‘อภิสิทธิ์’ แนะเขียนบทบัญญัติ ‘หยุดวัฏจักร รปห.’ ตัดอำนาจ ส.ว.-เรียนรู้จุดบอด ยกร่างฉบับ ปชช.

‘อภิสิทธิ์’ แนะเขียนบทบัญญัติ ‘หยุดวัฏจักร รปห.’ ตัดอำนาจ ส.ว. – เรียนรู้จุดบอด ยกร่างฉบับ ปชช.

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ คณะกรรมการญาติวีรชน 35, มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.), ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล, รัฐสภา ตลอดจนภาคประชาชน ร่วมจัดงานรำลึก “30 ปี พฤษภาประชาธรรม”

โดยช่วงเช้าตั้งแต่เวลา 08.30 น. ที่อนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 คณะผู้จัดงาน ญาติวีรชน ผู้แทนภาคส่วน และประชาชนร่วมพิธีวางพวงมาลา กล่าวรำลึก ประกอบพิธีทางศาสนา และเปิดอนุสาวรีย์วีรชนพฤษภา 35 อย่างเป็นทางการ

อ่านข่าว :

บรรยากาศงานช่วงบ่าย เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม LT2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเปิดเวทีอภิปรายนานาชาติ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หยุดวัฏจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ พร้อมเผยแพร่ภาพสดผ่านระบบออนไลน์

เวลา 13.20 น. ดร.โคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวเปิดงานเป็นภาษาอังกฤษ บอกเล่าถึงความเป็นมาของการจัดงาน 30 ปี พฤษภาประชาธรรมว่า เพื่อต้องการเรียนรู้ประสบการณ์จากเพื่อนในเอเชียหลากหลายประเทศ ซึ่งเคยผ่านการทำรัฐประหาร ว่าจะจัดการอย่างไรเพื่อก้าวเดินต่อไปบนถนนสายประชาธิปไตยในอนาคต โดยใช้ประสบการณ์จากประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเหตุการณ์กวางจู ในประเทศเกาหลีใต้

Advertisement

ก่อนเวลา 13.30 น. เข้าสู่การสัมมนาช่วงที่ 1 เนื้อหา นำเสนอบทเรียนจากเหตุการณ์กวางจู เกาหลีใต้ บทเรียนจากฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมี นายสมชาย หอมลออ อดีตเลขาธิการ ครป.ปี 2535, นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจาก 7 ประเทศ ร่วมถอดบทเรียนด้วย

โดยเวลา 14.50 น. นายอภิสิทธิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านระบบคอนเฟอร์เรนซ์ ความว่า มีประเด็นที่เติมเต็มและโยงถึงสถานการณ์ปัจจุบันของไทย ดังนี้ เชื่อเหลือเกินว่า เหล่าวีรชนและผู้ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ พฤษภาคม 35 เพียงคาดหวังว่า ประเทศไทยจะปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนกำหนดสิทธิได้ เคารพสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“30 ปีผ่านไป ต้องยอมรับว่า เป็น 30 ปีที่เหล่าสนับสนุนประชาธิปไตย ค่อนข้างผิดหวังและตกใจ เหตุการณ์พฤษภาคม 35 เป็นช่วงที่สงครามเย็นเพิ่งสิ้นสุด หลายประเทศทั้ง ฟิลิปปินส์ ไทย ฯลฯ กำลังเคลื่อนเข้าสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้น

ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ความถดถอยของประชาธิปไตยเกิดขึ้นมาก หลายประเทศอาจมีข้อยกเว้นความสำเร็จ อย่าง เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย หรืออย่างปากีสถาน 20 ปีที่ผ่านมายังพบผู้นำอำนาจนิยมมากมาย ที่มีรูปแบบการใช้อำนาจ มีความหลากหลาย ซับซ้อน แนบเนียน และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้นำจำนวนมากผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญของประเทศนั้นมาได้ แต่ไม่อาจเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย ตามมาตรฐานสากลที่รู้จักและเรียกร้องกัน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมาช้านาน ก็มีความถดถอย อย่างสหรัฐ อเมริกา ที่ล่าสุดไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง หรือศาลสูง ริบสิทธิการทำแท้ง เป็นต้น จึงต้องยอมรับว่า การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยยังมีเส้นทางอีกยาวไกล หลายคนอาจจะเข้าใจว่า เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ประชาธิปไตยจะไปไกลและไหลลื่นมากกว่านี้

