‘ย่าโม’ อนุสาวรีย์สามัญชนแห่งแรกของไทย เกือบเป็น ‘นางฟ้าถือดาบ’ ก่อนไอเดียถูกปัดตก

เกิดการตั้งข้อสังเกตอย่างต่อเนื่องนับแต่นาทีที่ อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย หนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ชักดาบออกจากฝัก เป็นสัญลักษณ์ออกศึก (เลือกตั้ง) เบื้องหน้าลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี หรือย่าโม วีรสตรีเมืองนครราชสีมา

บ้างก็ว่า คมดาบหันผิดฝั่ง บ้างก็ว่าเป็นกิริยาไม่งาม แน่นอนว่า ส่วนใหญ่เป็นคอมเมนต์จากฝักฝ่ายที่ทราบกันดีว่าตำแหน่งแห่งที่อยู่หนใด

แต่ที่แน่ๆ คือ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีนี้นอกจากเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวโคราชและคนไทยทั่วประเทศแล้ว ยังมีความเป็นมาน่าสนใจอย่างยิ่งในบริบทประวัติศาสตร์การเมืองไทยในห้วงเปลี่ยนผ่าน

‘มติชนออนไลน์’ ชวนย้อนเหตุการณ์ครั้งมีแนวคิดสร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าวที่เริ่มต้นขึ้นใน พ.ศ.2476 เพียง 1 ปี หลังอภิวัฒน์สยาม 2475

Advertisement

ข้อมูลจาก สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ระบุว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี และพระเทวาภินิมมิต ซึ่งพื้นเพเป็นชาวนครราชสีมา ร่วมกันออกแบบอนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำสูง 185 เซนติเมตร หนัก 325 กิโลกรัม ประดิษฐานอยู่บนไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองสูง 250 เซนติเมตร หน้าประตูชุมพล (ประตูเมืองนครราชสีมาด้านทิศตะวันตก) และทำพิธีเปิดในช่วงต้นปี 2477

กรมศิลปากรได้กำหนดให้อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และประตูชุมพล พร้อมด้วยแนวกำแพงเมืองนครราชสีมาใบเสมาข้างละ 10 ใบ ที่ยืดออกจากประตูชุมพล เป็นโบราณสถานสำหรับชาติ ในปี 2480 ในเขตพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา ยังมีโบราณสถานที่กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานอีก 3 แห่ง ได้แก่ วัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร สถานพระนารายณ์ และศาลหลักเมือง

ปัจจุบันอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีเด่นตระหง่านหน้าประตูชุมพล

Advertisement
ประติมากรรมต้นแบบ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เก็บรักษาและจัดแสดงที่หอประติมากรรมต้นแบบ ภายในมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กรุงเทพฯ

เหตุการณ์ในช่วงเวลาร่วมสมัยกันถูกบอกเล่าไว้ใน ‘สาส์นสมเด็จ’ ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีโต้ตอบกัน โดยลายพระหัตถ์ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2477 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีไปถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความตอนหนึ่งว่า

‘จะทูลถวายเรื่องกรมศิลปากรเขากำลังปั้นรูปท่านผู้หญิงโม้กันอยู่ ในว่าจะหล่อเอาไปตั้งเป็นอนุสาวรีย์ประตูชัยโคราช มีขนาด สูง 4 ศอก เลยทำเป็นรูปหญิงสาวตัดผมปีก ยืนถือดาบ นุ่งจีบ ห่มผ้า สไบเฉียง อนุสาวรีย์รายนี้เดิมทีพระเทวาภินิมมิต (ฉาย เทียมศิลป์ชัย) เขียนมาปรึกษาเกล้ากระหม่อม ก่อนเป็นรูปผู้หญิงนั่งบนเตียง มีเครื่องยศพานหมากกระโถนตั้งข้างๆ

เกล้ากระหม่อมถามว่าใครจะทำ เขาว่าเป็นผู้แทนราษฎรนครราชสีมา เกล้ากระหม่อมถามว่า แกเคยเห็นท่านผู้หญิงโม้หรือ หน้าตาอย่างนี้หรือ ได้แต่หัวเราะ ไม่ได้คำตอบ ถามว่าจะตั้งที่ไหน ตั้งที่ประตูชัย เกล้ากระหม่อมว่าเป็นทางเดินแล้วจะเอารูปปั้นไปตั้งอุดเสีย มิเดินไม่ได้หรือ แกก็หัวเราะแล้วนำแบบกลับไป

