อนุสรณ์เชื่อ ‘คนไม่เท่าคน’ ต้นตอสงคราม ใบ้ทางสู่สันติภาพ ‘ส.ศิวรักษ์’ ลั่น 16 ส.ค.วันสำคัญกรุงรัตนโกสินทร์

‘อนุสรณ์’ เชื่อ เหลื่อมล้ำ-ผูกขาด คือเชื้อเพลิงสงคราม ใบ้ทางสู่สันติภาพถาวร ‘สร้างรัฐบาลโลก’ – ‘ส.ศิวรักษ์’ ยก 16 ส.ค. วันสำคัญสุดของกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องในโอกาสครบรอย 77 ปี วันสันติภาพไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน PRIDI Talks #17: 77 ปี วันสันติภาพไทย

อ่านข่าว : รำลึก ‘77 ปีสันติภาพไทย’ อธิการ-นายกสภามธ. ย้อนอดีต หน้าดึกโดมคือฐานบัญชา ‘ขบวนการเสรีไทย’

‘ทูตนอกแถว’ ชี้ยุคสงครามเย็น ไทยทิ้งห่าง ‘หลักการปรีดี’ วันนี้โลกเข้าสู่ความขัดแย้งแบบใหม่

บรรยากาศเวลา 10.30 น. มีการเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘ความคิดสันติภาพของปรีดี พนมยงค์ กับสันติภาพของโลกในปัจจุบัน’ โดยมีเข้าร่วมเสวนาคือ นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยาม, พล.ท.ดร.พงศกร รอดชมภู อดีตประธานคณะกรรมาธิการ ความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร, รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ และนายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ และเจ้าของเพจทูตนอกแถว The Alternative Ambassador ดำเนินรายการโดย เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Advertisement

จากนั้น เวลา 10.43 น. รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวเปิดงาน โดยมีเนื้อหาความว่า วันนี้โลกกำลังอยู่ท่ามกลางสงครามอีกครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นช่วงต้นปี ได้เกิดเหตุการณ์สงครามใหญ่รัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ราคาอาหารที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นการทำลายการอยู่ร่วมกับอย่างสันติและเป็นการละเมิดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เกิดประเด็นความขัดแย้งระหว่างไต้หวัน-จีน-สหรัฐอเมริกา ปัญหาที่อาจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวันได้ วันนี้สถาบันปรีดี พนมยงค์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งล้วนเป็นองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับรัฐบุรุษปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเพื่อประกาศเจตนารมณ์ว่า พวกเรารักสันติภาพท่ามกลางความขัดแย้งและสงคราม

ต่อมา เวลา 10.55 น. นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ เริ่มเปิดวงเสวนาว่า สำหรับตนแล้วเห็นว่าวันสันติภาพเป็นวันที่สำคัญที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์

Advertisement

“เป็นวันประกาศอิสรภาพไม่น้อยไปกว่าวันที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงประกาศอิสรภาพเมื่อเราเสียกรุงครั้งแรก เฉกเช่นกับวันที่ 28 ธันวาคม 2430 ซึ่งเป็นวันที่พระเจ้าแผ่นดินขับไล่พม่าออกไปจากประเทศสยาม วันนี้เป็นวันประกาศเอกราชของชาติไทย แต่ทำไมคนไทยสมัยนี้ไม่เข้าใจ แม้งานที่จัดวันนี้ก็ไม่มีตัวแทนของรัฐบาลมา เพราะเป็นรัฐบาลแบบกึ่งดิบกึ่งดี ไม่เห็นความสำคัญของสันติภาพ เพราะฉะนั้น ขอให้รู้ไว้ว่า วันสันติภาพเป็นวันที่สำคัญที่สุดในหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ นายสุลักษณ์ระบุ ก่อนเล่าถึงเกียรติประวัติและผลงานของ อ.ปรีดี พนมยงค์

