‘เลขาฯสถาบันชุมชนฯ’ ชวนปักหมุด ‘ทวงคืนผืนป่า’ ขุดแผนอำนาจนิยม ซัดรัฐ ลงทุนรังแก ปชช.

‘เลขาฯสถาบันชุมชนฯ’ ขุดแผนยึดที่ดิน ซัดรัฐลงทุนรังแกประชาชน ชวนตั้งเป้า ‘ทวงคืนผืนป่า’ จากอำนาจนิยม รับ กม.ออกแบบให้ชาวบ้านแพ้สูง

เมื่อวันที่ 21 กันยายน ที่ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ได้กล่าวในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “คดีทวงคืนผืนป่า กรณีแสงเดือนกับกระบวนการยุติธรรมไทย” ที่จัดโดยขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) ว่า

นโยบายการทวงคืนผืนป่าของ คสช. สามารถมองได้หลายมิติ แต่หาก มองในมิติของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งที่ตอบโต้กันไปกันมาอย่างยาวนาน จะเห็นได้ว่า นับตั้งแต่ประชาชนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อย ลุกขึ้นต่อต้านสัมปทานป่าไม้ ตั้งแต่ช่วงปี 2527-2529 เรื่อยมา จนกระทั่งสัมปทานไม้ยุติ ในปลายปี 2531 นี่คือความเสียหายหรือจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของระบบอำนาจรัฐที่ถือครองประโยชน์ และอำนาจเหนือป่าไม้ สิ่งที่ตามมาคือการตอบโต้ครั้งแรกด้วยการเร่งประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามมา ประชาชนสู้ด้วยการเสนอเรื่องป่าชุมชนทุกพื้นที่ ให้ประชาชนมีสิทธิในการจัดการป่า การตอบโต้ครั้งที่ 2 คือการเร่งขยายเขตอนุรักษ์ทุกรูปแบบ ไม่ใช่เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผลที่ตามมาหลังจากนั้น ภาคประชาชนก็พยายามต่อสู้จนนำมาสู่ พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่ประชาชนยังกุมอำนาจได้อยู่ ณ ขณะนั้น และนำมาสู่หลักการสิทธิชุมชน ปรากฎในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 อำนาจรัฐก็ตอบโต้กลับเช่นกันด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2541 อันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เพิกเฉยต่อรัฐธรรมนูญ 2540 คือจำกัดขอบเขตและให้อำนาจการพิสูจน์ชี้ขาดแก่หน่วยงานป่าไม้ การต่อสู้ระหว่างประชาชนกับอำนาจรัฐเรื่องป่าไม้ ดำเนินอยู่เรื่อยมา จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารในปี 2557 อันนำมาสู่คำสั่ง คสช.และนโยบายทวงคืนผืนป่า ฉะนั้น เมื่ออำนาจนิยมขึ้นครองอำนาจนำ เหล่ากลุ่มอำนาจนิยมก็เข้าสู่อำนาจในช่องทางการเมืองต่างๆ

“เรากำลังอยู่ในสายธารความขัดแย้งเหล่านี้ และยังเป็นความขัดแย้งที่ยังต่อสู้กันไปอีกยาวนาน เราต้องหาจุดเปลี่ยน” ดร.กฤษฎากล่าว

Advertisement

ดร.กฤษฎากล่าวต่อว่า เวลาที่รัฐต้องการจะใช้อำนาจกุมอะไรสักอย่าง มักจะมีแบบแผนคล้ายๆ กัน เรื่องของป่าไม้ก็เป็นเช่นนั้น วิธีแรกคือ ทำให้เรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจเป็นเรื่องที่ถูกมอง ว่าอยู่ในภัยคุกคามและความเสี่ยงอันยิ่งยวด

อย่างในกรณีเรื่องป่าไม้ ก็ถูกยกเหตุผลว่ากำลังถูกบุกรุก ทำลาย กระทำการผิดกฎหมาย ต้องทำให้สังคมเชื่อว่าเรื่องนี้เป็นภัยคุกคามอย่างรุนแรงจนสังคมเกิดความหวาดกลัว ตามมาด้วยวิธีที่ 2 คือ เมื่อสังคมเกิดการกล่าวโทษไปที่กลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา จนสุดท้ายนำมาสู่วิธีที่ 3 คือการพยายามนำเสนอว่า ทางออกของปัญหามีอยู่ทางเดียว คือการใช้อำนาจและความรุนแรง จึงเป็นเครื่องมือที่ตามมา สิ่งที่นางแสงเดือน หรือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่ากำลังเผชิญนั้น ล้วนอยู่ในกระบวนการทางอำนาจเหล่านี้ทั้งสิ้น

Advertisement

ดร.กฤษฎา ยังชวนตั้งข้อสังเกต ถึงประโยชน์ของนโยบายทวงคืนผืนป่า ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ โดยระบุว่าตั้งแต่ปี 2557 เรามีพื้นที่ป่าโดยรวมประมาณ 102 ล้านไร่ แต่เมื่อสิ้นปี 2564 หากเราดูจำนวนพื้นที่ป่าหลังนโยบายทวงคืน ก็พบว่ายังคงมีประมาณ 102 ล้านไร่ เพิ่มมาประมาณ 5-6 หมื่นไร่ ซึ่งไม่ได้ต่างจากเดิมมากนัก

