ชัชชาติ ผนึกพรรคการเมือง ร่วมเปิดเทศกาล Pride Month ปักหมุดหนุนความหลากหลายทางเพศ

‘ชัชชาติ’ – พรรคการเมือง ร่วมเปิดเทศกาล ‘Pride Month’ ปักหมุดหมาย หนุนความหลากหลายทางเพศ

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) พร้อมด้วย นายจักกพันธุ์ ผิวงาม อดีตรองผู้ว่าฯกทม. และนายภิมุข สิมะโรจน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซัสโก้ จำกัด (มหาชน) ลงพื้นที่สำรวจที่ดินเอกชนติดรถไฟฟ้า MRT วงศ์สว่างที่ต้องการให้ กทม.ทำสวนสาธารณะ

จากนั้น นายชัชชาติได้เดินทางจากสถานีรถไฟฟ้าวงศ์สว่าง ไปยังโรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพ ถนนพญาไท เขตราชเทวี เพื่อเข้าร่วมการแถลงข่าวเปิดงานเทศกาล Pride Month “บางกอก นฤมิตร ไพรด์ 2022” (BANGKOK NARUEMIT PRIDE 2022) ของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ตามนโยบาย ‘12 เทศกาล 12 เดือน’ ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย 214 ข้อ ของนายชัชชาติครั้งหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

โดยงานดังกล่าว จัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ มีไฮไลต์คือการเดินขบวนของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ บริเวณวัดแขก สีลม

Advertisement

บรรยากาศเวลา 12.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน พรรคการเมือง ตลอดจนนักเคลื่อนไหวประเด็นความหลากหลายทางเพศ ร่วมกิจกรรมรับมอบธงไพรด์หลากสี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นการปักหมุดหมายเริ่มต้นเดือนไพรด์ ตามนโยบาย 214 ข้อ ของนายชัชชาติ ซึ่งยังกำหนดไว้ในปฏิทินของกรุงเทพมหานครด้วย

โดยมีผู้ร่วมงาน อาทิ ตัวแทนปลัดกระทรวงแรงงาน, นาดา ไชยจิตต์ คณะทำงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ พรรคไทยสร้างไทย, นายวรนัยน์ วาณิชกะ หัวหน้าพรรครวมไทยยูไนเต็ด, นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์, นายชานันท์ ยอดหงษ์ คณะทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย, ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า, มีมี่ และพลอย กลุ่มทะลุวัง, ตัวแทน sex worker พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ ‘ฟ้า’ จากกลุ่มราษฎรมูเตลู, น.ส.ชญาธนุส ศรทัตต์ หรือ ‘เฌอเอม’ อดีตผู้เข้าประกวดอดีตผู้เข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ตลอดจนตัวแทนมิสแกรนด์ ตัวแทนจากสถานทูตฟินแลนด์ เนเธอร์แลนด์ และแคนาดา เป็นต้น

Advertisement

ต่อมา “แป้ง” ตัวแทนผู้พิการที่มีความหลากหลาย เป็นแขกรับเชิญพิเศษ มอบธงให้กับตัวแทนพรรคการเมืองและนักการเมือง เริ่มที่นายชานันท์ ยอดหงษ์ คณะทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย รับมอบธงไพรด์ ต่อด้วยตัวแทนพรรคก้าวไกล, นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์, ตัวแทนจากพรรคสามัญชน, ตัวแทนพรรครวมไทยยูไนเต็ด

“ทาทา” นักเคลื่อนไหวผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวในฐานะพิธีกรว่า เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธงผืนนี้ที่มอบไป จะไม่ถูกพับเก็บใส่ลิ้นชัก แต่ต้องไปโบกสะบัดหน้าพรรคตัวเอง

จากนั้น ตัวแทน มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) มอบธงไพรด์แก่ตัวแทนสถานทูตฟินแลนด์ ประจำประเทศไทย, ตัวแทนสถานทูตประเทศเนเธอร์แลนด์ ตามด้วยแคนาดา

ตัวแทนองค์กรบางกอกเรนโบว์ มอบธงแก่ผู้มีเกียรติ อาทิ ตัวแทนมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ที่มี รองอันดับ 1 ไฮดี้ – นางสาวอมันดา อแมนด้า เจนเซ่น นำทีม

“ทาทา” กล่าวว่า เราหวังว่าตัวแทนมิสแกรนด์ จะมาร่วมเดินกันในวันที่ 5 มิถุนายนนี้แน่นอน แต่งตัวสับๆ

จากนั้น ตัวแทน เครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มอบธงให้กับภาคเอกชน โดยมินิคูเปอร์ จะนำรถมาเข้าร่วมขบวนด้วยในวันที่ 5 มิถุนายนนี้

ต่อด้วย น.ส.ชญาธนุส หรือเฌอเอม, นายธชย ประทุมวรรณ หรือเก่ง เดอะวอยซ์ รับธงไปโบกสะบัด ทั้งนี้ มาริสา สุโกศล รองประธานบริหาร กลุ่มโรงแรมในเครือสุโกศล ร่วมให้เกียรติรับมอบธงไพรด์ และเอื้อเฟื้อสถานที่แถลงข่าว

จากนั้นตัวแทนจากทุกภาคส่วนถ่ายภาพร่วมกัน เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ โดยนายชัชชาติ ได้ร่วมบันทึกภาพหมู่ และถ่ายร่วมกับมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ก่อนปิดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ

