนมากมีโอกาสป่วยติดเตียง ซึ่งต้องมีลูกหลานมาดูแลอย่างน้อยหนึ่งคน เราจึงมีนโยบายฉีดวัคซีนปอดอักเสบให้กับผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ถ้าเรามีนโยบายที่ชัดเจนในการลดจำนวนผู้ป่วยติดเตียงลง นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเราจะมีเทเลเมด เพื่อให้เกิดการจ่ายยาความดันได้ทันเวลา ซึ่งเราจะหารือกับ สปสช. เพื่อให้มีศูนย์กายภาพบำบัดที่ครอบคลุมทั้ง 50 เขต

Advertisement

ส่วนคำถามชุดปัญหาเศรษฐกิจและการทำกิน ที่ถามว่า จะแก้ปัญหาการจ่ายใต้โต๊ะอย่างไร

นายวิโรจน์กล่าวว่า การขออนุญาตที่ถูกรีดไถมากที่สุดคือ การขออนุญาตที่ข้าราชการต้องใช้ดุลยพินิจ จึงแบ่งเป็นการแก้ปัญหา 3 หัวข้อ คือ 1.การลดการใช้ดุลยพินิจของข้าราชการลง โดยการยื่นขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ 2.ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องใช้ดุลยพินิจ ต้องมีบุคคลที่สามด้วย และ 3.การเลือก ส.ก. จากพรรค ก.ก. เพื่อเข้าไปแก้ข้อบัญญัติเกี่ยวกับการประชุม โดยการเพิ่มคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุดคล้ายกับคณะกรรมาธิการ ของสภาผู้แทนราษฎร คือคณะกรรมการปราบปรามการทุจริต และทบทวนแก้ไขระเบียบข้อบัญญัติที่เป็นอุปสรรคในการให้บริการประชาชน เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ตอนนี้มีความเวิ่นเว้อ และล้าสมัย ซึ่งทำให้ข้าราชการบางคนใช้เป็นข้ออ้าง เพื่อเตะถ่วงดึงเวลาไปเรื่อย เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ เมื่อผู้ประกอบการหรือประชาชนรอไม่ไหว ก็จะเข้าใจว่าต้องจ่ายแล้วถึงจะจบ ดังนั้นเมื่อแก้ไขกฎหมายแล้ว จะส่งผลที่ดีต่อไปในระยะยาว

นายวิโรจน์กล่าวว่า ส่วนพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการระบุไว้ว่าหากยื่นเอกสารครบแล้ว แล้วยังไม่ได้รับการอนุญาต คนที่ยังไม่อนุญาตจะต้องทำรายงานทุก 7 วันเพื่อระบุและชี้แจงเหตุผล เราจึงต้องบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างจริงจัง

ด้านคำถามชุดปัญหาทั่วไป ถามว่า จะมีแนวทางเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการแก้ไขปัญหาและกำหนดทิศทางกรุงเทพมหานครอย่างไร

นายวิโรจน์ตอบว่า การให้ประชาชนมีส่วนร่วมที่ดีที่สุดคือ การทำให้ประชาชนเชื่อว่าตัวเองเป็นเจ้าของกรุงเทพมหานคร และมีอำนาจ ไม่ใช่ผู้อาศัยที่ได้แต่ยอมรับการกดขี่จากผู้มีอำนาจ ดังนั้น การกระจายอำนาจที่แท้จริงคือ 1.การกระจายงบประมาณ ดังนั้น จึงต้องได้ผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.จากพรรค ก.ก. จะไปผ่านงบประมาณที่สภากรุงเทพมหานคร เพื่อเข้าไปกระจายงบประมาณ เพราะที่ผ่านมางบประมาณจำนวนมากกระจุกอยู่ที่มือผู้ว่าฯกทม. ทั้งที่หากนำออกมากระจายสู่ชุมชนต่างๆ ตามเขตทั้ง 50 เขต ให้ชุมชนแต่ละแห่งนำไปทำสิ่งที่ต้องการ และจะนำแก้ปัญหาอะไรบ้าง สิ่งนี้จะทำให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมกับเมืองและเป็นเจ้าของเมือง พอกันทีกับการไปร้องขอที่เขต และถูกปฏิเสธว่าไม่มีงบ ทั้งที่เห็นว่างบประมาณถูกนำไปประเคนให้กับผู้รับเหมารายเดิมๆ และ 2.การแก้ไขข้อบัญญัติให้เป็นธรรม ยกตัวอย่างการเก็บค่าเก็บขยะจากนายทุนให้แพงขึ้น และทำให้เกิดการคัดแยกขยะ

