‘โภคิน’ จี้เลิกให้อภัยรัฐประหาร สร้างบทบัญญัติห้ามนิรโทษกรรม เล่าเรื่อง 3 พลังหลัง 2475

โภคิน ชี้ 3 พลังสู้กันในวังวนการเมืองไทย เสนอการรัฐประหารเป็น “อาชญากรรมต่ออำนาจอธิปไตยของปวงชน” บรรจุใน รธน.ใหม่

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ห้องประชุม LT2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
มีการเปิดเวทีอภิปรายนานาชาติ 30 ปีพฤษภาประชาธรรม หยุดวัฏจักรรัฐประหาร สร้างรัฐธรรมนูญประชาชน และประสบการณ์จากต่างประเทศ พร้อมเผยแพร่ภาพสดผ่านระบบออนไลน์

นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา กล่าวว่า วัฏจักรการรัฐประหารมีปัจจัยที่สำคัญคือ ความคิดแบบอำนาจนิยมครอบงำ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจนถึงวันนี้ ในปัจจุบันมีตัวอย่างมากมายให้เห็น “ข้าพเจ้าคือฮีโร่ เป็นคนเก่ง ไม่ฟังใคร ถูกที่สุด” ความคิดแบบนี้ปฏิเสธการมีส่วนร่วม ปฏิเสธหลักอำนาจเป็นของประชาชน ปฏิเสธหลักกฎหมายที่ถูกต้อง แต่อ้างให้คนอื่นปฏิบัติตามกฎหมายที่ตัวเองออก

นายโภคินกล่าวว่า ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงวันนี้มีการต่อสู้กัน 3 พลัง ประกอบด้วย

Advertisement

1.พลังศักดินานิยม ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่ได้อ่อนแรงลงไป เป็นรูปแบบสถาบันที่ดำรงอยู่มาช้านาน มีคุณูปการในการสร้างชาติ ตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้พลังนี้ได้รับการยอมรับอย่างสูงในสังคม

2.พลังเผด็จการอำนาจนิยม โดยหลักนำโดยผู้นำกองทัพ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลังนี้พยายามสร้างความปึกแผ่น พยายามทำเป็นระบบขุนศึก สามารถสืบทอดต่อได้ แต่ก็ไม่สามารถสืบทอดต่อในลักษณะที่ให้ลูกมาปกครองต่อได้ จะเห็นได้ชัดว่าผู้บัญชาการทหารเมื่อเกษียณอายุจะหมดอำนาจทันที

3.พลังรัฐธรรมนูญนิยม หรือ พลังฝ่ายประชาธิปไตย มีจุดอ่อนอยู่บางประการ ประการแรก ยังไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันการเมืองอย่างแท้จริง หรือไม่มีอุดมการณ์อยากจะทำเพื่อประชาชนที่แท้จริง พบว่าความเป็นจริงแล้วตัวพรรคการเมือง มีความตั้งใจดีหลายอย่าง แต่บริบทของพลังทั้งหลายที่ต่อสู้กันอยู่ เมื่อมีการรัฐประหาร ก็แทบไม่มีพรรคการเมืองใดออกมาต่อสู้ยืนหยัดต่อการรัฐประหารอย่างจริงจัง ตรงกันข้ามพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อย กลับอาศัยกลไกทางประชาธิปไตยเพื่อเข้าสู่อำนาจหรือร่วมมือกับคนทำรัฐประหาร

Advertisement

สำหรับพรรคการเมืองมีอยู่ 2 ลักษณะ คือพรรคการเมืองที่ใช้เงิน อำนาจ อิทธิพล จะได้รับการเลือกตั้ง จึงไม่แปลกใจที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขต 350 คน เป็น 400 คน เพื่อหวังให้พื้นที่ต่างๆ 400 เขต ไปชนะการเลือกตั้งได้ ส่วน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ที่จะมาแก้ไขความเหลื่อมล้ำ เหลือ 100 คน ระบบส.ส.พึงมีก็ถูกตัดออกไป เป็นการมองว่าประชาชนสามารถซื้อได้ ข่มขู่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้พลังฝ่ายประชาธิปไตยจึงไม่ได้เข้มแข็งจริง

“ผมเชื่อว่ามีหลายท่าน แม้แต่นายกอภิสิทธิ์เอง อยากผลักดันไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงถูกต้อง แต่ถูกกดทับโดยความคิดอำนาจนิยม ถูกกดทับโดยบริบทที่เป็นอำนาจนิยมเกือบทั้งหมด” นายโภคินกล่าว

