อมรัตน์-สมยศ เยี่ยมตะวัน แบม ป้าวัย 55 รัวข้อกฎหมาย เปิดแผลในใจ ฝากถึง ส.ว.

ส.ส.เจี๊ยบ-สมยศ เยี่ยมตะวัน-แบม หน้าศาลฎีกา ป้าวัย 55 มาจากทุ่งครุ รุดให้กำลังใจ ค้างด้วยไม่ได้ ติดเลี้ยงแมว 17 ตัว

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่หน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนิน เขตพระนคร กรุงเทพฯ สืบเนื่องกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม เตรียมออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติช่วงบ่ายวันนี้ เพื่อย้ายไปปักหลักอดอาหารและน้ำบริเวณหน้าศาลฎีกา สนามหลวง เรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับนักโทษการเมืองทุกคนต่อไป หลังจากอดประท้วงมาเป็นเวลา 37 วัน ทําให้ไม่สามารถออกจากโรงพยาบาลได้เร็วกว่าที่คาดหมาย

เวลา 15.30 น. มีการเคลื่อนย้าย น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ออกจากห้องพักผู้ป่วยยูงทอง 2 รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต โดยเดินทางมาในลักษณะนอนบนรถตู้ ซึ่งไม่ใช่ของโรงพยาบาล เพื่อย้ายทั้งทั้งสองมายังหน้าศาลฎีกา

บรรยากาศเวลา 16.10 น. ที่ลานอากง (หน้าศาลฎีกา) มีเพื่อนของ น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ เดินทางมาเตรียมสถานที่เพื่อปักหลักอดอาหาร อาทิ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือหนอนบุ้ง และ น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องหา ม.112 นอกจากนี้ ยังมีบิดา และมารดาของ น.ส.ทานตะวัน นายธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย รวมถึงเพื่อน และประชาชนทั่วไป เดินทางมาร่วมเตรียมสถานที่ด้วย ขณะที่ประชาชน บางส่วนสวมเสื้อลายดอกทานตะวัน ทยอยเดินทางมานั่งจับกลุ่มรอต้อนรับส่งกำลังใจ รอบบริเวณมีร้านค้า อาหาร เครื่องดื่มมาตั้งขาย ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวนหลายสิบนายกระจายกำลังเฝ้าประจำการโดยรอบ พร้อมกั้นแผงเหล็ก ไม่ให้มีนักกิจกรรมมุ่งหน้าไปยังฝั่งศาลหลักเมือง

Advertisement

น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือใบปอ ผู้ต้องหา ม.112 กล่าวถึงกระบวนการยุติธรรมว่า ตนยังรอท่าทีของศาลอยู่ ยังยืนยันว่าเงื่อนไขการประกันตัวไม่ควรมีตั้งแต่แรก สิ่งที่ทำไม่ควรผิดกฎหมาย

“เชื่อว่าการออกมาเรียกร้องทำให้เกิดแรงกดดันปล่อยตัวผู้ต้องหาการเมือง ซึ่งการมาปักหลักที่นี่ก็เพื่อยืนยันให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาการเมืองทั้งหมด

Advertisement

“ก่อนหน้านี้ก็มีการเรียกร้องให้ปล่อยตัว แต่ยังมีคดีการเมืองที่ไม่ใช่ 112 เช่น คดีระเบิด เผารถ ซึ่งสังคมยังไม่เข้าใจ เมื่อพวกเขาไม่มีแสง ยิ่งทำให้ถูกกดลงไปอีก” น.ส.ณัฐนิชกล่าว

น.ส.ณัฐนิชกล่าวอีกว่า ตนยังยึดหลักว่า ในเมื่อคดียังไม่ถูกตัดสินว่าผิด เขายังเป็นผู้บริสุทธิ์

“การไม่ให้ประกันด้วยเงื่อนไขกลัวหลบหนี ก็สามารถใส่กำไลอีเอ็มได้ แต่เราไม่ได้ต้องการจะหนี ต้องการสู้ตามกฎหมาย รวมทั้งมีเงื่อนไขหลายอย่างที่ศาลให้เหตุผลได้ ว่าไม่ให้ประกันเพราะอะไร ขณะที่คดีอื่น สามารถปล่อยตัวชั่วคราวได้” น.ส.ณัฐนิชกล่าว

ด้าน น.ส.ลัดดา แจ่มจ่าย อายุ 55 ปี ประชาชนผู้ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว ให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ ว่า ตนเดินทางมาจากเขตทุ่งครุ ตั้งใจมาที่นี่เพื่อให้กำลังใจต่อวันและแบม เพราะสิ่งที่ทั้งสองทำไม่ได้เกินเลยไปกว่ากฎหมายที่มี

“มาตรา 29 วรรค 2 ให้ถือไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาและจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์, วรรค 3 จับกุมคุมขังได้เท่าที่จำเป็น และมาตรา 107 ประชาชนมีสิทธิได้รับการประกันตัว บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” น.ส.ลัดดาชี้

เมื่อถามว่า แม่นเรื่องกฎหมายเพราะเป็นนักกฎหมายหรือไม่?