ในไทย แม้ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ดูถดถอยไป 30 ปี หรือยาวนานกว่านั้น แต่ในหลายมุม ค่านิยมประชาธิปไตยก็ได้หยั่งรากในหมู่ประชาชน ผ่านนโยบายการเลือกตั้ง ทั้งคนรุ่นใหม่ ที่กล้าเรียกร้อง
เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งไม่อาจสบายใจหรือประมาทได้ เพราะถดถอยตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกัน เรามีความก้าวหน้าในบางเรื่อง

นายอภิสิทธิ์ ชี้ว่า สิ่งที่ต้องทำให้มากขึ้น จริงอยู่ เราคิดว่าประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองซึ่งจะนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนได้ แต่ไม่ได้เป็นหลักประกันเสมอไปว่า จะได้รัฐบาล หรือผู้นำที่ดี ไม่มีปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น ดังนั้น

1.จะทำอย่างไรให้ยึดผลประโยชน์ของประชาชน และหากมีการประท้วงก็เป็นเพียงการประท้วงรัฐบาล ไม่นำมาสู่การล้มประชาธิปไตย คือแนวทางที่ต้องร่วมแสวงหาทางออก

2.ลำพัง รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย คงไม่สามารถเป็นหลักประกันความต่อเนื่องของประชาธิปไตยได้ แต่ต้องมีระบบมาสนับสนุน

“ถ้าจะเดินหน้าต่อ ในการสานเจตนารมณ์เพื่อประชาธิปไตย ปัจจุบันเรากำลังเผชิญปัญหาอะไร ?
ข้อห่วงใยประการแรก คือ 1.รัฐธรรมนูญ ยังเปิดโอกาสให้วุฒิสภา เลือกนายกฯ ได้ หลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป มีความสุ่มเสียงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ ผมไม่อยากให้สถานการณ์เกิดขึ้นและย้อนกลับไปอย่างปี 35 ขั้นตอนแรก ต้องยกเลิกมาตรา 272 ผู้มีอำนาจต้องเปิดใจยอมรับ เราไม่ควรปล่อยให้เกิดเงื่อนไขความขัดแย้งเช่นนั้น

ขั้นตอนที่ 2 ผมหวังว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคการเมือง และ ส.ว. ควรมีท่าทียอมรับว่า การจะให้การเมืองเป็นประชาธิปไตยราบรื่น ระบบต้องได้รับการยอมรับจากคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง ดังนั้น การปรับปรุงแก้ไข หรือแม้แต่ยกร่างรัฐธรมนูญประชาชน ต้องเกิดขึ้น เพื่อสร้างระบบที่ปราถนาให้เกิด โดยเรียนรู้จุดบอดสำคัญในเรื่องการตรวจสอบ ถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลที่ไม่ลงตัว จนนำไปสู่การลงท้องถนน

หากเรียนรู้บทเรียนร่วมกัน เอาความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ใช้เวทีนั้นหาทางออก นั่นน่าจะเป็นช่องทางที่ชัดเจนที่สุด ในการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ต่อไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สนับสนุนว่า ถ้าต้องการป้องกันรัฐประหารต่อไปในอนาคต เลี่ยงไม่ได้ที่ฝ่ายตุลาการจะเข้ามาสนับสนุนหลักการทางกฎหมาย ที่ไม่ยอมรับการรัฐประหาร โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เขียนบทบัญญัติบางประการไว้ สำหรับอ้างอิง

“สรุปคือ 1.อย่าไปท้อแท้ 30 ปีแม้ประชาธิปไตยถอยหลัง แต่เกิดขึ้นทั่วโลก 2.ท่ามกลางความถดถอยหลายด้าน แต่เราเห็นการเติบโตของประชาธิปไตยในประเทศ 3.เรียนรู้ข้อผิดพลาดในอดีต ด้วยกลไก ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่วีรชนได้ต่อสู้ไว้ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image