นายโภคินกล่าวว่า พลวัตรของพลังทั้งสามกลับไปกลับมา ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในยุคของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นการต่อสู้ระหว่าง ศักดินานิยม กับราชการนิยม (อำนาจนิยม) ยุค 14 ตุลา เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ศักดินานิยมกับประชาธิปไตย โค่นล้มระบบอำนาจนิยม ยุค 6 ตุลา เกิดความหวาดกลัวระบบคอมมิวนิสต์ ยุคพฤษภา 2535 เกิดความหวาดกลัวระบบอำนาจนิยมของพลเอกสุจินดา คราประยูร จึงเป็นความร่วมมือระหว่าง ศักดินานิยมกับประชาธิปไตย เพื่อโค่นล้มระบบอำนาจนิยม

“วันนี้เราต้องมาตอบว่า เป็นความสัมพันธ์แบบไหนกันแน่ ผมเชื่อว่าพลังศักดินานิยมต้องการอยู่อย่างมั่นคงปลอดภัย สิ่งที่พลังนี้หวาดเกรงคือการยึดอำนาจจากกองทัพ เพราะพลังฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงพลังศักดินานิยมได้เลย”

อดีตประธานรัฐสภากล่าวต่อไปว่า หากไม่มีการรัฐประหารสัมพันธภาพทั้ง 3 พลัง จะพัฒนาไปในทางการอยู่ร่วมกัน ทำให้การเมืองสังคมไทยทั้งระบบสามารถเดินไปด้วยกันได้ ทางแก้ไข มี 3 เรื่อง คือ 1 ขจัดความคิดแบบอำนาจนิยม ต้องมองจากภาคประชาชน ปลดปล่อยสร้างอำนาจให้คนตัวเล็ก ผู้คนมีส่วนร่วมการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการทำมาหากิน

“คนตัวเล็ก ไม่ได้รับการรับฟังจากผู้มีอำนาจ จะเห็นได้ว่าไปร้องที่นายกรัฐมนตรีก็แล้ว ได้พูดจาได้ประชุมกัน และได้ประชุมครั้งต่อไป และครั้งต่อไป และครั้งต่อไป แต่ไม่ได้แก้ปัญหา แต่เมื่อยึดอำนาจมาแล้ว ก็ออกกฎหมายมาหลายร้อยฉบับ ออกมากดทับมากกว่าเดิม เป็นวงจรอยู่อย่างนี้

ดังนั้นถ้าเริ่มการปลดล็อกกฎหมายอนุญาตการทำมาหากิน มีประมาณ 1,500 กระบวนการ ปลดออก 1,400 กระบวนการ แขวนไว้เพื่อไปทำในแซนด์บ็อกซ์ สิ่งที่กำหนดความผิดโทษทางอาญาก็แขวนไว้ก่อน พลเอกประยุทธ์ เคยแขวนกฎหมายเรื่องโรงแรมไว้ แต่ไม่ได้แก้ไขปรับปรุงให้มีความเหมาะสมกับสภาพสังคม เมื่อหมดช่วงการปลดล็อกก็ผิดกฎหมาย ถ้าปลดปล่อยให้คนทำมาหากิน เขาจะมีพลัง” นายโภคินกล่าว

นายโภคินกล่าวว่า สำหรับประเด็น Empower ประชาชนทั่วไปขาดแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้ ขาดองค์ความรู้ ขาดตลาด ถ้าเราสามารถปลดปล่อยคนตัวเล็ก เขาจะไม่อยากมีความคิดอำนาจนิยมอีกต่อไป เพราะตัวเขาคือฮีโร่ ตัวเขาคือผู้สร้างประเทศ ไม่ใช่รอฮีโร่สักคนเอาเงินมาให้ ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าเราเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปสู่ประชามติ ก็จะเป็นฉบับแรกที่เขียนโดยประชาชน และเห็นชอบโดยประชาชน

นายโภคินกล่าวว่า ต้องมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้การรัฐประหารไม่สามารถนิรโทษกรรม และถูกลงโทษ ถือเป็น “อาชญากรรมต่ออำนาจอธิปไตยของปวงชน” และถือสิ่งเหล่านี้เป็นประเพณีในระบอบการปกครองประชาธิปไตยของประเทศไทย ไม่ให้อภัยการยึดอำนาจ และตามลงโทษได้ตลอดเวลาเมื่อหมดอำนาจ ถ้าเป็นเช่นนี้แม้มีการฉีกรัฐธรรมนูญ สิ่งนี้จะดำรงอยู่ตลอดไป เหมือนหลักสิทธิมนุษยชน ถือเป็นหลักทั่วไปซึ่งอยู่ในรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image