‘ก้าวไกล’ โฟกัส ‘เปลี่ยนชื่อ’ สถานีกลาง ทำคนงงหนัก แนะใช้ทั้ง 2 ชื่อ ไม่ต้องเทงบเปลี่ยนป้าย

‘ก้าวไกล’ โฟกัส ‘เปลี่ยนชื่อ’ สถานีกลางบางซื่อ ทำผู้ใช้บริการงงหนัก แนะใช้ทั้ง 2 แบบ ไม่ต้องเทงบเปลี่ยนป้าย

จากกรณีที่ นายเติมพงษ์ เหมาะสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าบริษัทได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในการก่อสร้างโครงการปรับปรุงป้ายชื่อ สถานีกลางบางซื่อ เป็น สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และ ตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย วงเงินกว่า 33 ล้านบาท เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 จนเกิดกระแสวิจารณ์สนั่นว่าใช้งบประมาณสูงเกินจริงหรือไม่นั้น

ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ส่งมอบปลัดกระทรวงไปตรวจสอบแล้ว ต้องดูว่าราคากับปริมาณงานเป็นอย่างไร เพราะเป็นป้ายแบบพิเศษ ตัวหนังสือก็ใหญ่อย่างที่เห็น ยืนยันว่ามีหน่วยงานตรวจสอบแน่นอน อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หากผิดก็ว่าไปตามกฎหมาย คาดว่าจะได้รับความชัดเจนไม่เกิน 7 วัน

ภาพโดย ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

ต่อมา รฟท.ออกคำชี้แจง พร้อมยืนยันว่าโครงการดังกล่าวดำเนินการตามระเบียบขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งการกำหนดราคากลาง กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคำนึงถึงประโยชน์ในการใช้งาน ความคุ้มค่าของงบประมาณ ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อโครงสร้างภายในสถานี ประชาชนผู้ใช้บริการ และเหมาะสมกับการเป็นศูนย์กลางการเดินทางระบบรางที่สำคัญของภูมิภาคเป็นสำคัญ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 มกราคม นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุถึงเรื่องนี้ว่า เปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ราคา 33 ล้านบาท หรือซื้อของตามระเบียบไหม แต่อยู่ที่จะเปลี่ยนชื่อทำไมให้สับสน เปลืองเงิน หลังจากที่มีประเด็นตั้งคำถามในสังคมถึงความเหมาะสมในการเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อมีการจัดซื้อจัดจ้างกว่า 33 ล้านบาทเกิดขึ้น นายศักดิ์สยามรีบให้ข่าวทันทีว่าจะดูให้ว่าการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปตามระเบียบหรือไม่ ทั้งบอกว่ามี สตง. ตรวจสอบอยู่แล้วจะกลัวอะไร

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภาพโดย ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า ขอโต้แย้งสิ่งที่รัฐมนตรีคมนาคมตอบ ป้าย 33 ล้าน ของสถานีกลางบางซื่อจะแพงเกินไปหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งที่สังคมสงสัยเพียงอย่างเดียว สิ่งที่สังคมสงสัยมากกว่าก็คือ “จะเปลี่ยนป้ายใหม่ทำไมก่อน” จริงๆ หลักการตั้งชื่อของสถานีขนส่งคือ 1.จำง่าย 2.อ่านแล้วคนรู้ว่าอยู่ตรงไหน เช่น สถานีรถไฟชินจุกุ ก็ตั้งอยู่ที่แขวงชินจูกุของเมืองโตเกียว สถานีกลางบางซื่อก็ตั้งอยู่ในเขตบางซื่อ กทม. ประชาชนคนต่างจังหวัด คนต่างชาติได้ยินชื่อก็นึกออกว่าต้องไปที่ไหน

“แต่วันดีคืนดีกลับมีชื่อใหม่ลอยลงมา ทำให้ต้องเปลี่ยนป้ายใหม่กะทันหัน รัฐบาลก็ต้องเสียงบประมาณไปทำป้ายสองครั้งโดยใช่เหตุ และชื่อใหม่ใช่ว่าจะดี กลับยิ่งทำให้ชื่อสถานีงงกว่าเดิม ทางออกของเรื่องนี้ง่ายมาก คือให้สถานีมีทั้งสองชื่อ ชื่อสถานีกลางบางซื่อก็คงไว้เป็นชื่อที่ประชาชนเรียก จำง่ายไม่เปลืองงบประมาณ ส่วนชื่อใหม่ก็ใช้ในเอกสารราชการของทางการไป จะได้ไม่ต้องเสียเงินเปลี่ยนป้ายให้งง 2 ต่อ

Advertisement

“ย้ำอีกครั้งว่าประเด็นไม่ใช่ถูก หรือแพงไป เหมาะสมหรือไม่ แต่เปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนป้ายทำไม ยังไงก็ไม่ติดหู และชาวต่างชาติจะทำอย่างไร” นายสุรเชษฐ์กล่าว

ภาพโดย ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ นายสุรเชษฐ์ยังฝากให้ประชาชนติดตามการใช้เงินแบบแปลกๆ ที่รอบนี้มากกว่าแค่ 33 ล้าน เพราะรัฐมนตรีคมนาคมเตรียมดัน 9 เมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ วงเงินมากกว่า 500,000,000,000 บาท (ห้าแสนล้าน) ให้ผ่าน ครม.ภายในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของปีนี้ (2566) ก่อนเลือกตั้ง

“นี่เป็นวิธีการที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ใช้ตั้งแต่เป็นรัฐบาล คสช. เพียงแต่สมัยนี้อาจจะเปลี่ยนชื่อคนอนุมัติ ช่วงก่อนเลือกตั้งกระทรวงคมนาคมจะขยันผิดปกติ เร่งดันเร่งอนุมัติโครงการโดยไม่สนใจความคุ้มค่าของโครงการ ปั้นตัวเลขปั่นโครงการขึ้นมาแบบรีบๆ เพื่อเร่งอนุมัติโครงการให้ผ่านไวๆ

“การเร่งสร้างโดยไม่พร้อมก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น มอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-โคราช ใช้แบบเก่าจากปี 2551 มาอนุมัติให้สร้างในปี 2559 โดยตามแผนคือเสร็จปี 2563 แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เสร็จ เกิดเป็นช่องว่างต้องหางบมาอุดเพิ่มโดยวิธีการเจรจากับเจ้าเดิม งบบานงานช้าแต่โฆษณาเอาหน้าไปเรื่อย เลื่อนเปิดไปเรื่อยๆ แทนที่ตอนนี้รัฐบาลจะเร่งสร้างของเก่าให้เสร็จ ก็เอาแต่จะเร่งอนุมัติของใหม่ เราทุกคนจึงต้องการตั้งคำถามว่าทำไมการอนุมัติโครงการเช่นนี้จึงเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าก่อนการเลือกตั้งทุกครั้ง”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้ขอให้ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทต่อไปแล้ว และได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อเส้นทางรถไฟฯ และสถานีกลางบางซื่อ พระราชทานชื่อสถานีกลางบางซื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” อ่านว่า “สะ-ถา-นี-กลาง-กรุง-เทบ-อะ-พิ-วัด” (Krung Thep Aphiwat Central Terminal) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งแห่งกรุงเทพมหานคร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image