สำหรับคำถามจากประชาชนทั่วไป ที่ว่าจะแก้ปัญหารถติดทุกเส้นทางอย่างไรบ้าง และทำได้จริงภายในระยะเวลาเท่าใด

นายวิโรจน์กล่าวว่า การแก้ปัญหารถติดที่ดีที่สุดคือการทำให้คนใช้รถสาธารณะ หรือรถเมล์ ที่ผ่านมารถเมล์ถูกละเลยมาโดยตลอด เพราะมีคนใช้บริการ 7-9 แสนคนต่อวันเท่านั้น และปัญหาที่ติดหล่มมาตลอดคือ ทำไมจึงทำรถเมล์ให้ดีไม่ได้ ทั้งที่ผู้มีอำนาจมีโอกาสไปดูงาน หรือการที่ไม่สามารถปรับปรุงได้เพราะนายทุนอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ประโยชน์จากราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้กรุงเทพมหานครควรจะอุดหนุนค่ารถเมล์เพื่อให้คนกรุงเทพฯได้ใช้รถเมล์ที่ถูกลง ซึ่งพรรคก้าวไกลมีนโยบายตั๋วคนเมือง เพื่อให้คนกรุงเทพฯได้ใช้รถเมล์ราคาถูก และมีคุณภาพ

นายวิโรจน์กล่าวว่า ส่วนถนนที่รถเมล์เข้าไม่ถึง ทางบริษัทกรุงเทพธนาคมสามารถจัดจ้างรถเมล์เพิ่มขึ้นเพื่อนำคนให้เข้าถึงรถไฟฟ้า นอกจากนี้ต้องวางโจทย์ให้ถูก เพราะการจัดทำรถเมล์หรือบริการสาธารณะสามารถขาดทุนได้ แต่ต้องแลกด้วยรถเมล์ที่ดี เพราะจะทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง ลดมลพิษ และลดอุบัติเหตุจราจร ถึงเวลาแล้วที่เราจะจัดทำให้ประชาชนได้นั่งรถเมล์ถูกลงและมีคุณภาพดี

ด้านคำถามจากพ่อค้า แม่ค้า ที่ว่าจะสามารถจัดการพื้นที่ตลาดหาบเร่แผงลอยอย่างไร โดยประชาชนยังสามารถใช้พื้นที่ฟุตปาธได้อย่างสะดวก

นายวิโรจน์กล่าวว่า การจัดการหาบเร่แผงลอย สะท้อนว่ากรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เห็นแก่ตัว ยกตัวอย่าง ฮอว์เกอร์ เซนเตอร์ (Hawker Centres) ที่สิงคโปร์ ที่ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจ หรือความอารีของนายทุนอสังหาริมทรัพย์ แต่มีกฎเกณฑ์ว่าหากจะทำอาคารสูง จะใช้พื้นที่นั้นสูงสุดเพื่อทำกำไรอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะเป็นการผลักภาระการกินการใช้ของคนภายในตึกให้กับสังคม เพราะเมื่อมีคนซื้อก็ต้องมีคนขาย เราจึงต้องแก้ไขข้อบัญญัติ ว่าหากนายทุนคนใดต้องการขึ้นอาคารสูงต้องจัดสรรพื้นที่สีเขียวและศูนย์อาหารที่ขายให้คนในตึกด้วยราคาย่อมเยา กทม.จึงต้องมีกติกาของเมืองที่เป็นธรรม ซึ่งพรรคก้าวไกลจะไปผลักดันให้ กทม.เป็นเมืองที่คนเท่ากัน

ขณะที่คำถามจากผู้ประกอบการจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ว่าจะแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียและขยะในลำคลองอย่างไรนั้น

