7 สิงหา ‘วันเสียงปืนแตก’ เหตุเกิดที่บ้านนาบัว เรณูนคร ข่าวใหญ่ของประเทศเมื่อ 57 ปีก่อน

พ.ต.อ.สงัด โรจนภิรมย์ จาก Bangkok Post ฉบับวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม 2508 ภาพจาก 'ประชาไท'

7-8 สิงหาฯ 2508 วันเสียงปืนแตก

วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2508 เป็นวันที่กองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ปะทะด้วยกำลังอาวุธปืนเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นครั้งแรกที่บ้านนาบัว อ.เรณูนคร จังหวัดนครพนม เป็นข่าวใหญ่ของประเทศในเวลานั้น

ความเป็นมาของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เดิมใช้ชื่อ พรรคคอมมิวนิสต์สยาม เริ่มก่อตั้งโดย โฮจิมินห์ ชาวเวียดนาม

ประชุมครั้งแรกที่ โรงแรมตุ้นกี่ หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพง เมื่อ 20 เมษายน พ.ศ.2473
หลี หรือ โงจิ๊งก๊วก เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก (อ่าน เปิดตำนาน ‘โรงแรมตุ้นกี่’ พรรคคอมมิวนิสต์คุยลับครั้งแรก ทายาทซึ้งคนยังจดจำ)

ภาพจาก เจริญ ตันมหาพราน

1 ธันวาคม 2485 มีการประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ ประกาศจัดตั้ง พรรคคอมมิวนิสต์ไทย หลี่ฮวา เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไทยคนแรก มีสมาชิกก่อตั้ง 57 คน

Advertisement

ออกนโยบาย 10 ข้อ สร้างแนวร่วมต่อต้านญี่ปุ่นและรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งร่วมมือกับญี่ปุ่น เน้นงานในเมือง โดยมุ่งเข้าเคลื่อนไหวกรรมกรในโรงงาน

ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 2 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีเลขาธิการพรรคคนที่ 2 คือ ทรง นพคุณ (2495-2504)
ผ่านมติให้สนใจชนบทมากขึ้น จัดตั้งชาวนา เพราะถือว่าชาวนาเป็นพลังสำคัญที่สุดของการปฏิวัติ การปฏิวัติจะดำเนินไปได้ต้องสร้างพันธมิตรกันระหว่างกรรมกรและชาวนา

ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 มีขึ้นในปี พ.ศ.2504 ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เลขาธิการพรรคคนที่สาม คือ ‘มิตร สมานันท์’ หรือ เจริญ วรรณงาม ดำรงตำแหน่งระหว่าง 2504-2525

Advertisement

( หลังจาก มิตร สมานันท์ เสียชีวิต การประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 4 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2525 เลขาธิการคนที่ 4 คือ ‘ประชา ธัญญไพบูลย์’ หรือ ธง แจ่มศรี ซึ่งภายหลัง ออกมาใช้ชีวิตปกติในเมืองในปี 2533)

(ซ้าย) ธง แจ่มศรีในช่วงบั้นปลายชีวิต

(อ่าน ใต้ธงปฏิวัติ เปิดหนังสืองานศพ ‘ธง แจ่มศรี’ ในวันที่คอมมิวนิสต์ยังถูกปลุกผี)

รวม วงศ์พันธ์ สมาชิกกรมการเมืองถูกจับและถูกประหารชีวิตโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเดือนเมษายน 2504 พคท. ถอนผู้ปฏิบัติงานของพรรคเข้าสู่ชนบทมากขึ้น และตระเตรียมที่จะย้ายศูนย์การนำไปสู่ชนบท ที่ภูพาน อีสานเหนือ

ปลุกระดมชาวนาเตรียมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ บ่มเพาะผู้ปฏิบัติงานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านการทหาร
วันที่ 17 พ.ค.2505 อเมริกาส่งทหารเข้ามาในประเทศไทย

เดือนสิงหาคม 2506 กรมการเมือง พคท. มีมติให้เริ่มดำเนินการตระเตรียมสร้างฐานที่มั่นในเขตป่าเขา
ฝ่ายรัฐบาลได้พยายามติดตามและปราบปรามอยู่ตลอดเวลา

ในที่สุด วันที่ 7 สิงหาคม 2508 เสียงปืนนัดแรกระเบิดขึ้นที่บ้านนาบัว ต.เรณูนคร อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

