สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ผู้นำ’ที่เป็นตัวของตัวเอง

สถานีคิดเลขที่ 12 : ‘ผู้นำ’ที่เป็นตัวของตัวเอง

เราอาจพิจารณาว่าใครเป็น ผู้นำตัวจริง ได้จากสถานการณ์ที่ว่า ท่ามกลางเงื่อนไขสลับซับซ้อนทางการเมือง คุณยังคงเป็นตัวของตัวเอง ยังสามารถเล่นเกมของตัวเอง หรือใช้อำนาจของตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน?

สัปดาห์ที่แล้ว โอกาสเช่นนี้ได้บังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

เมื่อมีเครื่องบินรบของกองทัพเมียนมารุกล้ำเข้ามาในน่านฟ้าไทยบริเวณจังหวัดตาก เพื่อปฏิบัติการปราบปรามชนกลุ่มน้อย ทั้งยังสร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินของราษฎรไทยบางรายด้วย

Advertisement

นี่คือจังหวะที่เอื้อ-เปิดช่องให้ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถกลับไปแสดงบทบาทผู้นำทางการทหารหรืออดีตผู้นำกองทัพที่ตนเองน่าจะถนัด

ณ ห้วงเวลาที่สังคมไทยไม่ได้ต้องการการบู๊ตอบ ยิงตอบ บอมบ์ตอบแบบมั่วๆ (อย่างที่ ส.ส.ปัดเศษ บางคน ยุหรือโว ซึ่งนักการเมืองประเภทนี้ก็มีตัวตนขึ้นมาจากกฎกติกาอันพิกลพิการ ที่ต้องการธำรงรักษาระบอบประยุทธ์ เอาไว้นั่นแหละ) หรือไม่ได้ต้องการอะไรที่มัน โอเวอร์รีแอ๊ก

แต่หลายคนต้องการเห็นมาตรการป้องกันตนเอง-ปฏิกิริยาประท้วงกลับทางการทูต ที่ว่องไวกว่านี้ แข็งกร้าวกว่านี้ และการแสดงจุดยืนในการปกป้องชีวิต-ทรัพย์สินของคนเล็กคนน้อย (ไม่ว่าจะไทยหรือชนกลุ่มน้อย) ที่เข้มข้นจริงจังกว่านี้

Advertisement

มิใช่การพยายามลดทอนความตึงเครียดด้วยคำสัมภาษณ์ประเภท เครื่องบินรบของเขา ตีวงเลี้ยวกว้างไปหน่อย หรือการอุปมาอุปไมยผ่านนิทานเปรียบเทียบเรื่อง เพื่อนพลาดเดินตัดสนามหญ้า

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานความมั่นคง มักทุ่มเทกำลังและทรัพยากรของตนเอง ไปกับการกดบังคับเพื่อควบคุมสถานการณ์ความมั่นคงภายใน โดยเฉพาะการจับ-ปราบ-ลงโทษเยาวชนที่ออกมาประท้วงรัฐบาล รวมถึงการ โอเวอร์รีแอ๊ก กับบริษัทเอกชนบางเจ้า

ทว่า ครั้นถึงเวลาจะต้องสวมบท ชายชาติทหาร ผู้ออกมาปกป้องอธิปไตยของประเทศอย่างหนักแน่นสมเหตุสมผล พวกท่านกลับเลือกไปเล่นบท หน่อมแน้ม เสียอย่างนั้น

นับเป็นการเสียโอกาส และสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ครั้งสำคัญอีกหนหนึ่ง

ตัดภาพมาที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเพิ่งเจอเคสเล็กๆ แต่ก็เป็นงานยากน่าหนักอกหนักใจในช่วงสุดสัปดาห์

นั่นคือการมี มือดี มาลอบเปลี่ยนชื่อป้ายสะพานจาก พิบูลสงคราม เป็น ท่าราบ

นี่เป็นปฏิบัติการ ลบล้างประวัติศาสตร์-ด้อยค่าคณะราษฎรและการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ผ่านการเชิดชู ผู้ต่อต้านการปฏิวัติ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่หน่วยราชการและพื้นที่สาธารณะบางแห่ง นับแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา (แม้ในกรณีเปลี่ยนป้ายชื่อสะพานครั้งล่าสุด จะยังระบุตัวคนทำชัดๆ ไม่ได้)

อย่างไรก็ตาม ความพยายามจะ เปลี่ยน-ทำลายประวัติศาสตร์ เอง ก็ต้องเผชิญหน้ากับบริบททางการเมืองที่ ผันแปร ไปเช่นกัน

เมื่อปฏิบัติการด้อยค่า 2475-คณะราษฎร ต้องเผชิญหน้ากับเทคโนโลยี ทราฟฟี่ฟองดูว์ และข้าราชการ กทม. ที่ทำงานภายใต้อำนาจของผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง (ด้วยคะแนนสนับสนุนทะลุ 1 ล้านเสียง)

ป้ายสะพาน ท่าราบ ที่ถูกจัดทำและนำมาติดตั้งอย่างเป็นปริศนา จึงถูกรื้อแกะออก และถูกนิยามว่าเป็นการกระทำอัน ผิดกฎหมาย

เท่ากับว่า ผู้ว่าฯชัชชาติ และ กทม. ได้โอกาสที่จะเล่นเกมของตัวเอง และใช้อำนาจที่ตัวเองมี ในสถานการณ์อันท้าทายแหลมคม

แล้วพวกเขาก็ตัดสินใจฉวยคว้าโอกาสดังกล่าวเอาไว้อย่างแนบเนียน

การตัดสินใจที่ถูกต้อง ย่อมนำไปสู่คะแนนนิยม-ความเชื่อมั่นที่พุ่งสูงขึ้น และ โอกาสใหม่ๆ ทางการเมือง ที่บังเกิดขึ้น

ปราปต์ บุนปาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image