นายสุลักษณ์ กล่าวต่อว่า ผลงานชิ้นโบว์แดงชิ้นแรกของ อ.ปรีดี พนมยงค์ คือวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันที่เราเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ได้มีรัฐธรรมนูญการปกครองที่ดีที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญนี้ปรากฏชัดว่าอำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรชาวสยาม วันที่ 27 มิถุนายน 2477 อ.ปรีดี พนมยงค์ได้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่สำคัญที่สุดในเวลานั้น เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้คนยากจนได้เข้าเรียน ให้ทุกคนได้เรียนเพื่อสำนึกถึงธรรมะ ใช้ธรรมะเป็นศาสตราที่แหลมคม และนำมาพัฒนาบ้านเมืองและการเมือง

ต่อมาเวลา 11.05 น. พล.ท.ดร.พงศกร ได้เสวนาในหัวข้อ สงครามและสันติภาพ ซึ่งสงครามเกิดจากเงื่อนไขหลัก 3 ประการ โดยประการที่ 1 คือ ความยุติธรรมของการกระจายผลประโยชน์ หากไม่มีการกระจายก็จะเริ่มเกิดการชิงอำนาจกัน ประการที่ 2 ทรัพยากรที่ขาดแคลน ทำอย่างไรที่จะเฉลี่ยทุกข์และสุขทุกประเทศได้ และประการที่ 3 คือ ความเชื่อบางอย่าง ที่สนับสนุนสงครามจากเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของลัทธิ ศาสนา

 

“สงครามมักเกิดจากจุดยืนแบบเจรจาไม่ได้ ความต้องการที่จะแยกดินแดนอาจจะมาจากการอยากจะปกครองตนเอง อยากมีชีวิตที่ดีขึ้น หรือยึดดินแดนคนอื่นเนื่องจากขาดทรัพยากร สงครามนั้น มีทั้งสงครามที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม โดยสงครามที่เป็นธรรมคือ มีเงื่อนไขที่คนทั้งโลกรับได้ ไม่ใช่ดีสำหรับแค่บางคน

เราสามารถนำแนวคิดทั้งหมดมาช่วยในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดูในระดับเล็ก คือทำอย่างไรไม่ให้ผู้นำในแต่ละประเทศอยู่นานเกินไป หากผู้นำอยู่นานเกินไป หรือไม่มีโอกาสที่จะเปลี่ยนง่ายๆ เขาก็จะเริ่มมีความฝันว่าเขาเป็นจักรพรรดิ นี่เป็นปัญหาที่เราต้องพยายามส่งเสริมประชาธิปไตย ขณะเดียวกันเรื่องรัฐสวัสดิการสำคัญที่สุด เพราะจะทำให้คนเกิดการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขกันในประเทศก่อน และขยายเรื่องนี้ไปยังต่างประเทศ โดยการคุยกันว่าจะมีองค์กรใดๆ ในประเทศหรือไม่ที่จะคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง หรือผู้ที่อยู่ในชุมชนระหว่างประเทศต้องคิดกันใหม่ ว่าต้องปฏิรูปองค์กรสหประชาชาติ ให้ประเทศเล็กมีอำนาจใกล้เคียงกับประเทศใหญ่” พล.ท.ดร.พงศกรกล่าว

จากนั้น เวลา 11.30 น. รศ.ดร.อนุสรณ์ เสวนาในเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อมโยงแนวคิดสันติภาพของ อ.ปรีดี พนมยงค์ กับมุมมองทางเศรษฐกิจ ว่า เวลาที่จะเกิดสงครามใหญ่มักจะเกิดสภาวะที่เป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และสงครามก็นำมาสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ถ้าเราย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติจะเห็นได้ชัดว่า ช่วงเวลาไหนที่โลกมีสันติ เศรษฐกิจจะรุ่งเรืองและผู้คนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ช่วงเวลาไหนที่มีความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรง ในที่สุดมันจะเกิดสงครามอีกรอบหนึ่ง แล้วเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