ต่อมาเกล้ากระหม่อมไปที่ศิลปากรสถาน เห็นนายเฟโรจี (ศิลป์ พีระศรี) ปั้นดินเป็นรูปผู้หญิงยืนถือดาบอยู่ตัวเล็กๆ หลายตัว ท่าต่างกัน ถามว่าทำอะไร แกบอกว่าทำผู้หญิงโคราช ใครก็ไม่รู้ที่รบกับผู้ชาย เกล้ากระหม่อมก็เข้าใจ แล้วได้แนะนำว่าเราไม่รู้จักตัว หน้าตาเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ทำไม่ได้ดอก ทำ Allegory (สัญลักษณ์แฝงความหมาย) เป็นนางฟ้าถือดาบดีกว่า แกเห็นด้วย

ต่อมาอีกสองสามวัน เกล้ากระหม่อมไปอีก เห็นแกปั้นไว้น่าเอ็นดูดี เป็นผู้หญิงสาวผมยาวประบ่า ใส่มาลาถือพวงดอกไม้สด นุ่งจีบ ห่มสะไบสะพักสองบ่า ยืนถือดาบ เกล้ากระหม่อมเห็นแล้วก็รับรองว่าอย่างนี้ดี…มาเมื่อก่อนหน้าจะเขียนหนังสือมาถวายนี้ ไปเห็นปั้นตัวเบ้อเร่อ ถามว่าทำไมไม่ทำเป็นรูป Allegory แกบอกว่าเขาไม่เอา’

สำหรับประเด็นที่ ‘เขาไม่เอา’ แนวทางนางฟ้าถือดาบนั้น ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร เจ้าของผลงาน ‘ศิลปะสถาปัตยกรรมคณะราษฎร’ เคยวิเคราะห์ไว้เมื่อครั้งเป็นวิทยากรในกิจกรรม ‘Book Walk เรื่อง (ไม่ถูก) เล่า ในประวัติศาสตร์บนราชดำเนิน’ เสาร์ที่ 25 กรกฎาคม 2563 เนื้อหาโดยสรุปว่า อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี นับเป็นอนุสาวรีย์สามัญชนแห่งแรกของไทย และเป็นอนุสาวรีย์บุคคลแห่งแรกของระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะเป็นอนุสาวรีย์ย่าโมอย่างที่เราคุ้นตาในปัจจุบัน มีเบื้องลึกที่น่าสนใจยิ่ง กล่าวคือ เดิม พระเทวาภินิมมิต เป็นผู้ออกแบบโดยให้ย่าโมนั่งบนตั่ง แต่งกายด้วยชุดไทย แต่สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์มีข้อแนะนำให้แก้ไข

พระเทวาภินิมมิต

ต่อมา ศาสตราจารย์ศิลป์กลายเป็นผู้ออกแบบปั้น โดยมีบันทึกว่า มีการออกแบบให้ย่าโมทำท่าต่างๆ เยอะไปหมด กรมพระยานริศฯบอกว่า เมื่อไม่รู้จักหน้าตาจริงๆ ของย่าโม ควรปั้นแบบกลางๆ ให้เป็น “นางฟ้า” ห่มสไบไปดีกว่า ทว่า สุดท้ายอนุสาวรีย์ย่าโมก็เป็นรูปบุคคลดังเช่นทุกวันนี้ โดย ศ.ดร.ชาตรีมองว่า นี่คือสิ่งสะท้อนถึงการปะทะระหว่างระบอบเดิมกับระบอบใหม่ ผ่านการสร้างให้เป็นบุคคลจริง ไม่ใช่นางฟ้า ทั้งยังนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการสร้างอนุสาวรีย์บุคคลสามัญชนแห่งแรกดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อหมดยุคคณะราษฎรเมื่อ พ.ศ.2490 หลังการรัฐประหาร ศิลปกรรมก็ปรับเปลี่ยนอีกครั้ง จะเห็นได้จากผลงานที่ชนะการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.2492 นั่นคือ ‘เสียงขลุ่ยทิพย์’ ของ เขียน ยิ้มศิริ ศิลปินชื่อดัง ซึ่งย้อนกลับไปหาความงามแบบไทยประเพณี ทั้งลีลา ท่าทาง อีกทั้งทรงผมก็ยังเป็นแบบไทยอีกด้วย

ภาพจาก สวนป๋วย PUEY Park for the People
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image