“วิษณุ” ถก “บิ๊กเด่น” ปม พ.ร.ก.อุ้มหาย เมินฝ่ายค้านจ้องล้ม หวังกดดันรัฐบาลลาออก เพราะเลือกยุบสภาแล้ว

‘วิษณุ’ เผย ผบ.ตร.เตรียมแจงสภาปมออก พ.ร.ก.อุ้มหาย เหตุต้องเลื่อนใช้บางมาตรา เพราะรอ จนท.เตรียมอุปกรณ์บันทึกจับกุม เมินฝ่ายค้านจ้องล้มหวังให้รัฐบาลลาออก เพราะรัฐบาลเลือกยุบสภา

เมื่อเวลา 15.10 น. วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือกับ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่า ได้พูดคุยกันหลายเรื่อง และหนึ่งในนั้นมีเรื่องเรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และสภาได้บรรจุอยู่ในวาระการพิจารณาที่จะมีขึ้นในวันอังคารที่ 28 ก.พ.นี้ จึงต้องมาเตรียมการเพื่อที่ ผบ.ตร.จะต้องไปร่วมชี้แจงด้วย ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อย และไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องข้อมูลต่างๆ จากนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เพราะตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว

นายวิษณุกล่าวอีกว่า สำหรับการพูดคุยในวันนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.ดังกล่าว เพราะต้องเสนอสภา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แม้การประชุมสภาเป็นวันสุดท้ายในวันที่ 28 ก.พ.นี้ เป็นวันปิดสมัยประชุม ก็ไม่เป็นไร เมื่อ พ.ร.ก.นี้ออกมาแล้ว รัฐบาลต้องส่งสภาโดยเร็ว แม้จะปิดสมัยประชุมไปแล้ว ก็ต้องออกพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ โดยพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวถามว่าในการเปิดสมัยประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้น รัฐบาลมีร่างกฎหมายสำคัญอะไรค้างอยู่บ้างหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี เพราะเปิดไม่ทันจะไปเจอกับการยุบสภา เนื่องจากเวลาจะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ต้องนำพระราชกฤษฎีกาประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วจะไปอธิบายอย่างไร เพราะมือซ้าย ส่งพระราชกฤษฎีกาขอเปิดประชุมรัฐสภา สมัยวิสามัญ มือขวาขอให้ยุบสภา แล้วจะให้มีการลงนามอะไรก่อน-หลัง ซึ่งเป็นเรื่องลำบากในแง่ปฏิบัติ

Advertisement

เมื่อถามว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว รัฐบาลมีความกังวลใดเป็นพิเศษหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า กังวลว่าองค์ประชุมจะไม่ครบ แล้วล่ม แต่ถ้าล่ม ก็ไม่เป็นไร แต่กลัวว่าถ้ามีการล้ม พ.ร.ก.นี้จริง ก็จะตกไป และเหตุที่ตนกลัว เป็นเพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมาประชุมสภา บางคนคิดว่าเป็นวันสุดท้าย จะไม่มีการประชุมแล้ว โดย ส.ส.ฝ่ายค้านที่เตรียมจะล้ม พ.ร.ก.ฉบับนี้อยู่นั้น นัดกันมาพร้อมเพรียง แต่ฝ่ายรัฐบาลอาจไม่พร้อม

ผู้สื่อข่าวถามว่าถ้าไม่สามารถพิจารณาพระราชกำหนดดังกล่าวได้ แล้วตัวพระราชบัญญัติที่ออกไปก่อนหน้านี้แล้ว จะมีปัญหาในการบังคับใช้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีหลายมาตรา และมาตราสำคัญต่างๆ ไม่ใช่มาตราที่ถูกเลื่อนวันบังคับใช้ ส่วนมาตราที่ถูกเลื่อนนั้นคือมาตราที่ 22, 23, 24 และมาตรา 25 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการบันทึกกล้องด้วยภาพและเสียงในการจับกุมไว้ตลอด แล้วเก็บไว้ตลอดจนคดีหมดอายุความ ซึ่งตรงนี้ถ้าไม่มีการเตรียมการให้ดี จะไปหากล้องจากไหน และจะเก็บภาพอย่างไร แล้วจะส่งเข้าระบบคลาวด์อย่างไร เพราะเวลาคดีขึ้นสู่ศาล หลังจากจับกุมไป 2 ปี จำเลยอาจมีสิทธิบอกกับศาลได้ว่าวันที่มีการจับกุมนั้น

เจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการบันทึกภาพไว้ จึงอ้างว่าเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบ ศาลก็จะต้องสั่งให้เรียกดู จึงต้องมีแหล่งจัดเก็บข้อมูล ส่วนมาตราอื่นๆ ยังถือว่าศักดิ์สิทธิ์และดี เช่น เวลาจับ ให้มีการบันทึกภาพ เวลาอุ้ม ห้ามฆ่า ห้ามทรมาน หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวันใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว ก็ให้นำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้โดยอนุโลม มาตราเหล่านี้ไม่มีการยืดเวลาเริ่มวันบังคับใช้ แต่ยืดกำหนดเวลาเฉพาะมาตรา 22 ในเรื่องการคุมตัวผู้ต้องหา โดยผู้ที่จับกุม ไม่ใช่เฉพาะแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งผู้ที่ไปดำเนินการควบคุมตัว ต้องมีการบันทึกภาพและเสียง

Advertisement

นายวิษณุกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีการอนุมัติงบประมาณ 444 ล้านบาท ในการจัดซื้อกล้องบันทึกภาพ โดยวิธีประมูลอี-บิดดิ้ง ซึ่งต้องมีการออกระเบียบ จึงให้ขยายเวลาไปเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงที่มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา นี่จึงเป็นเหตุผลที่มีการเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายมาตราดังกล่าว ส่วนมาตราอื่นๆ ยังใช้เหมือนเดิม แต่ถ้าไม่เลื่อน ก็จะไปติดกับมาตรา 22 เรื่องการถ่ายภาพการจับกุม และยังมีมาตราอื่นที่ระบุด้วยว่าเรื่องใดที่เกิดก่อน ให้นำพระราชบัญญัตินี้ไปใช้ ก็จะเกิดข้อถกเถียงกันว่าที่ได้มีการจับกุมไปก่อนหน้านี้แล้วไม่มีการบันทึกภาพนั้น จะทำอย่างไร เพราะต้องมีการบันทึกภาพไว้ตลอดตั้งแต่ การจับกุมและควบคุมตัวจนไปถึงการส่งตัวให้กับพนักงานสอบสวน โดยสิ่งเหล่านี้ต้องมีการซักซ้อมและไม่มีระเบียบปฏิบัติ แต่ในวันนี้ยังไม่มี

เมื่อถามว่าถามถึงกรณีที่ฝ่ายค้านเตรียมจะล้มร่างกฎหมายฉบับนี้ ถ้าล้ม รัฐบาลก็ต้องลาออก นายวิษณุกล่าวว่า ตามหลัก ถ้ากฎหมายที่เสนอรัฐบาลไม่ผ่าน รัฐบาลก็ต้องลาออก แต่อย่าลืมว่ามี 2 ทางเลือกคือ รัฐบาลลาออกหรือยุบสภา โดยสมัยรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ออก พ.ร.ก.เก็บภาษีน้ำมันเบนซินดีเซล แต่ปรากฏว่าไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภา พล.อ.เปรมเลือกที่จะยุบสภา และครั้งนี้ ถ้า พ.ร.ก.ดังกล่าวไม่ผ่านความเห็นชอบรัฐสภา รัฐบาลก็เลือกจะยุบสภา เพราะตั้งใจว่าจะยุบอยู่แล้ว และการจะยุบนั้นไม่ยาก มีแต่ปัญหาที่จะตามมาคือ ถ้า พ.ร.ก.นี้ไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภา ตำรวจจะต้องกลับมาใช้วิธีการบันทึกเทป โดยที่ยังไม่มีความพร้อม ซึ่งจะเกิดปัญหาดังกล่าวทั่วประเทศ เพราะคดีที่มีการจับกุมมาแล้ว อาจต้องปล่อยผู้ต้องหาเป็นหมื่นเป็นแสนราย เพราะตำรวจก็จะไม่กล้าจับกุม ถ้าไม่มีการบันทึกภาพ เนื่องจากเกรงว่าจะมีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image