‘อนุทิน-ปลัดสธ.’ เปิดงาน‘กัญชาบุรีรัมย์’

หมายเหตุนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวปาฐกถาพิเศษงานมหกรรมกัญชา 360 องศา “ปลดล็อกกัญชา ประชาชนได้อะไร” ภายใต้แนวคิดกัญชาคืนชีวิตสร้างเศรษฐกิจให้ประชาชน ส่วนนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าววัตถุประสงค์และแนวทางการจัดงาน ที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน

อนุทิน ชาญวีรกูล
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

เรื่องกัญชาเสรีทางการแพทย์ ที่เริ่มต้นจากชาวบุรีรัมย์ วันนี้ขอไม่พูดตามสคริปต์ แต่ขอพูดจากใจว่าขอขอบคุณพี่น้องชาวบุรีรัมย์ ที่ทำให้นโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ของพรรคภูมิใจไทยเมื่อ 4 ปีก่อน ได้เกิดขึ้นที่นี่ ที่มีวันนี้ ก็เพราะเริ่มจากบุรีรัมย์แห่งนี้ อย่างที่เพลงร้องว่า “สายเหนียวต้องหนูกันภัย สายอนามัยต้องหนูกัญชา” วันนี้นโยบาย 6 ต้น ไม่มีแล้ว ตอนนี้จะปลูกกี่ต้นก็ได้ที่บ้านเรา เพราะกัญชาไม่ใช่ยาเสพติดอีกแล้ว แต่เป็นพืชที่จะทำให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์ เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพที่ดีของเรา เป็นหนทางทำมาหากิน สร้างรายได้จากการปลูกพืชกัญชา ตั้งแต่ระดับครัวเรือน กิจการ วิสาหกิจชุมชน และอุตสาหกรรม

Advertisement

ต้องขอขอบคุณชาวบุรีรัมย์ที่ให้การสนับสนุน จนนโยบายกัญชาประสบความสำเร็จ พรรคภูมิใจไทยปลดล็อกกัญชา “พูดแล้วทำ” วันนี้ จัดงานมหกรรมกัญชาฯขึ้นที่ จ.บุรีรัมย์ เป็นแห่งแรก ถือเป็นการฉลองความสำเร็จของนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ เราต้องกลับมาประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องทั่วประเทศทราบถึงประโยชน์ของพืชกัญชาและผลิตภัณฑ์ต่างๆ อีกมากมายที่ใช้พืชกัญชา กัญชง เป็นส่วนผสม เพื่อดูแลสุขภาพ สร้างรายได้และพัฒนาพืชกัญชาต่อไป นอกจากนั้นในวันหนึ่งทั้งโลกนี้จะมาใช้สินค้าผลิตกัญชา กัญชงที่ผลิตในประเทศไทยจึงเป็นโอกาสที่เราจะนำมาเป็นทางเลือกทำมาหากิน

ฝากประชาชนทุกท่าน รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เลือกใช้พืชกัญชาในมิติที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อย่าไปใช้ในทางที่ผิด ในทางมอมเมาหรือทำแล้วนั่งอมยิ้มทั้งวัน ไม่ทำมาหากินอะไร และขาดสติ เพราะสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่นโยบายกัญชา กัญชงเสรีของพวกเราชาวบุรีรัมย์ที่ได้ตัดสินใจเลือกให้ผมและพรรคภูมิใจไทย ไปเป็นผู้แทนราษฎร ไปเป็นรัฐบาล และผลักดันสิ่งที่เป็นประโยชน์กลับมาให้กับประชาชน อย่างที่พรรคภูมิใจไทยได้รับคะแนนเสียงแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส.ครบทั้ง 8 คน จาก 23 อำเภอ มาตลอด 4 ปี ซึ่งคะแนนเสียงของชาวบุรีรัมย์เป็นคำสั่งให้ผมและพรรคภูมิใจไทยไปทำงานตามสั่งของประชาชน

