รองเลขาฯยูเอ็นปลื้ม มท.ดันบ้านโก่งธนู-ดอนกอย หมู่บ้านยั่งยืนสำเร็จ พร้อมยกเป็นต้นแบบในเวทีสหประชาชาติ

รองเลขาฯยูเอ็นปลื้ม มท.ดันบ้านโก่งธนู-ดอนกอย หมู่บ้านยั่งยืนสำเร็จ พร้อมยกเป็นต้นแบบในเวทีสหประชาชาติสู่ประเทศอื่นต่อไป

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ให้การต้อนรับ นางอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) และคณะผู้แทนจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่บ้านเกาะหมู่ 5 ตำบลโก่งธนู และวัดญาณเสน ตำบลโก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี สกลนคร ปัตตานี พัทลุง คณะที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก คณะที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย คณะอุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คณะผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่ายให้การต้อนรับและร่วมลงพื้นที่

นายสุทธิพงษ์เปิดเผยว่า พวกเราชาวมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ 7,255 ตำบล 75,058 หมู่บ้าน ได้น้อมนำเอาแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ไปขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หมู่บ้าน” ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองที่เล็กที่สุดให้เป็นหมู่บ้านที่ยั่งยืน ดังที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อความเท่าเทียม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” อันเป็นความมุ่งมั่น (Commitment) ที่ต้องการให้เกิดการ Change for Good ให้กับพี่น้องประชาชนคนไทยทั้ง 65 ล้านคนให้สำเร็จก่อนเป้าหมายที่ทุกประเทศสมาชิกยูเอ็นตั้งเป้าไว้ในปี 2573

Advertisement

“พื้นที่บ้านเกาะ หมู่ 5 ตำบลโก่งธนู ในเขตขององค์การบริหารส่วนตำบลโก่งธนู อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี แห่งนี้ เป็นพื้นที่ต้นแบบการบริหารจัดการชุมชนเพื่อความยั่งยืนและเป็นภาคีเครือข่าย (Partnership) ของกระทรวงมหาดไทย ในการบูรณาการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2573 โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว และ “ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน” โดยนำพื้นที่สาธารณะมาปลูกไม้ผลเต็มพื้นที่ และต่อมาด้วยพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงน้อมนำเอาสิ่งที่เป็นความสำเร็จของตำบลโก่งธนู คือ ความมั่นคงด้านอาหาร และน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องของการนำเอาภูมิปัญญาผ้าไทย มาส่งเสริมก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทรงเชื้อเชิญดีไซเนอร์และผู้ทรงคุณวุฒิเป็นคณะทำงาน และขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมมือกับยูเอ็น เชิญชวนให้พี่น้องประชาชนทุกครัวเรือนได้บริหารจัดการขยะดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ทุกครัวเรือนได้คัดแยกขยะโดยคัดแยกขยะเปียก (Food Waste) เพื่อลงสู่ถัง “ขยะเปียกลดโลกร้อน” ซึ่งเป็นแนวคิดของ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ที่ต่อยอดการหมักปุ๋ยในลักษณะระบบเปิด คือ ทำเสวียน สู่การทำถังขยะระบบปิด ต่อมาจึงเรียกว่า “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน”” นายสุทธิพงษ์กล่าว

