ทูตรัศม์ ชี้ 1 ปีสงครามยูเครน ภาพสะท้อน การทูตไทย ถึงยุคตกต่ำ ไร้ชั้นเชิง
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูต และเจ้าของเพจ “ทูตนอกแถว The Alternative Ambassador Returns” ได้โพสต์ข้อเขียน “ครบรอบหนึ่งปีสงครามยูเครน กับการตอกย้ำยุคตกต่ำของการต่างประเทศไทย” ผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้
วันนี้ครบรอบหนึ่งปีสงครามยูเครน ที่นับเป็นสงครามที่หักปากกาเซียนทั้งทางการทูตและการทหาร ที่ในตอนแรกหลายฝ่ายไม่คิดว่ารัสเซียจะบุกจริงๆ และคาดกันว่า ถ้าบุกจริงยูเครนคงจะพ่ายแพ้ภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน แต่กลายมาเป็นสงครามที่ลากยาวจนเป็นปี และมีส่วนเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบโลกที่ส่งผลกระทบต่อทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคง ที่ไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ในขณะที่สงครามนี้ถือเป็นวิกฤตของโลก ในช่วงปีที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยต่อเรื่องนี้ กลับดูเหมือนไม่อยู่กับร่องกับรอย วันหนึ่งพูดอย่างอีกวันทำอีกอย่าง ซึ่งสร้างผลเสียหายให้กับประเทศ ไม่เฉพาะแค่ต่อเกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงความมั่นคง รวมทั้งอาจมีผลต่อทางเศรษฐกิจด้วย
แม้ไทยจะเคยออกเสียงสนับสนุนมติสหประชาชาติในการคัดค้านการรุกรานดังกล่าวในช่วงแรก แต่การไปเยือนรัสเซียแบบลับๆ ของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ไทยงดออกเสียงมติการประณามการผนวกดินแดนยูเครนโดยรัสเซียของสหประชาชาติในเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว ทำให้ไทยถูกตั้งคำถามในสายตาประชาคมโลกว่าเราจะอยู่ข้างไหนแน่
ถ้าหากมองกันในแง่ผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้ง ในปัจจุบันนั้นรัสเซียแทบไม่สามารถตอบสนองอะไรไทยได้เลย ไม่ว่าจะด้านเศรษฐกิจ ที่รัสเซียเองมีขนาดเล็กกว่าเกาหลีใต้แถมถูกบอยคอต ในด้านความมั่นคงและการทหาร ทุกวันนี้รัสเซียยังแทบเอาตัวไม่รอดจากสงครามนี้ จึงไม่มีศักยภาพที่จะมาช่วยใครด้านนี้อีก
ส่วนในทางการเมืองระหว่างประเทศยิ่งแล้วใหญ่กลายเป็นหมาหัวเน่าที่โลกรังเกียจ ดังนั้นการพาตัวเองไปใกล้ชิดกับรัสเซีย ไทยจึงไม่ได้อะไร มีแต่จะเสีย
ก็ต้องถามคนกำหนดนโยบายว่าคิดอะไร หรือคิดไม่ได้ หรือแค่เพราะเขาเป็นพวกเผด็จการ อำนาจนิยมเหมือนรัฐบาลตนเอง เลยมีสัญญาใจกัน?
ส่วนประเทศชาติเสียหายเท่าไหร่ ช่างมัน?
บางคนชอบพูดเรื่องความเป็นกลาง ก็ต้องบอกว่าอันที่จริงไทยแทบไม่เคยเป็นกลาง ไม่ว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งหรือสอง รวมทั้งสงครามเย็นด้วย ซึ่งไทยเลือกข้างชัดเจน เพื่อความอยู่รอดของเรา
ความเป็นกลางนั้นอาจดีในทางทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติมันอาจใช้ไม่ได้เสมอไป เช่น นอร์เวย์ก็เคยเป็นกลางตอนสงครามโลกครั้งสองแล้วก็ถูกนาซีเยอรมันบุกอยู่ดี จนปัจจุบันเขาเป็นสมาชิกแข็งขันของนาโตไปนานแล้ว
เช่นเดียวกับสวีเดนและฟินแลนด์ที่เคยเป็นกลาง บัดนี้ก็ตัดสินใจขอเข้าร่วมนาโต
เพราะเราต้องเข้าใจว่าความเป็นกลางนั้นมันใช้ได้เฉพาะกับคนที่เคารพกติกา กฎหมายระหว่างประเทศ แต่ถ้ากับคนที่ไม่เคารพสิ่งนี้ เช่นที่รัสเซียกำลังทำอยู่ ความเป็นกลางก็ช่วยปกป้องอะไรไม่ได้
(คนที่พร่ำแต่เป็นกลางๆ จึงควรหาประวัติศาสตร์ทั้งไทยและโลกอ่านมากกว่านี้)
และต้องเข้าใจว่า การเลือกเป็นกลางระหว่างผู้รุกรานกับผู้ถูกกระทำ นั่นคือการเลือกเข้าข้างความอยุติธรรม และอยู่ฝ่ายผู้รุกราน ซึ่งไม่ได้เป็นกลางจริงในทางปฏิบัติ
สิ่งที่ไทยทำลงไปอันได้แก่การงดออกเสียงประณามการผนวกดินแดนยูเครนโดยรัสเซีย ในทางปฏิบัติก็คือเราเลือกข้างรัสเซีย และมันมีผลเสียหายต่อประเทศที่เท่ากับยอมรับว่าสิ่งนี้ทำได้ ถ้าวันข้างหน้ามีใครที่เขามีกำลังมากกว่าทำแบบนี้กับเรา
การดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทยในกรณีนี้จึงเป็นการสร้างความเสียหายให้ทั้งด้านความมั่นคง ด้านการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งอาจส่งผลต่อโอกาสทางเศรษฐกิจ เมื่อวันข้างหน้าที่ยูเครนเขาลุกขึ้นมาบูรณะประเทศโดยความช่วยเหลือมหาศาลจากสหภาพยุโรป
แม้ล่าสุดไทยจะเลือกออกเสียงสนับสนุนมติสหประชาชาติให้ยุติการทำสงครามรุกรานยูเครนก็ตาม แต่ทว่าความเสียหายมันได้เกิดขึ้นแล้ว และแม้การออกเสียงสนับสนุนล่าสุดจะเป็นสิ่งถูกต้อง แต่ยิ่งเท่ากับตอกย้ำให้เห็นถึงความไร้เหตุผล ไร้บรรทัดฐานของการงดออกเสียงก่อนหน้าตามที่เคยให้คำชี้แจงเอาไว้
ซึ่งมันคือภาพสะท้อนของความไม่เอาไหน ไร้ความรับผิดชอบ ไร้ชั้นเชิงทางการทูต (ที่แม้แต่กัมพูชายังฉลาดกว่า)
และก็คือภาพสะท้อนความตกต่ำของการทูตไทยในยุคปัจจุบัน ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนั่นเอง
ย้อนอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ไทยร่วม 141 ชาติสมาชิก UN โหวตหนุน เรียกร้องสันติภาพในยูเครน
- เปิดเหตุผลผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น ก่อนโหวตหนุนข้อมติยูเครน 23 ก.พ.
- 1 ปีสงครามยูเครน ‘เซเลนสกี’ ลั่นจะทำทุกอย่าง เพื่อให้ได้ชัยชนะในปีนี้
- 12 เดือน สงครามรัสเซีย-ยูเครน อียูส่งสารหนุนเคียฟ ในงาน ’12 Moments for Ukraine’