ส.ว.โหวตคว่ำญัตติส.ส. ดับฝันประชามติแก้รธน. รุมจวกเละ นักการเมืองโกง ทำเพื่อตัวเอง

‘วุฒิสภา’ คว่ำญัตติทำประชามติแก้ รธน. ‘ส.ว.’ ไม่เชื่อมือ ‘ส.ส.ร.’ จากการเลือกตั้งของ ปชช. ชี้ยกร่าง รธน.ใหม่ไม่ทำประเทศเจริญก้าวหน้า ด้าน ‘สมชาย’ เผย รธน.ฉบับใหม่ ‘ราคาแพง’ ต้องทำประชามติ 3 ครั้ง-เลือกตั้ง 2 ครั้ง งบ 1.5 หมื่นล้านบาท ยันญัตติไม่เข้าหลักเกณฑ์ส่งเรื่องให้ ครม. หวั่นเขียนใหม่ไร้ขอบเขตกระทบประเทศ ส่วน ‘กิตติศักดิ์’ ซัดนักการเมืองขี้โกง จ้องแก้ รธน.นิรโทษกรรมตัวเอง ขู่แตะหมวดหนึ่ง-หมวดสองทำบ้านเมืองลุกเป็นไฟ ขณะที่ ‘วันชัย’ ชวนเกาะขบวน กันนักการเมืองใช้ขยายผลดิสเครดิต

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีการพิจารณาเรื่องด่วน การพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎร ในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดําเนินการ พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้ ครม.ดำเนินการ

นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธาน กมธ.ชี้แจงว่า ตามที่สภาพิจารณาและลงมติเห็นชอบกับญัตติที่มีสาระให้ส่งเรื่องต่อ ครม.เพื่อดำเนินการตามที่สภามีมติในการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับความเห็นของประชาชนต่อการจัดการรัฐธรรมมนูญฉบับใหม่ พร้อมคำถามประชามติแนบท้าย คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน” นั้น

จากการศึกษาของ กมธ. ซึ่งได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนศาลรัฐธรรมนูญ และผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปได้ว่า เมื่อพิจารณาญัตติดังกล่าวแล้วเห็นได้ชัดเจนว่าคำถามแนบท้ายเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร.เป็นการถามประชามติในสิ่งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้ และมีลักษณะที่มุ่งเพียงการตั้งคำถามเท่านั้น มิได้มีสาระสำคัญแสดงถึงข้อบกพร่องเกี่ยวกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้ญัตติดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของการเสนอให้ ครม.พิจารณาออกเสียงประชามติ

นายสมชายกล่าวว่า นอกจากนี้ กมธ.มีความเห็นว่าการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามตินั้นน่าจะไม่ทัน เพราะการออกเสียงประชามติจะต้องทำ 3 ครั้ง ครั้งที่หนึ่งคือการให้ประชาชนออกเสียงว่าจะเห็นชอบกับการยกร่างทั้งฉบับหรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วยจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 อนุ 8 เมื่อแก้ไขแล้วจะต้องนำไปออกเสียงประชามติอีกครั้ง และครั้งสุดท้ายคือการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ ส.ส.ร.จัดทำแล้วเสร็จ โดยใช้งบการทำประชามติครั้งละ 3,500 ล้านบาท และการเลือกตั้ง 2 ครั้ง คือการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ที่ กมธ.พบว่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยมายังไม่เคยมี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเลย

