รุมถก ‘ศึก ศักดิ์ ศรี’ จากรัวหมัดศรีสุวรรณ ถึง เค ร้อยล้าน ล็อกคอธนาธร ชี้กลไกรัฐไร้ประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน เวลา 13.00 น. ที่ห้อง ร.102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเสวนาวิชาการ เรื่อง “ศึก ศักดิ์ vs. ศรี” ถึง “กรณีล็อกคอ”: ฤาความรุนแรงจะคือคำตอบสำหรับความขัดแย้งทางการเมืองไทย?

นางสาวพรรณิการ์ วานิช เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวว่า กรณี ‘เค ร้อยล้าน’ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ คน ‘สุดโต่งทางการเมือง’ รู้สึกว่าต้องแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม และอาจจะมีความซ้ำซ้อน ที่ค่อนข้างมั่นใจว่ามีปัญหาทางจิต ซึ่งเป็นประเด็นที่ฉีกออกไปแล้วว่า ปัญหาการเป็นคนมีปัญหาสุขภาพจิต ควรจะถูกนำเข้าไปรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลให้ปลอดภัยต่อสังคมหรือไม่

“คนที่มีอาการทางจิต แต่ถูกปล่อยให้อยู่กับคนในสังคม วันไหนลุกออกมาฆ่าใคร ก็เป็นไปได้ สุดท้ายเหตุกราดยิงต่างๆ ในประเทศไทยก็ไม่นำไปสู่บทเรียนอะไรเลย ตกลงว่าคนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตแล้วที่งาน องค์กรของเขาตรวจสอบไม่พบ จนนำไปสู่การก่อเหตุหรือไม่โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้อาวุธ เป็นต้น

เรื่องที่สำคัญเรื่องของการใช้ความรุนแรง คิดว่าเรื่องนี้ดูคลาสสิคมากละอาจจะย้อนไปถึงเรื่องของนาซี รัฐมนตรีทางด้านสื่อพร็อพพากันด้า ใช้แบบแผนแบบเดียวกัน ย้อนกลับไปทีช่วง 6 ตุลา 2519 เป็นการใช้แนวทางแบบเดียวกัน คือการทำให้รู้สึกว่าคนที่เห็นต่างจากตัวเอง ไม่มีความเป็นมนุษย์ เป็นปีศาจร้ายหรือเป็นคนที่มีศักดิ์ศรีต่ำว่า การเริ่มต้นจากความรุนแรง มาจากการคิดและการใช้ภาษาหรือการ Body shaming ซึ่งฟังดูเหมือนจะตลก แต่พอมันถูกผลิตซ้ำไปเรื่อยๆ คนที่ใช้แล้วเชื่อจะรู้สึกว่า มนุษย์คนนี้มีค่าต่ำกว่าคนอื่น และสุดท้ายในการทำงานการเมืองคุณการให้เชื่อและเปลี่ยนใจ คุณถึงจะชนะทางการเมือง เมื่อไหร่ก็ตามเกิดความรุนแรงท่ามกลางสมรภูมิที่มันอื้ออึงจะเปลี่ยนใจใครได้”  นางสาวพรรณิการ์ กล่าว

Advertisement

นางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง นักกิจกรรมทางการเมือง กล่าวว่า ความรุนแรงที่เห็นอาจจะมาจากทางวาจา ความรุนแรงเชิงกายภาพ แต่อย่างหนึ่งที่คนพูดถึงเยอะมากคือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ที่ชัดที่สุดคือความุรนแรงทางกฎหมาย

“ถ้าเรามองจากการเคลื่อนไหวช่วงหลังยุบพรรคอนาคตใหม่ ถือว่าเริ่มแล้วกับการใช้ความรุนแรงทางกฎหมายกับการปราบปรามกับคนที่ผู้ที่มีอำนาจไม่ชอบ ไม่อยากให้มีตัวตนนี้เกิดขึ้น นอกจากนี้ จำนวนคดีและผู้ถูกดำเนินคดีในการชุมนุมทางการเมืองมีสูงขึ้น ถือว่าเป็นความรุนแรง หลายคนอาจมองเผินๆ ไปว่ามันปกติ แต่คิดว่ามันไม่ใช่ เพราะถือว่าเป็นการเสริมความรุนแรงเข้าไปในตัวกฎหมายเพื่อจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง” นางสาวปนัสยา กล่าว

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากกรณีของนายศรีสุวรรณ จรรยา พบว่าคนจำนวนมากชื่นชม ‘ลุงศักดิ์’ ซึ่งเข้าทำร้ายนายศรีสุวรรณ สะท้อนว่า ‘ระบบปกติไม่ทำงาน’

