บทนำมติชน : ยกระดับอาชีวศึกษา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ประกาศใช้อำนาจ ม.44 เรื่องการบริหารจัดการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาภาครัฐ และภาคเอกชน ออกคำสั่งรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน 460 แห่งทั่วประเทศ เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาหรือ สอศ. กระทรวงศึกษาธิการ การใช้กฎหมายพิเศษดำเนินการเรื่องนี้ มีเสียงขานรับจากผู้บริหารอาชีวศึกษา ทำนองว่า เป็นผลดีต่ออาชีวศึกษาเอกชน เนื่องจากปัจจุบันใช้หลักสูตรเดียวกันกับอาชีวศึกษาในสังกัดรัฐอยู่แล้ว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน และในส่วนการบริหารยังคงเป็นเอกเทศเหมือนเดิม นอกจากนี้มีคำชี้แจงเพิ่มเติม การยุบรวม สอดคล้องเสียงเรียกร้องของอาชีวศึกษาเอกชน ที่ต้องการให้ดำเนินการมานาน แต่ฝ่ายนโยบาย ไม่กล้าตัดสินใจ

ฝ่ายผู้เกี่ยวข้อง เห็นด้วยกับการรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษา เนื่องจากเล็งเห็นผลดีหลายประการ ในส่วนของสถานศึกษาอาชีวศึกษาเอกชน เมื่อย้ายออกจากการกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ขึ้นตรงกับ สอศ. อาชีวศึกษาเอกชน จะได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในส่วนนโยบาย บุคลากร และโดยเฉพาะได้รับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อนำมาใช้จัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพเทียบเท่าสถานศึกษาอาชีวศึกษาของรัฐ รวมถึงงบฯพัฒนาการศึกษา และเงินอุดหนุนรายหัว นักเรียน-นักศึกษา ขณะที่ในส่วนของรัฐ คาดหวังความเป็นเอกภาพของการจัดการศึกษา ขจัดอุปสรรคการวางแผนต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ เช่นจะผลิตนักเรียน นักศึกษาสาขาใด เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานและภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างรับ และผลิต คนละทิศละทาง

ภาครัฐและเอกชนเห็นพ้องว่า การรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษา มีผลดีมากกว่าเสีย แต่ก็เป็นเพียงผลศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น การจะให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คิดไว้ ต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชัดเจน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ รัฐแบกรับภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นจากการรวมสถานศึกษาเข้าด้วยกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบริหารจัดการ ให้เป็นไปตามความมุ่งหวัง คุ้มกับเม็ดเงิน รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เด็กเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น รองรับตลาดในประเทศและกลุ่มเออีซีที่ขาดแคลนสาขาอาชีพต่างๆ เนื่องจากค่านิยมสังคมเปลี่ยนแปลงไป ไม่ส่งเสริมลูกหลานเรียนอาชีวศึกษา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ส่งผลให้รัฐเข้ามาบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ และเป็นผลดีต่ออาชีวะเอกชน ที่จะได้รับการดูแลด้านต่างๆ แต่สิ่งสำคัญที่ทุกฝ่าย พึงตระหนักคือรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น ต้องหาทางแปรออกมาเป็นคุณภาพการศึกษา ผลิตนักเรียน นักศึกษาออกมาให้ได้ปริมาณรองรับการเติบโตด้านต่างๆ อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐาน การผลิตนั้นจึงจะไม่สูญเปล่า และเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image