‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นผู้ตรวจฯส่งศาล รธน.ตีความแบ่งเขตนับรวม ‘ต่างด้าว’ ชอบด้วย กม.หรือไม่

‘ศรีสุวรรณ’ ยื่นผู้ตรวจฯส่งศาล รธน.ตีความแบ่งเขตราษฎรนับรวมต่างด้าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หวั่นไม่ชัดเจน ทำเลือกตั้งโมฆะ

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่าน นายปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการเพื่อการบริหารงาน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. โดยนับรวมคนที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า สืบเนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 ม.86 ประกอบการแก้ไข ม.26 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ว่าการกำหนดจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น หมายความรวมถึงจำนวนราษฎรผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือหมายความรวมถึงราษฎรที่เป็นคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ อย่างไร ซึ่งความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งเนื่องจาก กกต.อ้างว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้จำนวนราษฎรตามประกาศของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งรวมทั้งคนไทยและคนต่างด้าว

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่าควรนับรวมเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น ความไม่ชัดเจนของการแบ่งเขตเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นเงื่อนไขในการนำไปสู่การเลือกตั้งโมฆะ แบบที่เคยเกิดเมื่อปี 2549 กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างเหตุผลเรื่องการจัดคูหาเลือกตั้ง เป็นผลให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยมิชอบมาแล้ว และเป็นผลให้ กกต.ต้องโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามที่กฎหมายบัญญัติมาแล้ว ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนไม่ให้เกิดปัญหากันในอนาคต จึงได้นำความมาร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ใช้อำนาจตามมาตรา 230 ประกอบมาตรา 231(1) ของรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยเป็นการเร่งด่วนต่อไป

เมื่อถามว่าทาง กกต.มีมติส่งศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความในเรื่องดังกล่าวแล้ว ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการต่อหรือไม่ นายปิยะกล่าวว่า ต้องดูว่าประเด็นดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินที่จะสามารถส่งเรื่องนี้ได้หรือไม่ ถ้าเข้าเงื่อนไของค์ประกอบผู้ตรวจก็อาจจะส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าพิจารณาแล้วไม่เข้าเงื่อนไขก็จะไม่ส่ง

Advertisement

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image