เดินหน้าความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย โครงการเมืองยางพารา-อุตสาหกรรมยาง ประชุมอินโด-มาเลย์-ไทย 16 ก.ย.นี้

เดินหน้าความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย โครงการเมืองยางพารา-อุตสาหกรรมยาง ประชุมอินโด-มาเลย์-ไทย 16 ก.ย.นี้

เมื่อวันที่ 14 กันยายน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 กันยายน ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 28 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Idonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle : IMT-GT) ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2536 มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละประเทศมาส่งเสริมเกื้อกูลกัน ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ของไทย 11 รัฐทางเหนือและตะวันตกของมาเลเซีย และ 10 จังหวัดบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย

น.ส.รัชดากล่าวว่า การประชุมในวันที่ 16 กันยายนนี้ จะมีการออกแถลงการณ์ร่วม เน้นย้ำถึงความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบต่อร่างฯเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา โดยสาระครอบคลุม 1) การรับรองแผนดำเนินงานระยะห้าปี พ.ศ. 2566-2569 เพื่อเป็นแนวทางความร่วมมือในอีกห้าปีข้างหน้าประกอบด้วย การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเพื่อการบูรณาการในระดับภูมิภาค การเจริญเติบโตที่ขับเคลื่อนโดยภาคเอกชน สามการเติบโตแบบครอบคลุม เป็นต้น 2) การเน้นย้ำความสำคัญของเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิทยาลัยและการนำวิจัยมาใช้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอนุภูมิภาค 3) ขับเคลื่อนความสัมพันธ์ในระดับจังหวัดให้การดำเนินงานแผนการโครงการเกิดเป็นรูปธรรมสร้างประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนท้องถิ่น และ 4) เพิ่มรัฐปะหัง รัฐตรังกานู และรัฐยะโฮร์เป็นสมาชิกใหม่ของแผนงานฯ

น.ส.รัชดากล่าวว่า ในการประชุม จะมีการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการเมืองยางพารา โดยขอบเขตความร่วมมือ ประกอบด้วย 1) เสนอแนะนโยบายและทิศทางในการขับเคลื่อนความร่วมมือเกี่ยวกับการผลิตยางและอุตสาหกรรมยาง 2) ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยมากขึ้น 3) ส่งเสริมการค้าและการลงทุนของผลิตภัณฑ์จากเมืองยางพาราและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา 4) ฝึกอบรมและพัฒนาความสามารถของเมืองยางพารา และ 5) ส่งเสริมและสร้างการทดสอบผลิตภัณฑ์ การวิจัย และพัฒนาของกลุ่มประเทศสมาชิก

น.ส.รัชดากล่าวต่อว่า ผลจากการเดินหน้าเศรษฐกิจสามฝ่าย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และฮาลาล รวมทั้งเปิดโอกาสแก่นักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในกิจการที่มีศักยภาพ มากไปกว่านั้นทั้งสามประเทศจะร่วมกันจัดทำแนวทางปฎิบัติสำหรับธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมให้ IMT-GT เป็นอนุภูมิภาคการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเร่งรัดความร่วมมือด้านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image