ชินวรณ์ เครียด พิจารณา พ.ร.ก.ป้องกันสูญหาย หวั่น ส.ส.อยู่ไม่เกินครึ่ง ชี้ รัฐต้องรับผิดชอบ

ชินวรณ์ เครียด พิจารณา พ.ร.ก.ป้องกันสูญหาย หวั่น ส.ส.ประชุม อยู่ไม่เกินครึ่ง ชี้ รัฐต้องรับผิดชอบ

วันที่ 27 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ รองประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล เปิดเผยถึงการเปิดประชุมนัดสุดท้าย ว่าด้วยเรื่องการพิจารณา พ.ร.ก.ป้องกันบุคคลสูญหายว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากในเรื่องของการเมืองชุดสุดท้าย ที่เราจะประชุมกันในวันที่ 28 นี้ ซึ่งท่านประธานได้บรรจุเป็นระเบียบวาระ ที่จะนำเอา พ.ร.ก.อุ้มหาย เพื่อเข้ามาพิจารณาในสภา เมื่อรัฐบาลส่งเรื่องพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ.2566 เข้าสู่สภา ก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องเร่งพิจารณาให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ ประธานวิปรัฐบาล ได้นัดหารือก่อนการประชุมในเช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และต้องพยายามผลักดันให้ผ่าน เพราะเป็น พ.ร.ก.ที่เสนอโดยรัฐบาล หากไม่ผ่านความเห็นชอบก็เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องรับผิดชอบ และย้ำว่าเป็นเรื่องที่แต่ละพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลต้องรับผิดชอบเพราะถือเป็นร่างกฎหมายสุดท้ายของสภาชุดนี้

นายชินวรณ์กล่าวอีกว่า ตามที่ได้เรียนให้ทราบว่า รู้สึกกังวลเรื่ององค์ประชุม เพราะเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม จึงขอเรียกร้องให้ทุกพรรคมาร่วมกัน ไม่เช่นนั้นฝ่ายบริหารต้องรับผิดชอบ และกฎหมายนี้เท่าที่ติดตามทราบว่าฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย และในส่วนของกรรมาธิการในร่างกฎหมายเดิมของพรรค นายสุทัศน์ เงินหมื่นก็ไม่เห็นด้วย ดังนั้นหากไม่ผ่านต้องกลับไปใช้กฎหมายเดิม

Advertisement

ส่วนความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีต้องทำอย่างไรนั้น ต้องไปถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามประเพณีนายกรัฐมนตรีต้องลาออก แต่หากลาออก ครม.ก็จะรักษาการไม่ได้ เว้นแต่ยุบสภาไปเลย

พร้อมกันนี้ส่วนตัวยังเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิเสรีภาพจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ โดยเฉพาะ ส.ส.ที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เห็นด้วย จึงกังวลว่าจะไม่ผ่าน

อย่างไรก็ตามในเรื่องนี้ฝ่ายค้านจะไม่เห็นด้วย คือ 1) มีความจำเป็นอย่างรีบด่วนหรือไม่ตาม โดย กม.รธน.ม.122, 2) ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลบางส่วนก็มองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิและเสรีภาพ เมื่อมี กม.รองรับแล้วก็ไม่จำเป็นที่ รบ.จะต้องมาใช้ พ.ร.ก.เป็นการออก กม.โดยฝ่ายบริหาร และให้อำนาจฝ่ายบริหาร เป็นเรื่องผิดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพ และ 3) เนื่องจาก พ.ร.ก.จะต้องขออนุมัติ ให้สภาให้ความเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบ จึงทำให้จะต้องมีการพิจารณากันเป็นนัดสุดท้าย 28 กุมภาพันธ์นี้

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image