‘สมชัย’ กระทุ้ง กกต.รีบยื่นศาล รธน.ตีความแบ่งเขต อาจโดนฟ้องชดใช้หลายร้อยล้าน

‘สมชัย’ เตือน กกต.รุ่นน้องรีบยื่นศาล รธน.ตีความ แบ่งเขต ‘ราษฎร’ อย่าปล่อยไปไกลถึงเลือกตั้ง เสี่ยงโดนฟ้องจ่ายเงินชดใช้หลายร้อยล้านไม่คุ้ม

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีเลขาธิการ กกต.สั่งให้ 5 จังหวัดทบทวนแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ว่า ใน 5 จังหวัดมีกรุงเทพฯกับ จ.ชลบุรีที่ค่อนข้างมีปัญหามากสุด ส่วน 3 จังหวัดแทบจะไม่มีปัญหาอะไร และส่วนรูปแบบอีก 2 รูปแบบก็ถือว่าทำถูกต้อง ดังนั้น 3 จังหวัดนั้นทำตามคำสั่งของเลขาธิการ กกต.ไปแล้ว ซึ่งที่แก้ไปแล้วก็จะมีปัตตานี เชียงใหม่ และสมุทรปราการ ส่วน กทม.กับชลบุรีวันนี้ก็ยังไม่มีการประกาศการแก้ไข ซึ่งยิ่งทำช้าก็จะยิ่งทำให้การรับฟังความคิดเห็นตามกฎหมาย 10 วันนั้นจะทำให้งานปิดยากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรแล้ว เชื่อว่าการทำงานยังจะอยู่ในกรอบเวลาที่จะปิดงานดังกล่าวได้ภายใน 28 ก.พ. แต่อยากสะท้อนว่าสิ่งที่จะรับฟังความเห็นจากประชาชนนั้นเป็นวิธีการที่ยุ่งยากเกินไป ด้วยที่ประชาชนจะต้องมาเขียนข้อความแล้วส่งเป็นเอกสาร และยังต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นด้วย และยังมีกรณีที่มอบอำนาจให้คนอื่นมาทำแทนต้องทำหนังสือส่งมอบอำนาจอีก มองว่าเป็นวิธีการที่ยุ่งยากเหมือนไม่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนอยากแสดงความคิดเห็นใดๆ เลย แล้วพอไม่มีประชาชนแสดงความเห็น กกต.ก็จะสรุปตามใจชอบของตัวเอง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่มองว่าต้องการออกแบบเช่นนี้เพื่อไม่ให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นใช่หรือไม่

นายสมชัยกล่าวต่อว่า การที่เอาราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมาอยู่ในการคำนวณจำนวน ส.ส.ของแต่ละจังหวัดนั้นเป็นการตีความคำว่าราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 86 ที่ กกต.ไปตีความว่าหมายถึงราษฎรทั้งหมดทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทย แต่ก็ยังมีคนที่มีความเห็นต่างจาก กกต.ว่าควรเป็นคนที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งในความต่างกันนี้มีต่างกันถึง 980,000 คน และจำนวนนี้ไปหนักอยู่ที่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย และตาก

ทำให้ 3 จังหวัดนี้เมื่อคำนวณ ส.ส.แล้วจะมี ส.ส.เพิ่มมาจังหวัดละ 1 คน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังแบ่งเขตคือ การไปเอาคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาในบางเขตเลือกตั้งในอำเภอที่มีคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาอยู่เป็นจำนวนมากราวๆ แสนคน เช่น อ.แม่อาย ฝาง เวียงแหง และไชยปราการ อำเภอเหล่านี้เมื่อแบ่งเขตเลือกตั้งจะดูดีมีจำนวนราษฎรใกล้เคียงกันแต่เวลาเลือกตั้งจริงผลที่เกิดขึ้นคือ ราษฎรที่มีสิทธิเลือกตั้งอาจจะมีไม่ถึงครึ่ง ทำให้ในอำเภอหรือเขตเลือกตั้งนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งน้อยมาก และกลายเป็นว่าเรื่องอำนาจอิทธิพล การซื้อเสียงต่างๆ จะมีโอกาสใช้ได้ผลอย่างเต็มที่

Advertisement

นายสมชัยกล่าวว่า เมื่อ กกต.ยังมีโอกาสที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยคำว่า ราษฎร ตามมาตรา 86 คืออะไรก็คิดว่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ กกต.ทำงานได้มั่นคง ปลอดภัยมากขึ้น กกต.ไม่เสียหายอะไรเลยถ้าจะไปยื่นศาลตีความเรื่องนี้ ซึ่งถ้าศาลตีความตาม กกต.ก็เดินหน้าตามตารางงานเดิมได้เลย แต่ถ้าศาลว่าไม่ใช่ กกต.ก็ต้องถอนกลับมาเพื่อแก้ไขการแบ่งเขตเลือกตั้งตามจังหวัดที่ได้รับผลกระทบใน 6 จังหวัด

และอาจจะทำให้ระบบการแบ่งเขต 6 จังหวัดนั้นล่าช้าไปเพียง 2 สัปดาห์แต่ยังทันกับการเลือกตั้ง ดีกว่าที่ว่าประชาชนผู้ถูกลิดรอนสิทธิ์ใน 3 จังหวัดที่ควรได้แต่ไม่ได้ ส.ส.เพิ่มเขาอาจจะไปร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือร้องโดยตรงกับศาลรัฐธรรมนูญ และถ้าศาลระบุว่าผิดขึ้นมามันจะเกิดการถอยหลังกลับ ในขณะที่ทุกอย่างเดินหน้าไปไกลแล้ว ทั้งมีการเลือกตั้งหาเสียงแล้วเลือกตั้ง และมีผลการเลือกตั้งแล้วด้วย เรื่องนี้จะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

“จะมาอ้างเหตุว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ใช่การประมาทเลินเล่อร้ายแรงไม่ได้แล้ว เพราะเราเตือน เมื่อเตือนแล้วนั้นคือรู้แล้วแต่ยังไม่ดำเนินการ ถ้าเกิดความเสียหายเกิดขึ้นถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อร้ายแรง ถ้ามีการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากผู้สมัครรับเลือกตั้งใน 40 เขตนั้นก็น่าจะเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท ถ้าผิดจริงเรื่องนี้ต้องชดใช้ตามตัวบุคคลไม่สามารถนำเงินราชการมาชดใช้ได้” อดีต กกต.กล่าว

Advertisement

ข่าวน่าสนใจอื่น :

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image