Advertisement

ดังนั้น การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ตามญัตตินี้จึงเทียบเท่ากับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ต้องใช้งบ 5,000 ล้านบาท และต้องใช้งบการเลือกตั้ง ส.ส.อีก 5,000 ล้านบาท ดังนั้น การทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจึงใช้เงินทั้งหมด 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ผลจากการทำประชาชนมตินี้จะไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ หรือเป็นการล้มรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถจะร่างใหม่แบบไหนก็ได้ จนกระทบกับระบอบการปกครองของประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.บางส่วนแสดงความเห็นว่า ไม่ควรที่จะเสนอญัตติดังกล่าวไปให้ ครม. และคัดค้านการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเกี่ยวข้องกับการทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างไร และจะแก้ไขปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนานได้หรือไม่ ที่ผ่านมามีแต่แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเอง รวมทั้งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ที่สำคัญคือการไม่มั่นใจใน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนว่าจะมีความพร้อม และองค์ความรู้มากเพียงพอที่จะร่างรัฐธรรมนูญที่ดีหรือไม่ อาทิ นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. เห็นว่าเป็นญัตติที่เสนอมาอย่างไม่ถูกกาลเทศะ

Advertisement

ขณะที่ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. เห็นว่า ส่วนตัวไม่ได้ขัดข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมทั้งฉบับ แต่การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจจะเป็นการเริ่มต้นความขัดแย้งของประชาชนรอบใหม่ เพราะการขอประชามติ ตนคิดว่าประชาชนบางส่วนอาจจะเห็นไปตามที่นักการเมืองได้ใส่ข้อมูลว่ารัฐธรรมนูญ 2560 เป็นฉบับเผด็จการ และไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเอาอะไรมาวัด การที่ประเทศไทยต้องมีรัฐธรรมฉบับนี้เป็นเพราะบ้านเมืองและนักการเมืองทุจริตคดโกงจนประชาชนออกมาต่อต้านเป็นล้านคน บ้านเมืองวุ่นวายใกล้เกิดสงครามกลางเมืองเต็มที จนทำให้เกิดเหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตามมา การแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องปากท้องประชาชน ถ้าแก้ทั้งฉบับประชาชนจะปากอิ่ม ท้องอิ่ม และนอนอิ่มหรือไม่

การแก้รัฐธรรมนูญที่นักการเมืองต้องการจะแก้เหลือเกินนั้นเป็นเพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ขึ้นชื่อว่าฉบับปราบโกง ตรงนี้หรือเปล่าที่นักการเมืองที่ทุจริตและโกงประเทศกลัวจะถูกจับได้ และถูกตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต จึงต้องการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยประชาชนไม่ได้อะไรเลย เป็นการแก้เพื่อนิรโทษกรรม ปลดโทษเพื่อทุจริตให้โกงกินหนักกว่าเดิมหรือไม่ ไม่ว่าจะทำประชามติหรือไม่ เกรงว่าจะเป็นต้นตอของความขัดแย้งรอบใหม่ของประชาชน เพราะถ้าแก้โดย ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน แน่นอนว่า ส.ส.ร.ก็มีความคิดไม่ต่างจากนักการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นหนังม้วนเก่าเอามาฉายอีก ถ้าหากว่าจำเป็นจริง มาตราไหนขัดอกขัดใจก็เสนอแก้เป็นมาตราไป แต่เมื่อเสนอมาแก้ทั้งร่างตนไม่เห็นด้วย เพราะสงสัยว่าสาระที่จะแก้ในหมวดหนึ่งและหมวดสองหน้าตาจะเป็นอย่างไร ถ้าไปแตะตรงนั้นประเทศไทยจะร้อนเป็นไฟ

ขณะที่ ส.ว.ที่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวและต้องการให้ส่งเรื่องไปให้ ครม.พิจารณาจัดทำประชามติ อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า การทำประชามติต้องใช้งบประมาณ แต่งบประมาณมากน้อยไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ปัญหาใหญ่คือถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ใช้มา 5 ปีแล้วหรือไม่ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นคือความขัดแย้งในบ้านเมืองที่ไม่มีเอกภาพ และไม่มีความมั่นคงที่ส่วนใหญ่มาจากรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยาก เพราะมีกลไกให้ทำประชามติ และต้องเห็นพ้องต้องกัน ไม่เช่นนั้นไม่มีทางทำสำเร็จได้ ในระยะเวลา 5 ปี เขาให้ความสำคัญไปที่ ส.ว.ทำหน้าที่เรื่องของการเลือกนายกฯ ซึ่งปกติเขาไม่ทำกัน หรือให้ ส.ว.ดำเนินการปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ แต่ขณะนี้มีปัญหาทางการเมืองที่ต้องการตัดอำนาจ ส.ว.ไม่ให้เลือกนายกฯ และยังเสนอให้ทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ดังนั้น เราต้องเท่าทันการเมือง