นายวิโรจน์กล่าวว่า การแก้ปัญหาขยะในคูคลองคือการเพิ่มความถี่ในการจัดเก็บขยะและการปรับปรุงจุดทิ้งขยะตามริมคลอง เพราะหากไม่จัดเก็บขยะก็จะถูกพัดลงไปในคลอง ไม่ใช่เกิดจากการทิ้งขยะของประชาชนอย่างเดียว เราจึงต้องแก้ไขปัญหาที่ระบบ ซึ่งอาจจะต้องใช้งบประมาณกว่า 1.5 พันล้านบาท แต่หากเก็บค่าจัดเก็บขยะได้ปีละ 600 ล้านบาท และปล่อยให้นายทุนร้านสะดวกซื้อจ่ายแค่ 120 บาทต่อเดือน หรือห้างใหญ่จ่ายเดือนละแค่หมื่นบาท ก็จะมีงบไม่พอ เราจึงต้องจัดเก็บค่าจัดเก็บขยะจากคนตัวใหญ่ที่ไม่ยอมจ่ายเพื่อนำงบมาปรับปรุงระบบการจัดเก็บขยะ

และ 2.การจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมเป็นผู้ปล่อยน้ำเสียมากที่สุด โดยกรุงเทพมหานครมีข้อบัญญัติว่าจะจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากโรงงาน 8 บาทต่อคิว แต่กลับกลัวไม่กล้าเก็บ แต่ไปเก็บกับคนตัวเล็ก เป็นการปล่อยให้โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เอาเปรียบ นี่คือภารกิจของผู้ว่าฯกทม.อย่างตน และ ส.ก.พรรคก้าวไกล ที่จะไปเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และจะนำงบมาสร้างโรงบำบัดน้ำเสียและท่อระบายน้ำที่แยกระหว่างน้ำทิ้งกับน้ำฝนเพื่อลดความสามารถในการบำบัดน้ำเสีย และจะทำให้น้ำในกรุงเทพมหานครดีขึ้นให้ได้

ส่วนคำถามหากมีการชุมนุมทางการเมืองและรัฐบาลใช้กำลังในการสลายการชุมนุม หรืออาจถึงขั้นเกิดการรัฐประหารเกิดขึ้น จะทำอย่างไร

นายวิโรจน์กล่าวว่า พ.ร.บ.รักษาความสะอาด ถูกนำไปใช้อย่างไม่เป็นธรรม แม้เป็นการติดกระดาษแสดงความคิดเห็นก็ถูกนำกฎหมายนี้มาใช้แล้ว ส่วนผู้ที่นำตู้คอนเทนเนอร์มาขัดขวางประชาชนและเอาลวดหนามหีบเพลงมาขวางการเดินเท้าของประชาชน ผู้ว่าฯกทม.ต้องนำกฎหมายฉบับนี้มาบังคับใช้กับคนพวกนี้ด้วย และที่ผ่านมาก็ไม่มีการเก็บลวดหนามหีบเพลง เมื่อมีประชาชนพลเมืองดีไปเก็บให้ กลับถูกกล่าวหาดำเนินคดีว่าลักทรัพย์ของทางราชการ ถ้าเป็นอย่างนั้นตนจะให้เทศกิจไปเก็บแล้วนำไปคืนกองทัพ ไม่ใช่นำมาวางเกะกะแบบนี้ทำให้คนเดินเท้าต้องเดือดร้อน

นายวิโรจน์กล่าวว่า ตนยังสงสัยอีกว่า เมื่อเกิดการชุมนุม แล้วสั่งบีทีเอสให้ต้องหยุดเดินรถ ทั้งที่เป็นหนี้อยู่ 3.7 หมื่นล้านบาท ยังไม่สาสมอีกหรือ

“นอกจากนี้ หากบีทีเอสหยุดเดินรถจะเป็นอันตราย หรือเป็นการหมายจะให้ใครใส่ชุดลายพรางไปส่องยิงประชาชนแบบที่เคยทำมาหรือไม่ นี่คือเรื่องที่ผู้ว่าฯกทม.ไม่ได้ หากผมได้เป็นผู้ว่าฯกทม.จะไม่ยอมให้ใครใช้กระสุนจริงเป็นแสนนัด และปักป้ายว่าเขตกระสุนจริง และยิงสังหารประชาชนใจกลางเมืองหลวงอีกแล้ว เรื่องที่สำคัญคือการใช้สถานที่ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจอาวุธ และแจ้งความประสงค์มาเลยว่าจะทำอะไร หากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น ผู้ว่าฯกทม. ก็จะกลายเป็นประชาชน การลุกขึ้นสู้ของประชาชนจะต้องมีผู้ว่าฯกทม.ที่ชื่อวิโรจน์เคียงข้าง และยืนเคียงข้างเพื่อปกป้องประชาชนอย่างแน่นอน” นายวิโรจน์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image