จับกระแสทิศทางการเมือง เดินหน้าเต็มตัวสู่โหมดเลือกตั้ง

จับกระแสทิศทางการเมือง เดินหน้าเต็มตัวสู่โหมดเลือกตั้ง

 

หมายเหตุ – เป็นความเห็นนักวิชาการประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ที่พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมความพร้อมเต็มที่สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

หากประเมินสถานการณ์พรรค พปชร.ในการจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้า เห็นว่าได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์วางตัวว่าจะเป็นรัฐบาล และคงไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องการอยู่ในพรรครัฐบาลแน่นอน หลายคนที่อยู่ในพรรค พปชร.มีความเชื่อในบารมี พล.อ.ประวิตรที่สามารถทำให้พรรคอยู่ในสมการในการจัดตั้งรัฐบาลได้อย่างแน่นอน และสิ่งที่พรรค พปชร.มีไม้เด็ดคือ ส.ว.ของ พล.อ.ประวิตรเป็นตัวเสริมให้พรรค พปชร.จะต้องอยู่ในสมการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ว่าจะจัดตั้งในนามของพรรค พท. หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

Advertisement

หากพรรค พปชร.รวมกับพรรค พท.ในการจัดตั้งรัฐบาล จะต้องมองความสัมพันธ์ของ พล.อ.ประวิตร กับนายทักษิณ ชินวัตร แม้ว่าจะมี
วิวาทะกันรุนแรงก็ตาม แต่อย่าลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตคือ คสช.ได้ช่วยเหลือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการหลบหนีไปตามช่องทางธรรมชาติ ขณะที่ คสช.มีอำนาจมากมาย ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลบหนีออกนอกประเทศได้ ถือว่ามีความสัมพันธ์แน่นมาก ส่วนที่ว่ากระทบกับคนเสื้อแดงหรือไม่ ในเมื่อฝ่ายเผด็จการจะรวมตัวกับฝ่ายประชาธิปไตย ในเรื่องนี้คนเสื้อแดงทำใจได้

ในอีกมุมหนึ่งหากพรรค พปชร.ไปร่วมกับพรรค รทสช.จัดตั้งรัฐบาล มีโอกาสเป็นไปได้เช่นกัน แต่เกมการนำจะเปลี่ยน เมื่อก่อนในการจัดตั้งรัฐบาลในพรรค พปชร.เกมอยู่ที่ พล.อ.ประวิตร และทุกคนวิจารณ์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแค่นายกรัฐมนตรีนอมินี แต่นายกรัฐมนตรีตัวจริงคือ พล.อ.ประวิตร เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์เก็บความรู้สึกในใจเรื่องนี้มาตลอด ฉะนั้นการตั้งรัฐบาลครั้งหน้าจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ เกมการเมืองครั้งหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเป็นตัวจริงอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งดึง พล.อ.ประวิตรในฐานะพี่ชายมาอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากกระแสของพรรค รทสช.การเลือกตั้งครั้งหน้า อาจไม่ได้เป็นพรรคใหญ่ แต่เพียงพอจะรวบรวม ส.ส.จนสามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ และคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) หรือพรรคอื่นๆ ที่พยายามจะรวมตัวกัน ยินดีจะให้ความร่วมมือกับพรรค รทสช.ในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะรู้ดีว่าองคาพยพทางการเมือง จะต้องพึ่งพา ส.ว.ในมือของ พล.อ.ประยุทธ์เช่นเดียวกัน

Advertisement

ช่วงนี้จะเห็นว่า ส.ส.หลายคนกำลังจะตัดสินใจไปพรรค รทสช. คิดว่าคงจะมีการประเมินในเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ มี ส.ว.อยู่ในมือ และพรรค รทสช.ถือว่าเป็นน้ำบ่อใหม่ ที่มีทรัพยากรสมบูรณ์ และมีการประเมินโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาลมีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากกว่าพรรค พปชร.