Advertisement

“ทำไมคนถึงรู้สึกสะใจกรณีคุณศรีสุวรรณ ผมอยากเตือนรัฐว่ามันสะท้อนถึง กลไกลของรัฐต่างหากที่มันไร้ประสิทธิภาพเต็มทน มันสะท้อนว่าไม่ควรเห็นกลไกลของรัฐที่ดูไร้ประสิทธิภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ อย่างผมเคยอยู่ประเทศฟิลิปปินส์ มันมีระบบเจ้าพ่อ เป็นสังคมที่เหมือนรัฐไม่ทำงานแล้วเราต้องฟังกันเอง ถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับคุณศรีสุวรรณ์ได้ ทำไมคนอีกฝั่งนึงจะคิดว่าไม่เกิดกับฝั่งเราบ้าง ถ้าเกิดขึ้นกับฝั่งเราได้ มันอาจเกิดขึ้นกับคนอื่น เกิดกับเด็กได้” ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าว

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา

นางสาว ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในกรณีของลุงศักดิ์ ที่ชกต่อยนายศรีสุวรรณ หรือ เค ร้อยล้าน ที่ล็อคคอนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในมหกรรมหนังสือระดับชาติ ทั้งสองอย่างเป็นความรุนแรงทั้งคู่

“กลับไปคำที่นิยามความรุนแรง ว่าพื้นฐานที่สุดความรุนแรง อะไรเป็นการตัดสินความรุนแรงคือที่พฤติกรรม ที่ก่อให้เกิดอะไรทางกายภาพต่อมนุษย์ และมันให้ความสำคัญกับพฤติกรรมที่ไม่สนใจว่า คุณใช้อาวุธประเภทไหน อวัยวะก็เป็นอาวุธได้ อีกเรื่องคือการเป็นหรือไม่เป็นความรุนแรง มันไม่กระทั่งขึ้นต่อเจตนา แต่ในที่นี้คือความหวังดี อยากสั่งสอน อยากให้หยุดพฤติกรรมที่ไม่พึ่งปราถนาแต่ทั้งหมดคุณก็ต้องเรียกว่ามันเป็นความรุนแรง” นางสาวชญานิษฐ์ กล่าว

“งานศึกษาจำนวนมากขี้ให้เห็น เชิงโครงสร้าง จำเป้นต้องแก้ไขด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ต่อให้ความรุนแรงหยุดคุณศรีสุวรรณ์ได้ แต่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างก็อาจดำเนินต่อไปเวลามีตัวตายตัวแทนออกมา ตัวอย่างคุณเค ร้อยล้านที่เป็นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม นั้นต้องเข้าไปแก้กันทางวัฒนธรรมไทยบางประการทั้งทางความคิดและความเชื่อ แต่การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างช่วยลดทอนความรุนแรงทางกายภาพในลักษณะเช่นนี้

ท้ายสุดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและเชิงวัฒนธรรมมันเปลี่ยนแปลงยาก มากกว่าการจัดการกับตัวบุคคล ท้ายที่สุดทางเลือกคืออะไร ถ้าไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะใช้ความรุนแรงทางกายภาพเข้าทำร้ายกัน แต่มันสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงหรือเปล่า นอกจากนี้จะพาสังคมเข้าไปสู่การแยกขั้วแบ่งข้างกันอย่างชัดเจน แต่การให้โอกาสและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง น่าจะเป็นทางเลือกที่ควรแก่การพิจารณา” ชญานิษฐ์ กล่าว

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์-งามศุกร์ รัตนเสถียร

นางสาวงามศุกร์ รัตนเสถียร อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษย์ชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทั้งหมดที่เราพยายามผลักดันเรื่องเสรีภาพ คนเท่ากัน อาจต้องกลับมาดูเรื่องของ ‘ภราดรภาพ’ ว่าเราจะอยู่ร่วมกันโดยที่มีความเป็นมนุษย์ ความเป็นเพื่อนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน จะช่วยกลับมาเป็นเกราะป้องกันให้เวลาที่เราเถียงและเห็นต่างได้หรือไม่

“ตรงนี้อยากให้กลับมาทบทวนการที่เราถูกแบ่งขั้ว แบ่งแยกจากรัฐ มันกลับมาได้ไหมเพื่อที่เราจะสร้างอนาคตใหม่ไปด้วยกัน เราอาจจะจิตนาการไม่ออกเลย ว่าเราอยู่กับความรุนแรงมานาน อยู่กับการแบ่งขั้วจนเราลืมว่า เราสามารถสนทนากันได้ด้วยการเห็นความทุกข์ของแต่ละคน” นางสาวงามศุกร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image