เมื่อหน่วยเคลื่อนไหวของพรรค จำนวน 8 คน ประกอบด้วย นายหนูลา จิตมาตย์, นายหนูทอง นามวุฒิ, นายคำทา จิตมาตย์, นายลำเงิน จิตมาตย์, นายกายน ดำบุดดา, นายสนไชย มูลเมือง, นายยวน จิตมาตย์ และนายกองสิน จิตมาตย์ ได้ปะทะกับกำลังของตำรวจ เกิดยิงต่อสู้กันขึ้น

“สหายเสถียร” หรือ “กองสิน จิตมาตย์” ได้ยิงคุ้มกันให้สหายถอยออกไปได้ แต่ตนเองตกอยู่ในที่ล้อม จนมุมอยู่คันนากลางทุ่งและเสียชีวิต ณ ที่นั้น ด้วยวัย 25 ปี

กองสิน จิตมาตย์ ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก บ้านนาบัว หมู่บ้านเสียงปืนแตก

สำหรับหน่วยดังกล่าว อยู่ภายใต้ “ขุนรมย์ จิตมาตย์” ผู้ปฏิบัติงานพรรค

การปะทะครั้งนั้น ทางด้านเจ้าหน้าที่รัฐ สูญเสีย ส.ต.อ.ชัยรัตน์ สิงห์ด้วง ถูกกระสุนปืนเสียชีวิต ส.ต.ต. มนต์ชัย โพธิดอกไม้ บาดเจ็บถูกยิงขาทะลุ
พ.ต.อ.สงัด โรจนภิรมย์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครพนม ได้รับบาดเจ็บสาหัส ด้วยกระสุน 3 นัด ที่ขาขวาท่อนล่าง เหนือราวนมขวา 1 นัด หลังเท้าขวา 1 นัด นำตัวขึ้น ฮ.เข้ารักษาที่กรุงเทพฯ

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2508 พคท. เปิดการประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองขยายวงขึ้นที่ภูพาน และได้มีมติ 2508 ให้ประกาศการต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตชนบทอย่างเป็นทางการ
จากนั้นประกาศให้วันที่ 7 สิงหาคม เป็น “วันเสียงปืนแตก” และเป็นวันเริ่มต้นของสงครามประชาชนในประเทศไทย

เสียงปืนดังต่อๆ มาอีกอย่างไม่ขาดสาย

สำหรับบ้านนาบัว อันเป็นพื้นที่เสียงปืนแตก เว็บไซต์ของ อบต.โคกหินแฮ่ (www.khokhinhae.com) อ.เรณูนคร ให้รายละเอียดที่มา มีสาระบางตอนว่า
บ้านนาบัว ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2434 โดยประชาชน 90% อพยพมาจากบ้านโพนสาวเอ้ 10% จากบ้านโนนสังข์

ก่อตั้งครั้งแรกที่โนนหนองบัว ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน (หนองแวง) โดยการนำของ นายจันทร์สอน จิตมาตย์ ซึ่งมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันถึง 9 คน น้องคนที่ 2 มีบุตรมากถึง 10 คน เมื่อไม่มีที่ทำกินจึงได้พาน้องขี่ม้ามาหาจับจองที่ทำกินบริเวณหนองบัวในปัจจุบัน ปี พ.ศ.2445 ยกฐานะเป็นหมู่บ้าน ตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นเป็นคนแรก คือ นายจิตปัญญา แสนมิตร (นายเชียงมัง) และสร้างวัดบัวขาวขึ้นในปี พ.ศ.2445 โดยการนำของ พระเทศ นามพลแสน
ปี พ.ศ.2454 ผู้ใหญ่บ้านคนแรกได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 2 คือ นายวรรณทอง นามพลแสน ขณะนั้นบ้านนาบัวมี 30 ครอบครัว แต่ถูกน้ำท่วม จึงได้ย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบัน
ผู้ใหญ่วรรณทอง เกษียณอายุ แต่งตั้งผู้ใหญ่กรม แสนมิตร แทน
การสัญจรไปมามีความยากลำบาก ขณะนั้นบ้านนาบัวขึ้นต่อตำบลเรณูนคร เป็นหมู่ที่ 14 ของตำบลเรณู อำเภอธาตุพนม พาหนะใช้เกวียนโคกระบือลาก
พ.ศ.2493 ผู้ใหญ่กรม แสนมิตร เกษียณอายุ การเลือกตั้งโดยใช้วิธีการยกมือ ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4 ของบ้านนาบัวคือ นายเกียรติ นามพลแสน
ปี พ.ศ.2498 นายบุญทัน จิตมาตย์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5 และบ้านนาบัวได้แยกออกเป็นบ้านหนองกุงและมีนายบัวลำ ราชสินธ์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ปี พ.ศ.2500 มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลนำโดย นายภูมิ ชัยบัณฑิต เคลื่อนไหวครั้งแรกที่บ้านหนองกุง มีการต่อสู้กันขึ้นที่เถียงนา พ่อสี ราชสินธ์
พ.ศ.2504 ได้มีการจับกุมราษฎรในหมู่บ้าน ข้อหาอันธพาล นำไปขังลืมไว้ที่อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม จังหวัดอุดรธานี และย้ายนักโทษไปขังไว้ที่เรือนจำนครบาล กรุงเทพฯ
ครั้งสุดท้ายได้นำนักโทษไปขังไว้ที่เรือนจำลาดบัวขาว จังหวัดนครราชสีมา มีราษฎรในหมู่บ้านนาบัวและหนองกุงถูกจับไปด้วย 9 คน
ปี พ.ศ.2507 ราษฎรที่ถูกจับในข้อหาอันธพาลก็ถูกปล่อยตัวพ้นจากการเป็นนักโทษกลับมาสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง มีประชาชนที่เห็นขัดแย้งกับราชการถูกยิงเสียชีวิต
รัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและอาสาสมัคร มาเคลื่อนไหวปราบปรามราษฎรที่มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาลในเขตบ้านนาบัวและบ้านใกล้เคียง ราษฎรในพื้นที่บ้านนาบัวได้ทยอยกันเข้าป่า ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น
ระยะนั้นผู้ใหญ่บ้าน คือ นายอัมลา นามพลแสน (คนที่ 6)