มีคำถามว่าสภาล่มบ่อยจะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยื้อให้นานที่สุด ช่วงรอยต่อนี้คีย์แมนคนสำคัญของพรรค รทสช.จะพยายามดึงตัว ส.ส.มาร่วมงานให้มากที่สุด หรือยืดหยุ่นให้บรรดา ส.ส.ได้มีโอกาสโยกย้ายจากพรรคต่างๆ มาพรรค รทสช. หลังจากนั้นจะส่งสัญญาณยุบสภา

สำหรับผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ในสถานการณ์ตอนนี้หากกล่าวตามหลักการ คนที่จะเป็นนายกฯได้คือ คนที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของ คสช. และจะต้องไม่อยู่ในความขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะเดียวกับพรรค พท.ยังเล่นเกมการเมืองแบบเดิมๆ คือใครเป็นพวกก็บอกว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตย ใครไม่เป็นพวกก็ถือว่าเป็นศัตรูทางการเมือง หากพรรค พท.ไม่สามารถแลนด์สไลด์จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ก็ต้องพึ่งพาพรรคร่วม และต้องพึ่งพา ส.ว. และจะต้องอยู่ในโครงสร้าง จะต้องเลือกฝ่ายทหารเข้าร่วม

ส่วน พล.อ.ประวิตรจะนั่งนายกฯ คิดว่าคงไม่เป็นเอง แต่หากนั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจริงจะมีแรงกดดันมากขึ้น แค่นักข่าว นิสิต นักศึกษาตั้งคำถามถึงนาฬิกา เพียงแค่นี้ก็แย่แล้ว

อยากให้มองในเรื่องสมการ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี 2 ปี แล้วร่วมรัฐบาลกับพรรค ภท. แล้วให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท.มานั่งนายกรัฐมนตรี มองแล้วเรื่องนี้ก็อาจเป็นไปได้

กรณีนายอนุทินจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้น มองว่าการตั้งรัฐบาลครั้งหน้า แม้พรรค ภท.มีคะแนนเสียงดีก็ตาม แต่ห้วงเวลายังไม่เหมาะสม เพราะจะถูกต่อต้านว่าสืบทอดอำนาจและมี ส.ว.สนับสนุน ถ้าจะให้สวยงามนายอนุทินควรจะเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ไม่ใช่การเลือกตั้งในปี 2566

ทัศนัย เศรษฐเสรี
อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทิศทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมี 2 พรรค คือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และพรรคเพื่อไทย (พท.) เนื่องจากมีศักยภาพ ความพร้อมมากกว่าพรรคอื่น แต่ไม่เชื่อว่า พปชร.และ พท.จะจับมือกันเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะคนของ พท. พรรคฝ่ายค้าน เสื้อแดง คงไม่เห็นด้วย คงเคลื่อนไหวต่อต้านมากกว่าสนับสนุน
ส่วนข่าวออกมาว่าทั้งสองพรรคอาจจับมือกันนั้น ถือเป็นกลยุทธ์อันชาญฉลาดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.และทีมงาน ที่วางหมากลดกระแสศรัทธาและความนิยมหรือดิสเครดิต พท. พร้อมสร้างความสับสน กังขาให้ประชาชนหรือผู้สนับสนุนมากกว่า ดังนั้น พท.อย่าตกหลุมพรางกลยุทธ์ดังกล่าว อาจส่งผลต่อการเลือกตั้งได้ ขณะที่ ส.ส.พปชร.ไหลออกจากพรรคไปร่วมกับพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มีแนวโน้มว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมด้วย รวมถึงพรรคภูมิใจไทย (ภท.) และมีบางส่วนย้ายกลับพรรค พท. ตามกระแสความนิยมประชาชน