“ผมเชื่อว่าในกระบวนการตัดอำนาจ ส.ว.และแก้รัฐธรรมนูญ​ทั้งฉบับ ผมบอกได้เลยว่าผ่านยาก ในทางการเมืองคนที่เสนอเรื่องนี้เขารู้ว่าอย่างไร ส.ว.ก็ไม่เอา และไม่ได้ต้องการให้ผ่าน แต่ต้องการเพียงผลที่ออกมา เพื่อเอาผลไปขยายผลทางการเมืองต่อ ถ้าไม่ผ่านก็หยิบยกมาอ้างว่า ส.ว.ชุดนี้ไม่เห็นเงาประชาชนเลย เพราะ ส.ว.ชุดนี้มาจากเผด็จการและการสืบทอดอำนาจ เขาจะเอาเหตุผลนี้ไปอ้างในช่วงหาเสียง เป็นการเอาเราไปเป็นเครื่องมือในการสร้างคะแนนเสียงเพื่อที่จะไม่เห็นด้วยกับ ส.ว.ชุดนี้ให้ไปเลือกนายกฯในคราวต่อไป จึงไม่อยากให้คิดว่าการทำประชามติทำได้หรือไม่ได้ เพราะเรื่องนี้อยู่ที่ ครม.จะตัดสินใจอย่างไร” นายเสรีกล่าว

ส่วน นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยกับมติของสภา เพราะการทำประชามติเป็นเรื่องของ ครม. และ ครม.ชุดหน้าจะทำประชามติก็ไม่เกี่ยวกับรัฐสภาแต่อย่างใด ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้น่าจะต้องแก้ไข และแก้ไขได้ก่อนที่จะเราจะหมดวาระอยู่แล้วหลังเลือกตั้ง ถ้าบอกว่าควรจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมก็สามารถทำได้

ฉะนั้น ตนเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว ถ้าไม่เริ่มทำประชามติจะเริ่มนับหนึ่งได้อย่างไร ตนยังมองไม่เห็นว่าเราจะได้อะไรจากการไม่เห็นด้วย มีแต่จะทำให้เราไม่มีส่วนร่วมนับหนึ่งกับเขาเลย ถ้าเราเห็นด้วยต่อมติดังกล่าวมีแต่ได้กับได้ เพราะจะทำให้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่วุฒิสภาเหลือเวลา 1 ปี จะได้ภาพพจน์ที่ดี และไม่ทำให้ใครเสียหายกับการเห็นด้วยในครั้งนี้

“ถ้าไม่เห็นด้วยก็ไม่ได้อะไรกับวุฒิสภาเลย แต่กลับทำให้เสียโอกาสเพราะถือว่าเป็นโอกาสครั้งสุดท้าย รวมทั้งยังจะเป็นการเปิดโอกาสให้ฝ่ายการเมืองนำไปขยายผลได้ใส่ร้ายป้ายสีว่าไม่เห็นเงาประชาชน เราอย่าปิดกั้นตัวเองมากเกินไป จนกลายเป็นการคิดแทนคนอื่น เราควรอยู่กับปัจจุบัน เพราะอำนาจการทำประชามติเป็นเรื่องของ ครม.” นายวันชัยกล่าว

จากนั้น เวลา 13.08 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ที่ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ได้เปิดให้ลงมติว่าจะเห็นด้วยกับญัตติดังกล่าวหรือไม่ ผลปรากฏว่า ที่ประชุมเห็นด้วย 12 ต่อ 157 คะแนน งดออกเสียง 13 คะแนน และไม่ลงคะแนน 1 คะแนน ถือว่าที่ประชุมไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว และจากนี้จะแจ้งให้ประธานสภารับทราบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image