วันที่ 7 สิงหาคม 2508 ทางการได้ส่งตำรวจทหารปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ในพื้นที่รอยต่อสามอำเภอ คือ อำเภอธาตุพนม อำเภอเมือง อำเภอนาแก พื้นที่ระหว่างบ้านนาบัว บ้านหนองฮี บ้านดงอินำ
เกิดการปะทะขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย นานประมาณ 45 นาที
ปรากฏว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 4 นาย ฝ่ายคอมมิวนิสต์เสียชีวิต 1 นาย คือ นายกองสิน จิตมาตย์ หรือสหายเสถียร ซึ่งเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า “วันเสียงปืนแตก”
ปี พ.ศ.2509 ทางราชการยิ่งปราบปรามมากยิ่งขึ้น ผู้ใหญ่อัมลา นามพลแสน พร้อมกับราษฎรหลายคนในหมู่บ้าน ถูกจับในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ จึงได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาใหม่เป็นคนที่ 7 คือ นายบุษบา แสนมิตร

ทางการยิ่งเร่งการปราบปรามมากยิ่งขึ้น สั่งให้ราษฎรทำรั้วรอบหมู่บ้านอย่างแน่นหนา สั่งให้ชาวบ้านไปรายงานตัวก่อนออกไปทำไร่ทำนา และช่วงกลับมาบ้านอย่างเคร่งครัด ถ้าคนไหนฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างหนัก เช่น เตะ ตี และนำไปคุมขังที่ค่ายทหารบ้านหนองฮี และส่งไปที่ค่ายทหารกองทัพภาคที่ 2 จังหวัดมุกดาหาร
เมื่อทางราชการเร่งมือปราบปราม ราษฎรก็ยิ่งหลั่งไหลเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น

นั่นคือบางส่วนที่บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน

ในภาพรวม การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธระหว่าง พคท.กับรัฐบาลยืดเยื้อ และเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นหลัง 6 ตุลาฯ 2519 เมื่อนักศึกษาประชาชนที่ถูกปราบปรามจากในเมืองเข้าร่วมกับพรรค
อย่างไรก็ตาม เกิดปัญหาภายใน และรัฐบาลออก นโยบาย 66/23 ทำให้เกิดการทยอยเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย และยุติการเคลื่อนไหวในที่สุด รายงานตัวกับทางการเป็นระยะๆ

ในระยะหลัง มีการศึกษา ตรวจสอบประวัติศาสตร์ เกิดการโต้แย้งว่า เหตุการณ์เสียงปืนแตก น่าจะตรงกับเช้าตรู่ของวันที่ 8 สิงหาคม 2508 มากกว่า โดยมีหลักฐานสำคัญคือ หนังสือพิมพ์รายวันที่รายงานข่าวดังกล่าวในฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2508

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image