‘พรสันต์’ อธิบาย แบ่งเขตเลือกตั้งต้องรวมคนต่างด้าวด้วยหรือไม่

‘พรสันต์’ อธิบาย แบ่งเขตเลือกตั้งต้องรวมคนต่างด้าวด้วยหรือไม่

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Ponson Liengboonlertchai เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ตามที่เป็นข่าวเกี่ยวกับประเด็นปัญหาการแบ่งเขตเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งมีการถกเถียงกันว่าจะต้องรวมถึงคนต่างด้าวด้วยหรือไม่ จนกระทั่งล่าสุดได้มีการยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ทำการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวแล้วตาม ม.210 (2) นั้น มีผู้มาสอบถามผมมากมาย ดังนั้นจึงขออธิบายตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญโดยสรุปเป็นข้อๆ ดังนี้

1. การกำหนดให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้งโดยใช้หลักฐานที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทยเพื่อกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หากแต่เกิดมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 แล้ว

2. เราต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานเสียก่อนว่า ขณะนี้เรากำลังพูดถึงการเลือกตั้ง (Election) ซึ่งเรื่องของการเลือกตั้งนี้เป็นเรื่องทางการเมือง (สิทธิทางการเมือง) โดยเรื่องนี้ “ตามหลักการทั่วไป” จะเป็นเรื่องเฉพาะพลเมือง (Citizen) ของรัฐ (กรณีนี้คือคนที่มีสัญชาติไทย) เท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องกับคนต่างชาติ

Advertisement

3. จากข้อ 2. การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. จึงทำไปบนวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดจำนวน “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” (ม.86) ที่มีสถานะและบทบาทหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญคือ ผู้แทนของพลเมือง กล่าวคือ ผู้แทนปวงชนชาวไทยตามที่มีการบัญญัติไว้ใน ม.๑๑๔ ที่เชื่อมโยงกับการใช้อำนาจรัฐ (ไทย) หากได้รับเลือกเข้าไปนั่งในสภา (ม.3)

ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังด้วยว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อนำมาสู่การได้มาซึ่ง ส.ส. ในแต่ละพื้นที่นั้นก็เพื่อให้เขาเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนพลเมืองไทยทุกคน (Citizen) เป็นกรณีหนึ่ง ส่วนพลเมืองที่จะมีคุณสมบัติออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ (Electors) ซึ่งรัฐธรรมนูญจะมีการกำหนดไว้ต่างหาก เช่น มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ฯลฯ ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง ไม่อาจนำมาปะปนกันได้

4. การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้การแบ่งเขตเลือกตั้งตามข้อ 2. เป็นไปตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรนั้น ไม่ได้หมายความว่า ให้ กกต. นำเอาข้อมูลทั้งหมดที่ทางกระทรวงมหาดมหาดไทยทำขึ้นไปใช้ หากแต่ต้องคัดกรองเอามาแต่ข้อมูลจำนวนของ “พลเมือง” (คนที่มีสัญชาติไทย) ตามหลักการและวัตถุประสงค์ของรัฐธรรมนูญดังที่อธิบายไปในข้อ 2. และ 3. ข้างต้น

Advertisement

กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ ข้อมูลทะเบียนราษฎรของกระทรวงมหาดไทยที่จัดทำขึ้นตามกฎหมายทะเบียนราษฎรซึ่งรวมถึงคนต่างด้าว (คนที่ไม่มีสัญชาติไทย) ด้วยก็เพราะต้องนำไปเป็นฐานข้อมูลเพื่อการจัดเตรียมการให้บริการสาธารณะต่างๆ ของรัฐ เช่น การสาธารณสุข การศีกษา ความปลอดภัยต่างๆ ฯลฯ ให้ทั่วถึงแก่ “ประชากร” (Population) (ทั้งคนไทยและคนต่างด้าว) ในพื้นที่ต่างๆ อันมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญในกรณีที่กำลังกล่าวโดยจำเพาะเจาะจงถึงสิทธิทางการเมืองอยู่ในขณะนี้

5. จากข้อ 4. การไม่นับรวมคนต่างด้าวในการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า เป็นการเพิกเฉยไม่ดูแลพวกเขาเหล่านั้น หากแต่อยู่ภายใต้การจัดทำบริการสาธารณะของภาครัฐที่ทำอยู่ในอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่การกำหนดเจตจำนงทางการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของพลเมืองของรัฐ

กล่าวโดยสรุปก็คือ คำว่า “ราษฎร” สำหรับประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญนั้นหมายถึง “พลเมือง(ไทย)” (Citizen) เท่านั้นไม่ได้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า “ราษฎร” ในความหมายของทะเบียนราษฎรที่รวมทั้งพลเมืองไทยและชาวต่างชาติซึ่งหมายถึง “ประชากร” (Population) ดังนั้น การแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. จึงไม่อาจนับรวมคนต่างด้าวเข้าไปกำหนดจำนวน ส.ส. ได้

อนึ่ง เราไม่อาจนำเอา 3 คำนี้มาปะปนกัน ได้แก่ พลเมือง (Citizen) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (Elector) และประชากร (Population) ซึ่งมีความหมายที่แตกต่างกันอย่างยิ่งในแต่ละบริบทและตัวบทกฎหมายครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image