บทนำมติชน : ผลโหวตไม่ไว้วางใจ

บทนำมติชน : ผลโหวตไม่ไว้วางใจ

การลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี 11 คนเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่รัฐสภา มีผลคะแนนน่าสนใจ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่ไว้วางใจ 206 เสียง ไว้วางใจ 256 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ไม่ไว้วางใจ 207 เสียง คะแนนไว้วางใจที่ปกติมาจากฝั่งรัฐบาลต่ำสุด 241 เสียง งดออกเสียง 23 เสียง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไม่ไว้วางใจต่ำสุด 193 เสียงไว้วางใจสูงสุด 268 เสียง งดออกเสียง 11 เสียง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย ไม่ไว้วางใจสูงสุด 212 เสียง ไว้วางใจ 245 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ฯลฯ จำนวน ส.ส.ทั้งสภามี 477 คน กึ่งหนึ่งคือ 239 คน มติไม่ไว้วางใจจะต้องมีคะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่ง หรือ 240 ขึ้น คะแนนไม่ไว้วางใจของทั้ง 11 คน ไม่ถึง 240 เสียง ทำให้บริหารงานต่อไปได้ แต่ก็มีประเด็นที่น่าสังเกตหลายประการ

แม้ในภาพรวม ผลคะแนนทำให้รัฐบาลบริหารงานต่อไปได้ แต่คะแนนที่แตกต่างลดหลั่นและมากน้อยต่างกัน เกิดขึ้นจากเหตุทางการเมืองต่างๆ ทั้งปัญหาการบริหารงาน ทั้งเรื่องความขัดแย้งภายในพรรคการเมืองเดียวกัน หรือภายในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ที่น่าสังเกต ได้แก่ คะแนนเสียงของ พล.อ.
อนุพงษ์ ซึ่งทำให้กระแสข่าวปรับปรุงคณะรัฐมนตรี เพื่อขยายบทบาทของ พล.อ.ประวิตร เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา สำหรับฝ่ายค้าน ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน ที่มีการโหมโรงอย่างครึกโครม ถือว่าบรรลุผลระดับหนึ่ง แม้ไม่ถึงขั้นที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ฉับพลันและโดยตรง แต่จะมีผลต่อรัฐบาลในระยะยาว

ปัญหาที่สภาผู้แทนฯ และนักการเมืองทั้งหลายน่าจะต้องรับผิดชอบหาทางแก้ไขร่วมกันก็คือ กระแสข่าวการเรียกรับประโยชน์ หรือที่เรียกว่า กล้วยŽ และ งูเห่าŽ ได้แก่ ส.ส.ที่ไม่ได้ลงมติตามที่พรรคแนะนำ ซึ่งเกิดขึ้นกับแทบทุกพรรค ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเทศกาลของการต่อรองเพื่อแลกกับผลประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ แทนที่จะเป็นเทศกาลของการตรวจสอบรัฐบาลแทนประชาชนที่เลือก ส.ส.เข้าสภา ทำให้เห็นว่าการเมืองไทยกำลังถอยหลังเข้าคลอง ทั้งที่ได้เกิดรัฐประหารเพื่อปฏิรูปการเมืองเมื่อ 8 ปีก่อน และถึงเวลาของการหาทางออกจากสภาพการเมืองภายใต้กฎกติกาที่เป็นปัญหาเช่นที่เป็นอยู่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image