“เราต้องเข้าใจก่อนว่า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ หรือนายพลโตโจ ฮิเดกิ ไม่ได้เกิดขึ้นบนสุญญากาศ คนที่มีลักษณะแบบนี้และสามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้ มันมีสภาวะบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคมและเศรษฐกิจ เราคงไม่ไปโทษชาวเยอรมันว่าทำไมถึงเลือกพรรคนาซี เพราะมันมีสภาวะบางอย่างที่ทำให้คนจำนวนมากขาดซึ่งสติปัญญาและความคิดที่ถูกต้อง” รศ.ดร.อนุสรณ์ชี้

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวต่อว่า แนวคิดสันติภาพของ อ.ปรีดี พนมยงค์ มีความสำคัญในหลายเรื่อง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์แก้ปัญหาในปัจจุบันได้ แนวคิดเรื่องมนุษยธรรม หากอ่านงานเขียนของ อ.ปรีดี พนมยงค์ จะปรากฏอยู่โดยทั่วไปคือเรื่องพุทธปรัชญา แต่อันที่เป็นระบบเศรษฐกิจ เป็นแนวคิดทางสังคมและการเมือง คือ “ภราดรภาพนิยม” ต่อมาคือแนวคิด สังคมนิยม วิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย ซึ่งมีคนไปโจมตี อ.ปรีดี พนมยงค์ โดยเฉพาะคนที่สูญเสียผลประโยชน์ บอกว่าเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ไม่ใช่ ความคิดของ อ.ปรีดี พนมยงค์ คือสังคมนิยม วิทยาศาสตร์ ประชาธิปไตย คล้ายๆ กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียตอนนี้ ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจน้อย และเป็นประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและทางการเมืองมากที่สุด

 

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.อนุสรณ์ชี้ว่า โครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองและสังคมที่เหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ผูกขาดและไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้หลายประเทศมีปัญหา

“คือ ชนชั้นนำกำหนดเกือบทุกอย่าง และมีอำนาจทั้งผูกขาดทั้งการเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงการหล่อหลอมความคิดของคนผ่านการศึกษาและวัฒนธรรม เลยทำให้โครงสร้างมันเหลื่อมล้ำสูง และมีหลายมาตรฐานไม่เป็นประชาธิปไตย คนระดับล่างยากจน ด้อยโอกาส แต่ของไทยนั้นระดับปัญหามันก็น้อยกว่าหลายประเทศในละตินอเมริกาและแอฟริกา อย่างในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย มีประชากรน้อยแต่มีพื้นที่มาก มีทรัพยากรมากพอสมควร และคนมีการศึกษาสูง ผู้นำทางการเมืองมีชีวิตเช่นคนปกติสามัญชน กษัตริย์ของประเทศฟินแลนด์มีชีวิตแบบสามัญชน โครงสร้างทางสังคมเป็นแนวราบคือทุกคนเท่ากันหมด ไม่ว่าคุณจะเรียนจบอะไร เป็นคนกวาดถนน เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย คือทุกคนเท่ากันหมด เป็นมนุษย์เหมือนกันหมดแต่ทุกคนทำหน้าที่ของตนเอง นี่คือรากฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เพราะฉะนั้น เรื่องแบบนี้ถ้าเราจะแก้และทำให้เกิดสันติภาพได้จริง ขอเสนอว่า เราต้องพัฒนาไปสู่ การมีรัฐบาลโลก เรารู้อยู่แล้วว่าองค์การสหประชาชาติทำงานสำเร็จบ้าง ล้มเหลวบ้าง จุดอ่อนที่สุดคือไม่ได้มีอำนาจเหมือนรัฐบาลโลก แต่รัฐบาลโลกสร้างไม่ง่ายอย่างแน่นอนและค่อนข้างเป็นอุดมคติ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปรื้อรากฐานของสหประชาชาติ แต่สร้างบนฐานของสหประชาชาติ ถึงที่สุดแล้วมันจะนำไปสู่สันติภาพถาวร ซึ่งจะทำให้เกิดสังคมที่เป็นธรรม เศรษฐกิจที่เป็นธรรม และประชาธิปไตยที่ประชาชนมีอำนาจจริงๆ ปัญหาหรือสงครามความขัดแย้งบางอย่างมันไม่ใช่เรื่องของปัจเจกบุคคล แต่เป็นเรื่องของโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม” รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image