ชัชชาติ แจงยิบ หลังเจอสภา กทม.ถอนญัตติ ‘สายสีเขียว’ ยัน สุดท้ายต้องวนมา ไม่มีทางหนีพ้น

ชัชชาติ ไม่หวั่นสภา กทม.ถอนญัตติรถไฟฟ้าสายสีเขียว มองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่มีการคุยอย่างจริงจัง

เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 26 ตุลาคม ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 ประจำปี 2565 โดยที่ประชุมมีการถอนญัตติที่ 6.1 ขอรับความเห็นจากสภา กทม. เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต-และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และญัตติที่ 6.2 ขอรับความเห็นจากสภา กทม. เรื่อง การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (อ่านข่าว สภากทม.ล่มครั้งแรก หลังถอนญัตติ ‘สายสีเขียว’-‘ชัชชาติ’ ลั่น เรื่องนี้อีกยาว ส.ก.บอกผิด กม. ‘ผมจดไว้หมดนะ’)

นายชัชชาติกล่าวว่า ขณะนี้สภา กทม.มีมติถอดญัตติเรื่องรถไฟฟ้าสีเขียว โดยให้เหตุผลว่ายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ และให้คณะกรรมการการจราจรและขนส่ง สภา กทม.ทำรายงานมาเพิ่มเติม แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สภาได้รับทราบและมีการขอศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งตนเคยบอกแล้วว่าเรื่องนี้มีรายละเอียดเยอะจึงต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วน โดยจุดประสงค์ในการนำเรื่องเข้าสภาในครั้งนี้ ต้องการความคิดเห็นยังไม่ถึงขั้นมีการลงมติ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะได้มีการคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจ

นายชัชชาติกล่าวว่า แม้ผู้ว่าฯกทม.มีอำนาจกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ราคา 15 บาท แต่ที่สุดแล้วก็ต้องใช้งบประมาณของ กทม.จ่ายเงินส่วนต่างค่าจ้างเดินรถ ซึ่งต้องได้รับฟังความเห็นจากสภา กทม. ไม่ได้ขออนุมัติว่าต้องเก็บ 15 บาท ทั้งนี้ การกำหนดราคา 15 บาท ยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง เพราะปัจจุบันเปิดให้ประชาชนใช้ฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยังมีผู้ใช้บริการไม่มากเท่าที่ควร หากเริ่มเก็บค่าโดยสารมากกว่า 15 บาท เกรงว่าผู้ใช้บริการอาจน้อยลงกว่าเดิม

Advertisement

นายชัชชาติกล่าวว่า ทั้งนี้ จากการอภิปรายในที่ประชุม ส.ก.หลายท่านเห็นว่า กทม.ไม่มีอำนาจในการเก็บค่าโดยสาร แต่เป็นอำนาจของคณะกรรมการ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คำสั่ง คสช.) ที่ 3/2562 จากนี้ทางสภาคงจะมีการพิจารณาศึกษา 2 รูปแบบ คณะกรรมการการจราจรและขนส่ง สภา กทม. หรือคณะกรรมการวิสามัญ เพราะสุดท้ายเรื่องทั้งหมดจะวนกลับมาที่สภากรุงเทพมหานคร เนื่องจากเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ต้องมาจากเงินงบประมาณของ กทม.ไม่มีทางหนีพ้น

นายชัชชาติกล่าวว่า ส่วนการทำหนังสือตอบกลับทางกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายบริหาร กทม.เห็นว่า ควรมีการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 เพราะการคำนวณค่าโดยสารจะมีความรอบคอบมากขึ้น รวมถึงค่าโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งอยากให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบตรงนี้ เพื่อลดภาระของ กทม. เพราะปกติแล้วค่าโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าทุกสายที่ผ่านมา รัฐบาลช่วยรับผิดชอบเงินส่วนนี้มาตลอด แต่หากรัฐบาลไม่ช่วยตรงส่วนนี้ คนที่รับภาระคือประชาชน เพราะจะทำให้ค่าโดยสารแพงขึ้น เพราะ กทม.ต้องนำเงินไปจ่ายค่าโครงสร้างพื้นฐาน อย่าลืมว่าการใช้รถไฟฟ้ามีประโยชน์ในทางอ้อม ช่วยลดมลภาวะ ลดการจราจรติดขัด และรัฐบาลได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีในระยะยาว

Advertisement

“อำนาจตัดสินใจก็ไม่ได้อยู่ที่ กทม. ถ้าดูตามคำสั่ง คสช.ที่ 3/2562 ก็มีแค่ปลัด กทม.เป็นกรรมการ อำนาจอยู่ใน ครม.หมดแล้ว ความเห็นของ กทม.แทบไม่มีสิทธิมีเสียงอะไรหรอก เพราะเราก็ไม่ใช่หน่วยงานหลัก จริงๆ แล้วต้องเป็นกระทรวงมหาดไทยด้วยซ้ำที่เป็นคนเอาเรื่องเข้า เพราะท่านเป็นคนใน ครม. แล้วเรื่องก็ค้างใน ครม.มานานแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ กทม.ยังจ่ายค่าเดินรถส่วนต่อขยายที่ 1 ไม่ได้” นายชัชชาติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image