ตอนเข้ามาดูแลกระทรวงสาธารณสุข ผมก็ได้ทำตามสัญญานโยบายกัญชา พูดแล้วทำและทำให้ อสม.ธรรมดา กลายเป็นหมอคนที่ 1 ของชาวบ้านในโครงการ 3 หมอ วันนี้ หากเรานำกัญชาไปในทางที่ถูกต้อง ถูกวิธี ไม่ใช่ว่าปลดล็อกแล้วจะไปสูบท้าทายตำรวจ เพราะวันนี้ เราลบภาพกัญชาออกจากยาเสพติดแล้ว เหมือนเราลบรอยสัก วันนี้ที่จางลงแล้ว ก็อย่าไปสักอีก

Advertisement

สำหรับที่มีคนกังวลเรื่องกัญชาจะเป็นยาเสพติด ความมึนเมา นั่น เป็นทางเลือก เป็นความคิดทางการตลาดของคนที่ไม่อยากให้ใช้ประโยชน์จากกัญชา แต่ในข้อเท็จจริง เราใช้กัญชารักษาโรคนอนไม่หลับ แทนการใช้ยานอนหลับจากต่างประเทศ ซึ่งเงินที่ซื้อยาเหล่านั้น เทียบกับพืชกัญชาในบ้านของเรา หรือจากหมอที่จ่ายยากัญชามันต่างกันเยอะ ดังนั้น เราต้องไม่ยอมให้ใครมาขัดขวางภูมิปัญญาของไทย

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมียาเข้าตำรับกัญชา 8 สูตร ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ที่อยู่ในคลินิกกัญชา ซึ่งเป็นงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยที่ประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ดังนั้น หากกัญชาไม่มีประโยชน์ ยาเหล่านี้ก็จะไม่สามารถขึ้นบัญชียาหลักได้อย่างแน่นอน

วันนี้ เราไปไกลแล้ว ก็จะมียากัญชาอื่นๆ อีกมากมายที่จะเข้ามาจดทะเบียนเพื่อเข้าในบัญชียาหลักอีก นี่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราจึงต้องขอให้ทุกคน อสม.ทุกท่าน ช่วยกระทรวงสาธารณสุข ใช้กัญชาอย่างถูกวิธี ไม่ใช้ในทางที่ผิด เพื่อพี่น้องประชาชนทุกคน

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามปลดพืชกัญชาออกจาก
รายการยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และจะมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยการลงนามปลดพืชกัญชาออกจากรายการยาเสพติดนั้น มีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนสามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น และต่อยอดเศรษฐกิจครอบครัว

หลังจากที่ประเทศไทยเปิดโอกาสให้นำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ตั้งแต่ ปี 2562 กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้ ได้มีการติดตามประสิทธิผลและความปลอดภัยของการใช้ยากัญชาในการรักษาโรคต่างๆ การเข้าถึงยากัญชาทางการแพทย์ของประชาชน มีการเปิดคลินิกกัญชาในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงการติดตามเรื่อง

ความกังวลของสังคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งผลต่อจิตประสาท หรือการเสพติดนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้มี
ระบบการรักษาและกำกับติดตามผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยยากัญชามากขึ้น และมีความปลอดภัยสูง

นอกจากนี้ การให้ความรู้ ความเข้าใจกับประชาชนก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ จะเป็นภูมิคุ้มกันสำคัญในการทำให้กัญชาถูกใช้ประโยชน์อย่างถูกต้อง ดังนั้น ผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเน้น “ทำให้เร็ว” และ “ครอบคลุม” ทำให้ทันก่อนที่ประชาชนจะเริ่มปลูกเองได้ เพราะประชาชนต้องมีความรู้ตั้งแต่เรื่องโรคที่สามารถใช้กัญชาในการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น สายพันธุ์ต่างๆ ของกัญชา วิธีการปลูก และการใช้ยา หรือการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากกัญชา จึงกำหนดให้มีการจัดประชุมวิชาการกัญชาทางการแพทย์ขึ้นใน 12 เขตสุขภาพ
ทั่วประเทศ ในงานนี้มีการประชุมวิชาการทั้งภาคประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน โดยมีเป้าประสงค์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนมากที่สุด

การดำเนินงานของเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งประกอบไปด้วย จ.นครราชสีมา, จ.บุรีรัมย์, จ.สุรินทร์ และ จ.ชัยภูมิ เป็นเขตสุขภาพที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกัญชาเสรีทางการแพทย์ โดย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ทั้ง 4 จังหวัด มีการดำเนินการทั้งในส่วนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ

ในส่วนต้นน้ำ มีการปลูกกัญชาถึง 53 แห่ง ปลูกกัญชง ถึง 93 แห่ง, กลางน้ำ มีโรงพยาบาล (รพ.) GMP คือ รพ.คูเมือง ที่มีศักยภาพผลิตยากัญชา ทั้งแผนปัจจุบัน และแผนไทย เพื่อสนับสนุนทั้งเขตสุขภาพที่ 9 และเขตสุขภาพอื่นๆ ด้วย ส่วนปลายน้ำ สามารถเปิดคลินิกกัญชาทางการแพทย์ใน รพ.ภาครัฐ ครบทุกแห่ง คลินิกกัญชาทางการแพทย์ภาคเอกชน 9 แห่ง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาทั้งแผนไทย แผนปัจจุบัน ซึ่งจุดเด่นของเขตสุขภาพที่ 9 คือ ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาแผนปัจจุบันมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มโรคผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative Care)

นอกจากนี้ ยังขยายไปถึงการขับเคลื่อนถึงเศรษฐกิจ การพัฒนานำไปผสมในอาหาร เช่น ลูกชิ้นยืนกิน ของ จ.บุรีรัมย์, หมี่โคราช ของ จ.นครราชสีมา, กาละแม ของ จ.สุรินทร์, หม่ำ ของ จ.ชัยภูมิ เพื่อเพิ่มมูลค่าในผลิตภัณฑ์ของดีของแต่ละจังหวัด นอกเหนือจากการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีนิทรรศการความรู้ที่มีทั้ง ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่มีผลงานโดดเด่นมาร่วมจัดแสดง ให้ประชาชนได้เห็น สัมผัส ชิม และลงมือทำ

ทั้งนี้ สถาบันกัญชาทางการแพทย์ เป็นหน่วยงานที่จะประสานให้มีการนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ทางสุขภาพ ประชาชนสามารถสอบถามเรื่องการรักษาและการต่อยอดทางเศรษฐกิจได้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดบริการให้คำปรึกษาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการขออนุญาตการปลูกเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการเปิดตัวการใช้แอพพลิเคชั่น “ปลูกกัญ” ซึ่งเป็นการรับจดแจ้งสำหรับประชาชนที่ประสงค์ปลูกกัญชา กรมการแพทย์และกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก จัดนิทรรศการการรักษาด้วยยากัญชา พร้อมทั้งให้คำปรึกษาเรื่องโรคและยากัญชา กรมสุขภาพจิต ให้คำปรึกษา ให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะให้ความรู้เรื่องสายพันธุ์กัญชา การตรวจวิเคราะห์สารต่างๆ ยังมีหน่วยงานจาก
กระทรวงอื่นๆ เช่น กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมให้ความรู้ในการปลูกกัญชากัญชง สำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะนำหลักสูตรการอบรม การแปรรูปกัญชาไปจัดแสดง ผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเรียนได้ภายในงาน

คลินิกกัญชาทางการแพทย์ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ สามารถพูดคุยกับ
แพทย์ได้โดยตรง รวมทั้งการจัดบริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย ให้ผู้ป่วยมาตรวจรักษาและรับยา กลับบ้าน ซึ่งโรคหรือภาวะที่กรมการแพทย์ให้แนวทางแนะนำว่า ใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์แล้วได้ประโยชน์

ซึ่งผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มนี้ใช้ยารักษาปกติอยู่แล้วไม่ได้ผล หรือต้องการมารับการรักษาด้วยยากัญชาเพื่อเป็น
ทางเลือก ก็สามารถมาตรวจรักษาได้ในงาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image