สำหรับ การแถลงข่าว บางกอกนฤมิตไพรด์ มีรายละเอียด ดังนี้

เดือนมิถุนายน คือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) หลายๆ ประเทศทั่วโลกได้มีการจัดงาน “Pride Month” ซึ่งเริ่มจัดครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาและต่อมาก็เริ่มจัดในประเทศอื่นๆ จนกลายเป็นงานที่จัดขึ้นทั่วโลกในเดือนมิถุนายนของทุกปี มีการเฉลิมฉลอง จัดขบวนพาเหรด และผลักดันให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้น เดือนไพรด์จึงเปรียบเสมือนเดือนแห่งการยืนยันและย้ำเตือนการมีอยู่ของขบวนการเรียกร้องสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลก

เดือนไพรด์ หรือ Pride Month เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.1962 ท่ามกลางสังคมที่ไม่ยอมรับเพศหลากหลาย และมีนโยบายต่อต้านเกย์ ทำให้ผู้คนเพศหลากหลายที่เรียกร้องสิทธิของตัวเองในย่านเกรนิชวิลเลจ แมนแฮตตัน รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ทำการโต้กลับต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้ความรุนแรง จนนำไปสู่เหตุการณ์การไม่สยบยอมของคนเพศหลากหลาย ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่ประจักษ์ คือ เหตุการณ์จลาจลสโตนวอล (Stonewall Riots) หลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ หลายๆ ประเทศทั่วโลกได้จัดงานรำลึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ ย้ำเตือนบทบาทของคนเพศหลากหลาย รวมไปถึงการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในตัวเอง ผ่านขบวนพาเหรดสีรุ้ง หรือไพรด์พาเหรด ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนมิถุนายนของทุกปี จนกลายเป็นต้นกำเนิดของเดือนไพรด์ เดือนแห่งความภาคภูมิใจของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ

ประเทศไทย ถูกขนานนามว่าเป็นดินแดนเสรี เปิดกว้าง และเป็นสวรรค์ของคนเพศหลากหลาย แต่ในความเป็นจริงนั้น ประเทศไทยเองก็ยังไม่มีกฎหมาย หรือนโยบายใดรับรองสิทธิหรือยืนยันการมีอยู่ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ที่ผ่านมาจึงมีขบวนการปกป้องสิทธิ ที่เรียกร้องสมรสเท่าเทียมและความเสมอภาคทางเพศของกลุ่มคนเพศหลากหลายมาโดยตลอด ทั้งภาคประชาชน ภาคประชาสังคม องค์กร และหน่วยงานต่างๆ

พวกเรา คณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ ซึ่งมาจากการรวมกลุ่มของนักกิจกรรมที่ทำงานผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศและความเสมอภาคทางเพศ โดยทำงานหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีผลงานขับเคลื่อนสิทธิความหลากหลายทางเพศในหลายๆ ด้าน ทั้งการเรียกร้องสิทธิด้านกฎหมายให้กับพนักงานบริการทางเพศ หรือริเริ่มแคมเปญจ์ล่ารายชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1448 หรือที่เรียกกันว่าสมรสเท่าเทียมภาคประชาชนเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการยื่นเข้าสภาให้เกิดการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จนตอนนี้มีผู้เข้าชื่ออยู่ราวๆ 300,000 คน

พวกเราเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และมองเห็นว่าเดือนไพรด์มีความสำคัญกับพวกเราเป็นอย่างมาก เพื่อเป็นการรำลึกและเขียนบทต่อไปในหน้าประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย พวกเรา คณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์จึงได้ตัดสินใจที่จะจัดขบวนเฉลิมฉลองเดือนไพรด์ หรือไพรด์พาเหรดครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร ภายใต้ชื่องาน “บางกอกนฤมิตไพรด์” ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2565 ที่ถนนสีลม อันเป็นสถานที่ที่มีเรื่องราวและประวัติศาสตร์การมีอยู่ของกลุ่มคนเพศหลากหลายในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม การจัดงานไพรด์พาเหรดครั้งแรกในปีนี้มีความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการจับตามองจากภาครัฐหรือความเสี่ยงต่อการการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่พวกเราก็ยังคงยืนยันที่จะจัดงานนี้เพื่อผลักดันความเสมอภาคทางเพศและยืนหยัดถึงการมีอยู่ของตัวตนคนเพศหลากหลายตามหลักสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยมีประเด็นที่กำลังผลักดันหลากหลายด้าน เช่น การรณรงค์ล่ารายชื่อเพื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน กฎหมายรับรองเพศสภาพ และยังมีประเด็นทางสังคมอื่นๆ ที่ประชาชนกำลังเรียกร้องในวิถีทางประชาธิปไตย เช่น ประเด็นสิทธิของเยาวชน LGBTQ+ ในสถานศึกษา และยิ่งไปกว่านั้น ในวันที่ 26 มิถุนายน จะมีสงขลาไพรด์ที่จะจัดขึ้นในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นไพรด์ครั้งแรกในภาคใต้อีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นความหลากหลายทางเพศนั้นกว้างไกล และทุกคนมีสิทธิที่จะได้เฉลิมฉลอง ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ในพื้นที่ใดหรือเป็นใครก็ตาม

พวกเรา คณะทำงานบางกอกนฤมิตไพรด์ มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้การสนับสนุน และอำนวยความสะดวกในการจัดกิจกรรม ที่เป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในตัวตนของเรา และหวังว่าจะดำเนินต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image