คุณลงทุนรังแกประชาชนทั้งประเทศ มีคดีความอีกมากมายตั้งกี่หมื่นคดี เรื่องเหล่านี้ยืดเยื้อเท่าไหร่ รัฐจะต้องทุ่มเงินจัดการคดีความอีกเท่าไหร่ พี่น้องประชาชนต้องเสียหายอีกเท่าไหร่ คำถามคือ มันคุ้มไหมกับนโยบายเหล่านี้ ไม่มีความคุ้มค่าใดๆ ที่จะตอบได้เลย ทั้งในทางเศรษฐศาสตร์และในทางสังคม นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น” ดร.กฤษฎากล่าว

ดร.กฤษฎายังกล่าวถึงความไม่ยุติธรรมทางกฎหมายที่สะท้อนออกมาผ่านนโยบายการจัดการเรื่องป่าของภาครัฐว่า ระบบกฎหมายถูกออกแบบมาสำหรับอำนาจนิยม ถูกกุมด้วยอำนาจนำด้านป่าไม้ ดังนั้น เมื่อมีการสู้คดีกัน โอกาสที่ชาวบ้านจะแพ้ย่อมมีสูงกว่า เพราะระบบกฎหมายถูกออกแบบมาเช่นนั้น นี่คือบทสะท้อนที่ชัดเจนที่สุดของอำนาจเผด็จการและระบบรัฐซ้อนรัฐ (กลไกรัฐที่ไม่สามารถยึดโยงอำนาจและผลประโยชน์ให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง) จึงทำให้นโยบายป่าไม้ของประเทศไทยต้องสู้กับประชาชนมาอย่างยาวนาน และไม่มีจุดเปลี่ยนเลย แม้ว่าเราจะมีรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับแล้วก็ตาม ถ้าไม่รื้อโครงสร้างเหล่านี้ ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง

ดร.กฤษฎากล่าวในประเด็นสุดท้ายว่า เมื่อลองดูนโยบายการจัดการเรื่องของทั่วโลก

เป้าหมายแรก คือ ป่าไม้ต้องตอบโจทย์ประชาชน โดยเฉพาะคนทุกข์ยากทั้งมวล และในอีก 8 ปีข้างหน้า ความยากจนทั้งหลายต้องหายไปด้วยการจัดการป่าไม้ แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังทำ คือการทำให้ประชาชนจนลงด้วยนโยบายป่าไม้ ถือว่าเป็นการสวนทางกระแสโลกอย่างรุนแรง

เป้าหมายที่ 2 คือการอยู่กับธรรมชาติอย่างสมดุล ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม กลไกอำนาจรัฐ จะต้องถูกปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างสมดุล

“แต่ในขณะที่ประเทศไทยนั้น พื้นที่ป่ากลับลดลงจากการขยายตัวของกลุ่มทุนในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่านโยบายจัดการเรื่องป่าของประเทศไทย ไม่ตอบโจทย์กับสิ่งเหล่านี้เลย แต่กลับปล่อยกลุ่มทุนมีเสรีในการใช้ทรัพยากร สนับสนุนการขยายที่ดิน แต่กลับใช้กฎหมายรังแกชาวบ้าน

“ผมเสนอว่า พวกเราสามารถขยับเขยื้อน รวมทั้งต่อสู้ในทางนโยบายและทางกฎหมาย แต่ว่าในทางหนึ่งก็คือ เราต้องมีเป้าหมายชัดเจนในการทวงคืนผืนป่าจากอำนาจนิยม กลับมาสู่ประชาธิปไตย ของการจัดการป่าที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ดร.กฤษฎากล่าว

อ่านข่าว : ‘ปริญญา’ คาใจ จะเอาเข้าคุกให้ได้ ? ชี้ปมคดีแสงเดือนฯ ‘คนอยู่มาก่อนต้องได้สิทธิ’ อย่าดูแค่แผนที่ตีเส้น

‘พีมูฟ’ จี้บิ๊กป้อมออก กม.นิรโทษ- ‘แสงเดือน’ พ้อ มีทำไมรัฐบาล? ให้ลืมตาอ้าปากแล้วเหยียบจมดิน ‘ไล่พ้นที่ทำกิน’

สาทิตย์ จี้จุดอ่อน นโยบายทวงผืนป่าเปิดช่องจนท.ใช้ดุลยพินิจ ‘เกินขอบเขต’ ชี้ช่อง ‘สั่งไม่ฟ้อง-นิรโทษกรรม’

‘สมชาย’ เชื่อ รปห.ต้นตอ ‘แย่งยึดที่คนชายขอบ’ ต้อนเข้าโรงงาน ยันไม่ใช่เรื่องบุญกรรม เป็นปัญหาโครงสร้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image