นอกจากนี้ สูตรหาร 100 ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ ถือว่าปิดโอกาสพรรคเล็กได้รับเลือกตั้ง ทำให้ พปชร.ไม่สามารถช้อป ส.ส. งูเห่าหรือรวบรวมเสียงพรรคเล็กเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้อีก ทำให้ใช้วิธีการแบบเดิมไม่ได้ ดังนั้น พปชร. ต้องจับมือ รทสช. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมากกว่าเป็นไปตามยุทธศาสตร์แยกกันเดินรวมกันตี โดยชู พล.อ.ประยุทธ์กลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง เนื่องจากนายทุนหรือพลังนอกรัฐธรรมนูญให้การสนับสนุนมากกว่า พล.อ.ประวิตร ดังนั้น หากพูดถึง พปชร. และ รทสช. ถือเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ต้องจับมือเดินไปด้วยกัน ไม่สามารถแยกทางได้ ถ้าเดินคนละทาง เชื่อสองพรรคมีโอกาสพ่ายแพ้เลือกตั้งสูง ไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสมัยหน้าอีก ยกเว้นมีปาฏิหาริย์จากองค์กรอิสระ และพลังนอกรัฐธรรมนูญเข้ามาโอบอุ้มอีก

ส่วนการยุบสภาก่อนรัฐบาลครบวาระมีนาคมปีหน้า ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ ส.ส. ว่าเข้าประชุมครบองค์ประชุมหรือไม่ ถ้า ส.ส.โดดร่มทำให้สภาล่มบ่อยครั้ง อาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ได้ แม้ พล.อ.ประยุทธ์อยากอยู่จนครบวาระก็ตาม เพื่อรักษาฐานอำนาจ ผลประโยชน์ และควบคุมกลไกเลือกตั้ง ชิงความได้เปรียบทางการเมืองด้วย

ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งในปีหน้าอยากให้ทุกพรรคนำเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรม ที่เป็นไปได้ ไม่ใช่นโยบายเพ้อฝัน สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้ ถ้าพรรคใดจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ และระเบียบกฎหมายที่เป็นอุปสรรคการบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมปฏิรูประบบราชการให้ทันสมัย คล่องตัว โดยเฉพาะโครงสร้าง ระบบเศรษฐกิจ และการซ่อมสร้างทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดเสรีภาพ ความเท่าเทียมกันมากขึ้น

จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ในการเลือกตั้งครั้งหน้านั้น พล.อ.ประวิตรถือเป็นผู้หนึ่งที่มีบารมีทางการเมืองเพียงพอในการเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และยังมีบารมีในเรื่องทุน รวมถึงบารมีในเรื่องพรรคพวกและบริวารสามารถสั่งการให้ใครทำหน้าที่อะไรก็ได้ เนื่องจากสั่งสมมานานมากกว่า 8 ปี และมีบุคลิกที่พร้อมที่จะร่วมกับคนได้ทุกกลุ่มทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม การที่ พล.อ.ประวิตรจะนำพรรค พปชร.ไปร่วมกับพรรค พท. คงเป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะต้องดูสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น จำนวน ส.ส.รวมถึงการต่อรองทางการเมืองและผลประโยชน์ ดังนั้นคงจะวิเคราะห์ได้ยาก แม้ส่วนตัวมองว่าความยืดหยุ่นของ พล.อ.ประวิตรจะสามารถรวมได้กับทุกขั้วการเมือง แต่สำคัญคือรวมแล้วประชาชนทั้งประเทศรับได้หรือไม่ หรือรวมแล้วจะตอบประชาชนอย่างไรได้

สำหรับปัญหาสภาล่มบ่อยครั้ง เป็นเทคนิคทางการเมือง เป็นเจตนาให้ล่มมากกว่าเป็นอุบัติเหตุ มีเจตนา มีการวางแผนกันมาก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ จะมาล่มเป็นอุบัติเหตุ แต่จะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ ส่วนตัวมองว่ารัฐบาลอยู่ถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าก็ถือว่าเต็มที่แล้ว และน่าจะเป็นห้วงเวลาที่เหมาะสมในการยุบสภา เพราะขณะนี้คะแนนของ พล.อ.ประยุทธ์เพิ่งจะเริ่มตีตื้นขึ้นมา หลังผ่านพ้นการประชุมผู้นำเอเปค โดยคาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ กระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ จะดีขึ้นจนสุกงอม น่าเหมาะสมที่จะยุบสภา

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image