Advertisement

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า สิ่งดีๆ จำนวนมากในอดีตเป็นการขับเคลื่อนโดยการนำของระบบราชการและเป็นการทำงานแบบแยกส่วน เช่น ถ้าปลูกผักก็เด่นเรื่องปลูกผัก แต่เรื่องการบริหารจัดการขยะก็ไม่ได้ทำ เรื่องของการส่งเสริมผ้า เราก็ส่งเสริมในเรื่องของการผลิตแต่ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการพัฒนาต่อยอด แต่ด้วยพระวิสัยทัศน์และพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเล็งเห็นถึงองค์รวมของคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทย พระองค์จึงพระราชทานโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) และทรงอนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยน้อมนำไปขับเคลื่อน โดยมีแรงหนุนเสริมสำคัญจากคุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานยูเอ็นประจำประเทศไทย และคณะ ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนความเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปสู่ครอบครัวพี่น้องประชาชนในเชิงคุณภาพ โดยเน้นให้เกิดการทำงานแบบ Partnership (ภาคีเครือข่าย) ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน มีความคึกคักและเข้มแข็งเพิ่มมากขึ้น เป็นการตอกย้ำว่า สิ่งที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์กับยูเอ็น เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565 นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ กล่าวว่า ขณะนี้ครัวเรือนทั้งประเทศไทย มีประมาณ 15 ล้านครัวเรือน จำนวนนี้เป็นครัวเรือนที่ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ลดรายจ่าย มีอาหารปลอดภัยไว้บริโภค มีกิจกรรมที่ทำให้เกิดความรักสามัคคีในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น มากถึง 14 ล้านครัวเรือน อันเป็นหลักประกันว่าไม่ว่าจะเกิดภัยใดๆ เราจะมีอาหารรับประทานตลอด 365 วัน นอกจากนี้ ยังลดรายจ่ายของครัวเรือนวันละ 50 บาท หรือปีละ 255,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจที่พี่น้องประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ นอกจากนี้แล้ว กว่า 13.8 ล้านครัวเรือนมีการคัดแยกขยะ และนำขยะเปียกไปใส่ถังขยะเปียกลดโลกร้อน ทำให้สามารถช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 5.4 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี และขยะเปียกเหล่านั้นจะย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหมักหรือสารบำรุงดิน เพื่อช่วยทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น

“ในเรื่องการต่อยอดการส่งเสริมผ้าไทยตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยนั้น พระองค์ทรงซื้อผ้าจากชาวบ้าน ด้วยแนวพระราชดำริ “ขาดทุนคือกำไร” ขาดทุนของพระองค์ท่าน คือ กำไรของชาวบ้าน ทรงซื้อมาเก็บเพื่อเป็นการกระตุ้นปลุกเร้าให้วงจรการผลิตผ้าเกิดขึ้น ซึ่งในอดีตนั้นก็เกิดการความสนใจเป็นช่วงๆ และยังใช้สีเคมีเป็นสีทอผ้า เนื่องจากยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการดึงให้คนกลับมาผลิตผ้า และต่อมาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชทานเรื่อง Sustainable Fashion ด้วยการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และใช้สีธรรมชาติจากต้นไม้ ดิน น้ำ จากสิ่งที่อยู่รอบตัวของพี่น้องประชาชนบวกกับเรื่องของการนำเอาแฟชั่นสมัยใหม่ ในเรื่องของการดีไซน์ ออกแบบตัดเย็บ ออกแบบลวดลาย โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องแฟชั่นสมัยใหม่ สีธรรมชาติ และสื่อสารมวลชนมาร่วมกันจนทำให้ทุกวันนี้เกิดความนิยมและทำให้พี่น้องประชาชนมีรายได้สูงจนน่าตกใจ” ดร.วันดีกล่าว

นางอาร์มิดา ซัลเซีย อาลีเชียบานา กล่าวว่า ยูเอ็นในประเทศไทยและกระทรวงมหาดไทยเพื่อเร่งพัฒนาตามเป้าหมาย SDGs โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำการพัฒนาในจังหวัด ซึ่งรู้สึกประทับใจอย่างมาก โดย ESCAP มีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นกับประเทศไทยในการดำเนินการพัฒนาด้านต่างๆ ที่ครอบคลุม ยืดหยุ่น และแฝงไปด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งวันนี้เป็นโอกาสสำคัญที่ตนและทีมยูเอ็น จะได้ทำความเข้าใจการทำงานในระดับท้องถิ่น เพื่อทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นและยกระดับประเทศไทยสู่เวทีระดับภูมิภาค ด้วยผลงานที่โดดเด่นในมิติของ SDGs ข้อต่างๆ ที่ประเทศอื่นสามารถนำไปปรับใช้ได้ ทั้งเรื่องความมั่นคงด้านอาหารที่ยั่งยืนและการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือน ทำให้มีคาร์บอนเครดิตกว่า 530,000 ตัน นอกจากนี้ ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับการประเมินระดับคาร์บอนฟุตพรินต์ของการผลิตผ้าไทย และวิธีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดวงจรชีวิตของผ้า ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบไปจนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อันจะส่งผลให้เกิดการก้าวกระโดดไปสู่การผลิตผ้าไทยในรูปแบบสีเขียวและได้รับการยอมรับในระดับโลกต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image