น.ส.ลัดดาเปิดเผยว่า ตนไม่ได้เป็นนักกฎหมาย แต่เพราะเกิดความไม่เป็นธรรมในสังคม ประชาชนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว จึงทำให้สนใจศึกษากฎหมายมากขึ้น

“จริงๆ เราควรจะไปทำมาหากิน ไม่ควรจะต้องออกมาเรียกร้องแบบนี้ พอทำแบบนี้ทำให้เราก็อยากรู้เหมือนกันว่าสิ่งที่เด็กเรียกร้องนั้นถูกต้องไหม มีอาจารย์นักกฎหมายออกมาพูดไม่รู้ตั้งกี่คน ถึงสถานการณ์ตอนนี้” น.ส.ลัดดาเผย

เมื่อถามว่าเป็นห่วงทั้งสองหรือไม่ที่ย้ายออกจากโรงพยาบาล มาปักหลักอดอาหารและน้ำประท้วงที่หน้าศาลฎีกา?

น.ส.ลัดดากล่าวว่า เป็นห่วงมาก ไม่อย่างนั้นคงไม่มาร่วมเรียกร้อง ซึ่งตนเคยเดินทางไปให้กำลังใจที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติมาก่อนหน้านี้ ช่วงที่ตะวันและแบมเกือบช็อก และติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด

“สู้มาตั้งแต่ยุคเสื้อแดง ตั้งแต่ นปก. แค่ประชาชนเรียกร้องทำไมต้องอุ้มหาย ประชาชนแค่ออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ว่าเราสามารถเรียกร้องได้ถ้าเกิดรัฐธรรมอะไรที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ถูกต้อง เสียใจมากกับเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ เสียใจสุดๆ มีคนได้รับผลกระทบมาก มันเป็นแผลในใจ แทนที่คุณจะแก้ไข เด็กจะได้ไม่จำเป็นต้องออกมาอีก ถ้าคุณแก้ไขทำอะไรตามที่คุณพูด คุณบอกว่าคุณมาเพื่อทำให้มันดีขึ้น แล้วทำไมถึงเป็นแบบนี้” น.ส.ลัดดากล่าว

ถามถึงความคาดหวังของการออกมาร่วมเรียกร้องสิทธิประกันหน้าศาลฎีกา?

น.ส.ลัดดากล่าวว่า เหลือแค่อีกไม่กี่คนเอง ขอแค่ทำตามกฎหมาย

“เด็กไม่ได้ขอเกินเลยไปกว่ากฎหมายที่มี ไม่ได้หนี ทำไมต้องทำให้มันเป็นเรื่อง เมื่อคุณเป็นผู้รักษากฎหมายทำไมถึงไม่รักษากฎหมายตรงนี้ จริงๆ แล้วน่าจะมีทีวีช่องใดช่องหนึ่งมาสอนกฎหมายให้ประชาชนรู้ เรามีความรู้สึกว่าพวกเขากลัวประชาชน ถ้าประชาชนรู้กฎหมายมากพอ เหมือนกับกระเป๋าที่สะพายมาวันนี้ เป็นข้อความจากวิสา คัญทัพ เขียนว่า ‘อธรรมต้องยอมย่อยยับกับความจริง ความจริงวันนี้ ความจริงประเทศไทย’ เพราะความจริงมันไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและบิดได้” น.ส.ลัดดากล่าว

เมื่อถามว่าจะร่วมปักหลักค้างคืนที่นี่ด้วยหรือไม่?

น.ส.ลัดดาเผยว่า คงจะไปๆ มาๆ ปักหลักด้วยไม่ได้เพราะมีแมวต้องเลี้ยง 17 ตัว

“จริงๆ แล้วไม่ได้อยากให้น้องมาที่นี่ เพราะสงสารกลัวเป็นอะไรกลัวมากๆ เลยต้องมาดู ส่งกำลังใจให้” น.ส.ลัดดากล่าว นอกจากนี้ ยังฝากถึง ส.ว.ด้วยว่า ให้ไปดูมาตรา 114 ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

“คุณเป็นแค่ตัวแทน รบกวนอย่ามาคิดแทนประชาชน ศาลเคยตัดสินไว้แล้ว ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ โดยการส่งไปให้ผู้ถืออำนาจซึ่งก็คือประชาชน ลงประชามติ” น.ส.ลัดดากล่าว

บรรยากาศ เวลา 19.43 น. ที่หน้าศาลฎีกา นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือเจี๊ยบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เดินทางมาร่วมให้กำลังใจ ท่ามกลางเสียงร้องต้อนรับของผู้ที่ร่วมปักหลักว่า ‘พรรคก้าวไกล พรรคก้าวไกล’

ทั้งนี้ นายสมยศกล่าวกับใบปอด้วยว่า นางอมรัตน์คืออีกหนึ่งเสียงที่ทำให้ใบปอ และผู้ต้องหา
การเมืองได้รับสิทธิประกันตัว จากการนำเรื่องนี้ไปอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร โดยใบปอกล่าวขอบคุณ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image